ไม่พบผลการค้นหา
เวียดนาม-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย จีดีพีจะกลับมาโตในปีหน้า สิงคโปร์-ไทย-ฟิลิปปินส์ไม่โชคดีเช่นนั้น นอกจากนี้ อดีตปลัด กท.ตปท.สิงคโปร์ ยังออกมาเตือนให้อาเซียนพร้อมรับมือความเสี่ยง-ความเลวร้ายในปี 2564

จากรายงานการวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและการฟื้นตัวรายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ อาจจำแนกผู้เล่นในอาเซียนได้ 2 แบบ คือ 1.เหล่าผู้ฟื้นตัวในปี 2564 และ 2.บรรดาผู้โชคร้ายที่แสงสว่างปลายอุโมงค์ยังอยู่อีกไกล 

เมื่อพิจารณา 6 ประเทศหลักในอาเซียน (เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และไทย) กลุ่มที่หนึ่งประกอบไปด้วย เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งตามการพิจารณาอัตราการเติบโตอย่างแท้จริง (real GDP) ของไอเอ็มเอฟ โดยเอาข้อมูลจากปี 2562 เป็นหลักและตั้งค่าดัชนีฐานที่ 100 ทั้ง 3 ประเทศสามารถทำคะแนนเกินค่าฐานที่ตั้งไว้ได้ทั้งหมดในปี 2564

หมายความว่า จีดีพีของประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 แห่ง สามารถกลับมาเติบโตได้เหนือระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้วในปีหน้า


3 ผู้ฟื้นตัวแห่งอาเซียน

ไอเอ็มเอฟชี้ว่า เวียดนามสามารถทำคะแนนในดัชนีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงถึง 108.4 จุด อีกทั้งเอสแอนด์พีโกลเบิลยังประเมินว่าในปี 2564 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตจริงประมาณ 10.9% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เท่านั้นยังไม่พอ เวียดนามยังเป็นประเทศเดียวจากทั้งหมด 6 ประเทศ ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกตลอดทั้งปี 2563 

ยูตะ ซูกาดะ จากสถาบันวิจัยญี่ปุ่น ชี้ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบประเทศอื่นเป็นเพราะบริษัทระดับโลกจำนวนมากเลือกย้ายฐานการผลิตไปตั้งโรงงานในเวียดนาม ส่งให้ภาคการส่งออกไปรับอานิสงส์อย่างมาก ทั้งนี้ หากสงครามการค้าระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และจีนยังดำเนินต่อเนื่อง ยูตะชี้ว่า บริษัทอีกมากจะพาเหรดมาตั้งโรงงานที่เวียดนามเพิ่มขึ้น 

เหงียน ซวน ฟุก - เวียดนาม
  • เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม

สำหรับอินโดนีเซียที่ไอเอมเอฟประเมินว่ามีดัชนีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 104.5 จุด ในปี 2564 กลับได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้จากกฎหมาย Omnibus Law ซึ่งเป็นชนวนให้กลุ่มนักศึกษา สมาชิกสหภาพแรงงาน และประชาชนจำนวนไม่น้อยออกมารวมตัวประท้วงจากความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญ

แม้กฎหมายจะบอกว่าเป็นไปเพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งยังจะสร้างตำแหน่งงานอีกกว่า 3 ล้านตำแหน่ง แต่ผู้ประท้วงชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิแรงงานโดยเฉพาะผู้หญิงทั่วประเทศ

ด้านมาเลเซีย มีดัชนีการเติบโตอยู่ที่ 101.3 จุด โดยมีปัจจัยส่งเสริมสำคัญจากภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่นักวิเคราะห์ประเมินว่าสถานการณ์จะกลับมาเสถียรมากขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจโลกเข้ากลับเป็นปกติ 


ยังไปไม่ถึงดวงจันทร์ 

ขณะที่ 3 ประเทศข้างต้นสามารถทำคะแนนทะลุเกณฑ์ 100 จุดไปได้ สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และไทย กลับยังไปไม่ถึงจุดดังกล่าว และอาจต้องรอราวๆ 2 ปี กว่าเศรษฐกิจประเทศจะกลับมาแข็งแรงเหมือนก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดได้ 

ภาคการท่องเที่ยวของสยามเมืองยิ้มยังสร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง เมื่ออุตสาหกรรมนี้กินสัดส่วนกว่า 20% ของการจีดีพีทั้งประเทศ เท่านั้นยังไม่พอ ภาคการส่งอองขอกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้ายานยนต์ยังถูกประเมินว่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดต่ำลง

รถยนต์

ขณะฟิลิปปินส์มีปัญหาสำคัญในด้านการใช้จ่ายของประชาชนที่หดตัวอย่างหนัก และสิงคโปร์กับปัญหาที่ไม่ต่างจากไทยมากนักในด้านการท่องเที่ยว


เสมอภาคด้าน 'ไบเดน' 

แม้แต่ละประเทศจะมีรูปแบบปัญหาและการเติบโตที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งประเทศในอาเซียนล้วนจับมือร่วมกันรับแรงปะทะจากนโยบายเศรษฐกิจของ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ผู้จะเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 2564 

โจ ไบเดน
  • 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46

หลายฝ่ายมองว่า นโยบายเศรษฐกิจของไบเดนยังเป็นการปกป้องการเสียเปรียบของสหรัฐฯ เป็นหลัก ทั้งยังมีท่าทีไม่แน่นอนกับการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจเดินออกมา 

เท่านั้นยังไม่พอ เทื่อกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ยังขึ้นบัญชี 'เงินดง' ของเวียดนามอยู่ในโผปั่นค่าเงินเพื่อหวังผลประโยชรน์ทางการค้าและเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มี 'เงินบาท' ของไทย ในกลุ่มจับตา (Monitoring List)


รับมือความเลวร้าย (ที่สุด) 

ในงานเขียนแสดงความเห็นของ 'บิลาฮาริ คัวซิกัน' อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ ผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตใหญ่ในปัจจุบัน สะท้อนว่า "ใครก็ตาม ที่หวังว่าปี 2564 จะดีกว่าเดิมอาจต้องผิดหวัง" เนื่องจากแนวโน้มการพัฒนาภายในอาเซียนและภายนอกที่ต้องสัมพันธ์กับสหรัฐฯ-จีน จะยังไม่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา 

แม้อาเซียนจะได้รับคำชมเรื่องมาตรการจัดการโควิด-19 ว่าทำได้ดีกว่าอีกหลายภูมิภาค ทว่าการ 'ทำได้ดีกว่า' ไม่ได้หมายความว่า 'ทำได้ดี' และหลายประเทศในภูมิภาค อาทิ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการจัดการของรัฐบาล

นอกจากนี้ อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ยังย้ำว่า 'วัคซีนต้านโควิด-19' ที่เริ่มจากจ่ายให้กับบางประเทศและจะเดินทางมาถึงอาเซียนในไม่ช้าก็ไม่ใช่ 'ยาครอบจักรวาล' ที่จะช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ย่ำแย่ของหลายรัฐบาลได้ 

วัคซีน-โควิด19

แม้ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอย่างสิงคโปร์อาจได้เปรียบจากการใช้ภาวะวิกฤตนี้เป็นตัวเร่งพัฒนาวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ แต่ประเทศอย่างสิงคโปร์ก็นับเป็นส่วนน้อยของภูมิภาค และประเทศอื่นๆ ในอาเซียนยังคงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจพี่ใหญ่อย่างจีนต่อไป 

ซ้ำร้าย ทั้งหมดเป็น 'แค่ความเป็นไปได้' ไม่ใช่เรื่องแน่นอน และน้ำหนักโดยหลักยังคงขึ้นกับการบริการจัดการและปกครองประเทศของรัฐบาล หรือกล่าวโดยง่ายว่า ปัจจัยทางการเมืองของแต่ละประเทศในภูมิภาคมีความสำคัญและเป็นเงื่อนไขหลักว่าประเทศนั้นจะรอดหรือร่วง

บิลาฮาริ ชี้ว่า เมื่อมองโดยภาพรวมแล้วนั้น อิโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทยเผชิญความไม่แน่นอนอย่างมากกับปัญหาการเมืองในประเทศ ด้วยเหตุนี้การเตรียมรับมือกับความเซอร์ไพรส์จึงเป็นเรื่องไม่เซอร์ไพรส์เท่าไหร่ ขณะที่ในปี 2564 เอกอัคราราชทูตใหญ่มองว่าเวียดนามและลาวน่าจะอยู่ในภาวะไม่เดิมเกมเสี่ยง 

ประท้วงอินโดนีเซียต่อต้านกฎหมายปฏิรูปแรงงาน-2.JPG
  • ภาพการประท้วงกฎหมาย Omnibus Law ในอินโดนีเซีย

สำหรับเมียนมาและฟิลิปปินส์ เอกอัครราชทูตใหญ่ย้ำว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศหลังที่กำลังจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหญ่ในปี 2565 

ท้ายสุด เอกอัคราราชทูตใหญ่แห่งสิงคโปร์ปิดท้ายว่า บรรดารัฐบาลของประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการเข้ามาแทรกแซงและหาผลประโยชน์ของมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐฯ ให้ดี

พร้อมทิ้งท้ายว่า คงมีแต่ประเทศที่ฉ้อฉลอย่างกู่ไม่กลับหรือไร้เดียงสาขั้นสุดที่จะเชื่อคำพูดปั้นแต่งของรัฐบาลจีนถึงความพยายามเข้ามาสร้างสังคมร่วมกันในภูมิภาคอย่างจริงจัง และทุกฝ่ายทราบดีว่าการคงอยู่ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้จะช่วยสร้างสมดุลและเงื่อนไขต่อรองกับจีนได้ 

อ้างอิง; Nikkei, IMF

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;