ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมสภาฯ มีมติเอกฉันท์ 445 เสียงตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไข รธน. กำหนดเวลาพิจารณา 120 วัน 'สมชัย - สนธิญาณ' โผล่ร่วมวง ขณะที่ 'พีระพันธุ์' เต็งนั่งประธานมาตามนัด ด้าน 'สุทิน' เตือนเกิดสงครามกลางเมืองหากไม่แก้ รธน. วอนใช้เวลา 2 ปี ตั้ง ส.ส.ร. ขณะที่ 'ปิยบุตร' หนุน 'พีระพันธุ์' นั่ง ปธ.กมธ.

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่ง นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้เสนอ 

โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การแก้ปัญหาปากท้องต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ต้องเป็นบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ มีหลักนิติธรรม ตนอยากยกตัวอย่างเมื่อปี 2557 หรือย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีก่อนหน้า ประเทศไทยเศรษฐกิจเดินหน้าได้มาจากต่างประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์ และในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2557 เศรษฐกิจจากต่างประเทศมีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะบ้านเมืองมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว จีดีพีของไทยตอนนี้ ร้อยละ 2.4 ต่ำสุดในอาเซียนและเอเชีย เพราะความเชื่อถือและความไว้วางใจไม่มี แม้จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม

'สุทิน' คาด 2 ปีแก้ รธน. ตั้ง ส.ส.ร. เตือนต้องแก้ หวั่นสงครามกลางเมือง

นายสุทิน ระบุว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จะมีโทษพรรคเพื่อไทยไม่ได้ แต่วันนี้ฝ่ายค้านได้วอล์กเอาต์ 2 ครั้งก็ไม่รอด เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ต่างชาติก็รู้ไม่มีใครมาลงทุน ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญสร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ ต่อให้ 100 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเอานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับมาก็แก้ไม่ได้

"ที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย ในรัฐธรรมนูญมีคุณค่า 2 อย่าง 1.สร้างสันติสุขในประเทศ 2.รัฐธรรมนูญจะสร้างวิกฤตและเกิดความขัดแย้งได้เหมือนหลายประเทศ รัฐธรรมนูญที่สร้างสันติสุขนั้น จะดีเลิศอย่างไร ก็ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่คนในประเทศยอมรับก่อน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บังคับใช้มา 2 ปี การบรรจุในนโยบายเร่งด่วน แสดงว่ารัฐบาลก็เห็นปัญหา วันนี้ยุบพรรคแล้วบัญชีรายชื่อจะโอนได้หรือไม่ อนาคตจะสร้างปัญหากับระบบเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญนี้มีหลายมาตราใช้ไม่ได้ เพราะเขียนบนเจตนาอคติ แต่วันนี้ใช้ไม่ได้" 

นายสุทิน ระบุว่า ถ้าแก้ไม่ได้จะเกิดสงครางกลางเมือง เมื่อแก้สันติไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดก็คือรัฐประหาร ต่อไปนี้จะเป็นรัฐประหารที่อ้างว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เรา เราต้องแก้เพื่อไม่ให้รถถังออกมา สิ่งที่จะแก้คือกติกาเลือกตั้ง และที่มาของรัฐบาล ตนได้เสนอญัตติมาเพื่อได้ศึกษา ทั้งที่มีสิทธิยื่นร่างแก้ไข ทำไมตนและนายปิยบุตร ถึงไม่ยื่นร่างแก้ไข เพราะเราอยากให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดการยอมรับ จึงต้องศึกษาก่อนว่าใครควรแก้ เพื่อให้หาคำตอบว่าให้ใครแก้ ส่วนคนที่จะแก้ไขคือ ประชาชน เอาประชาชนมาคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร ส่วนประชาชนคือใครก็สุดแท้จะออกแบบกัน ที่คิดได้คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้เป็นตัวแทน ดีกว่าเอาคนกลุ่มหนึ่งมาแก้ไข

นายสุทิน ระบุว่า การยื่นญัตติหวังว่าจะเห็นคำตอบว่าใครแก้ และแก้เมื่อไร วันนี้พูดกันว่าเร่งรีบกันทำไม รัฐบาลเองก็พูดทั้งที่รัฐบาลบรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วน เมื่อเสนอ ได้ยินรัฐบาลบอกไม่มีเวลา ผมจะตอบว่าแก้เมื่อไร ถ้าญัตตินี้ได้รับการยอมรับให้ตั้ง กระบวนการศึกษา เสร็จแล้วถึงจะลงเนื้อหาได้ร่างรัฐธรรมนูญ ผมประมาณการอย่างน้อยถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน 2 ปีอย่างเร็วที่สุดจึงจะจบ ใครบอกรีบไปไหนไม่ได้รีบ สองปีเป็นเวลาที่นานพอสมควร วันนี้เริ่มกระบวนการศึกษา ถ้ามันผ่านทุกอย่างเดินได้สะดวก 2 ปี ถึงจะเห็นหน้าเห็นหลัง

"ชัยชนะของเราเองฝ่ายใดชนะก็ตาม เอารัฐธรรมนูญเป็นเกม คนแพ้คือประชาชนและประเทศ วันนี้ขอบคุณเพื่อนสมาชิก และเคารพไมตรีจิตทุกท่านที่อภิปรายสนับสนุน" นายสุทิน ระบุ

บัญญัติ.jpg

'บัญญัติ' สับ 6 ปมยุ่งเหยิง รธน.ฉบับ คสช.

ด้าน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนติดตามร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เห็นปัญหาการยุ่งเหยิงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ สำหรับเนื้อหาที่มีปัญหามีอยู่ 3 ประเด็น 1.ระบบเลือกตั้ง 2.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ 3.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังขาดเนื้อหาที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ นับตั้งแต่การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ได้เห็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญของ เป็นปรากฏการณ์ความยุ่งยากมากเรื่อง 1.การเลือกต้ัง 24 มี.ค.2562 เป็นการเลือกตั้งที่ประกาศผลช้ามากที่สุดในประวัติการณ์ของประเทศไทย ที่แล้วมาหลังการเลือกตั้ง 1-2 วัน ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการก็จะเป็นที่รับรู้ แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เกือบ 2 เดือนเต็มถึงจะประกาศผลเลือกตั้งได้ เพียงคำเดียวจำนวน ส.ส.พึงมีก็มีการตีความที่จะหาจุดจบไม่ได้ 

3.ความไม่แน่นอนสมาชิกภาพ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะใน 1 ปีหลังจากการเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดจากผลการเลือกตั้งไม่สุจริต ต้องคำนวณคะแนนใหม่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผลการเป็น ส.ส. ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วกับพรรคการเมืองหนึ่ง

4.ความเป็นที่สุดก่อให้เกิดพรรคการเมืองมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร มีพรรคการเมืองมากที่สุดในรัฐบาลถึง 19 พรรค  

5.พรรคการเมืองมาก การเจรจาก็ยาก เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จก็ยาวนานมากเป็นประวัติการณ์ เมื่อตั้งรัฐบาลช้าก็ทำให้การจัดทำงบประมาณล่าช้าไปด้วย

6.ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ในมาตรา 77 คนร่างรัฐธรรมนูญจะใช้มาตรานี้ชี้วัดความล้มเหลวของกฎหมายทุกฉบับที่ร่างขึ้นมา ได้นำหลักดังกล่ามาใช้ชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นไม่สัมฤทธิ์ การตรารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ล้มเหลวไม่ได้หมายความว่ามีการตรากฎหมายแล้วบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไป

นายบัญญัติ ระบุว่า สูตรการคำนวณผลเลือกตั้งโดยเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นสูตรสลับซับซ้อนและถูกโต้แย้งที่สุด

'ปิยบุตร' หนุน 'พีระพันธุ์' เหมาะนั่ง ปธ.กมธ.

ขณะที่นายปิยบุตร ระบุว่า ส่วนตัวยินดีหากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ จะมาเป็นประธาน กมธ. เพราะการทำงานร่วมกันใน กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นั้นเป็นไปด้วยดี และเชือ่ว่าจะทำให้การศึกาาแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้ ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาที่ต้องใช้เสียง ส.ว. 84 เสียง ดังนั้นขอให้สภาฯ เร่งกดดันให้ ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสร้างกระแสสนับสนุนจากประชาชน เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญที่ตนมองเป็นระเบิดเวลา มีปัญหานำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารและลุกฮือ

กระทั่งเวลา 20.30 น. ที่ประชุมสภาฯ ได้มีมติเอกฉันท์ 445 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เห็นชอบให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญ จำนวน 49 คน แบ่งเป็นสัดส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 คน พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคพลังประชารัฐ 9 คน พรรคอนาคตใหม่ 6 คน พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาชาติ 1 คน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน โดยมีกรอบเวลาการพิจารณาจำนวน 120 วัน กำหนดวันประชุม กมธ.นัดแรกวันที่ 24 ธ.ค.นี้

'พีระพันธุ์ - ไพบูลย์' มาตามโผ ครม. - 'สมชัย - สนธิญาณ' โผล่ร่วมวง

สำหรับ รายชื่อ กมธ.วิสามัญ กรรมาธิการธิการวิสามัญสัดส่วนคณะรัฐมนตรี จำนวน 12 คน ได้แก่ 1.นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 2.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 3.นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 4.นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 5.นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) 6.นายกฤษ เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. 7.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ 8.นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา 9.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ 10.นายสัมพันธ์ เลิศนุวัตร หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย 11.นายโกวิทย์ ธาราณา สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 12.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 

พรรคเพื่อไทย 10 คน ประกอบด้วย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. นายโภคิน พลกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายประยุทธ์ ศิริพานิช นายวัฒนา เมืองสุข นายยงยุทธ ติยะไพรัช 

พรรคพลังประชารัฐ 9 คน ได้แก่ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส. นครศรีธรรมราช นายทศพล เพ็งส้ม คณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคพลังประชารัฐ น.ส.วลัยพร รัตนเศรษฐ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

พรรคอนาคตใหม่ 6 คนได้แก่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6.นายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  

พรรคภูมิใจไทย 4 คนได้แก่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง นายบุญดำรง ประเสริฐโสภา อดีต ส.ส.ราชบุรี 

พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน 1.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค 4.นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช 

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คนคือนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

พรรคเสรีรวมไทย 1 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  

พรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง