ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย คาดโควิด-19 ทำส่งออกผลไม้ไทยปีนี้หายกว่า 3 หมื่นล้านบาท พบล่าสุดราคาร่วงแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ หลังส่งออกไม่ได้ หวั่นเกษตรกร-ผู้ค้าฯ ล้มละลาย ขอรัฐช่วยชดเชยค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น

นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อราคาผลไม้ไทย โดยเฉพาะผลไม้ในกลุ่มส่งออก ทั้ง มะม่วง และทุเรียนที่ผลผลิตกำลังเริ่มออกสู่ตลาดตามฤดูกาล ซึ่งเฉพาะในส่วนของมะม่วงที่ผลผลิตออกมาแล้วประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ราคาร่วงเหลือกิโลกรัมละ 10 บาท จากปกติช่วงนี้ทุกปีอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-80 บาท อีกทั้งยังไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ และต้องพึ่งการขนส่งทางอากาศยานเป็นหลัก โดยภายหลังที่สายการบินหลักประกาศหยุดบิน ผู้ประกอบการจะต้องพึ่งคาร์โก้ในการขนส่ง แต่ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นกว่า 400-500 เปอร์เซ็นต์ หรือ 100-120 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมต้นทุนขนส่งผ่านคาร์โก้อยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม

"ปลายทางค่อนข้างแย่ ไม่มีตลาดแล้ว เพราะคนออกมาซื้อขายไม่ได้ แม้บางประเทศที่เปิดให้ซื้อขาย แต่ก็ขายได้น้อยลง ปัญหาหลักคือเส้นทางขนส่งแทบไม่มี และเหลือน้อยมาก ทำให้มะม่วงที่กำลังจะออกมาเต็มที่ตอนนี้ขายไม่ได้ ตอนนี้ต้องเคลื่อนย้ายผลไม้ออกภายนอกให้ได้มากที่สุด อย่างมะม่วงต้องออกทางเครื่องเป็นหลัก เครื่องบินไม่มีก็คือจบ ไม่มีที่ไป พออยู่ในประเทศบริโภคไม่ไหว เยอะเกินไป" นายไพบูลย์ กล่าว

MOU ขนส่งผลไม้แถลง
  • ไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย

ส่วนการขนส่งผลไม้ทางบกเริ่มมีปัญหาเช่นกัน คือไปแล้วกลับไม่ได้ เนื่องจากต้องโดนกักตัว 14 วัน ขณะที่บางด่านต้องรอคิวผ่านด่านนานถึง 3 คืน 3 วัน ส่งผลให้รถกลับมาไม่ทัน ทำให้ตู้สินค้าไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับการขนส่งทางเรือมีปัญหาตู้สินค้าไม่เพียงพอ หากจะซื้อสินค้าวันนี้ แต่ของส่งได้คือสัปดาห์หน้า ทำให้ผลผลิตเสียหาย คนไม่กล้าซื้อ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกับผลผลิตทุเรียนที่จะเริ่มออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในสัปดาห์หน้า ซึ่งจากปริมาณผลผลิตที่เริ่มออกสู่ตลาดไม่สามารถที่จะบริโภคภายในประเทศได้หมด เพราะมีมากเกินไป และการขนส่งในประเทศก็ติดปัญหาด้านต้นทุนค่าส่งแพงกว่าราคาผลผลิต และติดเคอร์ฟิวด้วย

นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและสนับสนุนค่าใช้จ่ายการขนส่งทางทางคาร์โก้ เพื่อผ่อนคลายการส่งออกผลผลิตก่อน เช่น ชดเชยในอัตรา 10-20 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ เนื่องจากเกรงว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการจะล้มละลาย เนื่องจากแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นการบูรณาการร่วมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ และคมนาคม ยังไม่มีความชัดเจน โดยประเมินว่าการส่งออกผลไม้ไทยปีนี้จะหายไปไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :