ไม่พบผลการค้นหา
'เครือข่ายประชากรข้ามชาติ' จี้รัฐดูแลแรงงานข้ามชาติผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขอเปลี่ยนสถานที่กักตัวนอกศูนย์ เพื่อเว้นระยะห่าง ป้องกันระบาดซ้ำ เสนออนุโลมกฎหมายให้แรงงานข้ามชาติเปลี่ยนนายจ้างได้ เพื่อทำงานรับเงินต่อเนื่อง ไม่ขาดส่งสมทบประกันสังคม-รับสิทธิรักษาพยาบาล

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวถึงกรณีแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายรอส่งกลับประเทศต้นทาง ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 42 คน ที่ศูนย์กักตัวผู้ต้องกักด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา ว่า  ห้องกักมีสถานที่คับแคบ ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า ห้องกักคือสถานที่กักตัวชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ ภายใน 3-7 วัน ดังนั้นจึงไม่ถูกออกแบบมาเพื่อกักคนยาว ๆ แบบเรือนจำ

ดังนั้นการดูแลทั้งด้านการอยู่อาศัยและด้านสุขภาพย่อมมีข้อจำกัด ดังนั้นการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จะเป็นแบบประเทศสิงคโปร์หรือไม่ ในกรณีนี้ อาจจะดูเกินเลยไป แต่สิ่งเดียวที่อาจจะเหมือนกัน คือ การนำคนมาอยู่รวมๆ กันโดยขาดการดูแลที่ดีพอ

"ดังนั้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้ ต้องเปิดช่องทางกฎหมายของพ.ร.บ.คนเข้าเมือง ให้ที่พักอาศัยอื่น ที่ไม่ใช่แค่ห้องกัก อาจเป็นค่ายทหาร หรือ พื้นที่พักอาศัยภาครัฐ เมื่อด่านเปิดจึงทยอยส่งกลับเมื่อด่านเปิด และให้มีระบบดูแลสุขภาพผู้ถูกกัก มีการตรวจอย่างเข้าถึง เพราะหากช้าไม่สามารถพบผู้ป่วยโดยเร็ว ซึ่งมีข่าวว่าการระบาดมาจากเจ้าหน้าที่ภายใน เมื่อพบว่าป่วย จึงมีการสอบสวนโรคและพบว่ามีผู้ติดเชื้อดังกล่าว" นายอดิศร กล่าว

แนะอนุโลมให้ย้ายนายจ้างได้ เพื่อแรงงานได้มีเงิน

นายอดิศร กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.8 ล้านคน แต่อยู่ในระบบประกันสังคม 1.8-1.9 ล้านคน ที่หายไปอาจเป็น เพราะนายจ้างลืมหรือไม่รู้ขั้นตอนว่าแรงงานในไทยต้องมีประกันสังคมและประกันสุขภาพด้วยตามกฎหมายกำหนด แต่สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้ คือ แรงงานข้ามชาติ ในกิจการที่ถูกปิดชั่วคราว อาจขาดการส่งประกันหากเกิน 30 วัน จะถูกตัดสิทธิทันที ซึ่งหมายความว่าแรงงานข้ามชาติหากป่วยขึ้นมาจะไม่กล้าไปโรงพยาบาล เพราะไม่มีค่าใช้จ่าย ต้องรอป่วยหนักๆ  ถึงจะไปหา หากแรงงานคนนั้นติดโควิด-19 จริง อาจจะกระจายไปสู่บุคคลอื่นได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องยอมรับว่าแรงงานอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหลายคน จึงอยากให้ภาครัฐอนุโลมให้แรงงานข้ามชาติสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ เพื่อให้ได้รับเงินค่าจ้าง เพราะหลายคนทำงานในกิจการที่ต้องปิดชั่วคราว และแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิได้รับเงิน 5,000 บาท

"ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ควรให้แค่กระทรวงแรงงาน ดำเนินการอย่างเดียว ต้องมองเป็นองค์รวมให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้แรงงานเหล่านี้เข้าระบบบริการด้านสุขภาพให้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องทำให้กระบวนการจ้างงานยังคงอยู่ แต่ทำไม่ได้จริงๆ ต้องมีตัวเสริม เช่น การยื่นเรื่องการว่างงานของภาครัฐ ที่ควรมีภาษาของแรงงานข้ามชาติด้วย ไม่ใช่มีเฉพาะภาษาไทย และให้มีการเข้าถึงได้อย่างสะดวก เพื่อลดความเสี่ยงในการไปขึ้นทะเบียนรวมกันที่สำนักงานประกันสังคม" นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวว่า การเกิดวิกฤติโรคโควิด-19 ครั้งนี้ ถือว่ามีมิติที่เราต้องกลับมาคิดหลายเรื่องภาครัฐต้องทบทวนการบริหารจัดการมากขึ้น ไม่ใช่ดูแลแค่มิติสุขภาพ ต้องดูแลมิติทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :