ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายสืบสวนคดีวางระเบิดป่วนกรุง ชี้พบผู้ก่อเหตุมีไม่ต่ำกว่า 10 คน และมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ป่วนในจังหวัดภาคใต้ ด้านนักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง ชี้มีความเป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับภาคใต้ จี้รัฐบาลไม่ควรบิดเบือนความจริงและควรให้ข้อมูลกับประชาชน

สำนักข่าวไทย รายงานระบุว่า รายงานจากฝ่ายสืบสวนคลี่คลายคดีลอบวางระเบิดป่วนหลายจุดในกรุงเทพฯ และนนทบุรี ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เบาะแสคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุในจุดต่างๆ มีไม่ต่ำกว่า 10 คน

อีกทั้งยังพบความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยการวางแผนเป็นลักษณะเดียวกับเหตุระเบิดที่เคยเกิดขึ้นใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ใช่ผู้ต้องหากลุ่มเดียวกัน เนื่องจากมีการจับกุมไปแล้ว โดยผู้ก่อเหตุครั้งนี้เป็นคนกลุ่มใหม่

โดยในวันนี้ (3 ส.ค.) ได้แบ่งชุดสืบสวนออกไปรวบรวมข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดในจุดเกิดเหตุที่สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี, ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ, กองบัญชาการกองทัพไทย และหน้าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนศรีสมาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อนำมาไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุ เพื่อติดตามจับกุมคนร้าย 

ซึ่งพบว่า คนร้ายเตรียมระเบิด 9 ลูก มาใช้ก่อเหตุการเขียนตัวเลขกำกับแต่ละลูกไว้ คือ หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 ลูก และที่หน้ากองบัญชาการกองทัพไทย 1 ลูก ช่วงเวลาก่อเหตุคือ 06.00 - 09.00 น. หลังจากนั้นก็ไม่พบเหตุระเบิดจุดใดเพิ่มอีก ทั้งนี้ยืนยันว่าเหตุที่มีคนพบวัตถุต้องสงสัยนับตั้งแต่ 09.00 น. วานนี้ (2 ส.ค.) ยังไม่พบว่ามีจุดใดเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สร้างสถานการณ์ในกรุงเทพฯ 

ด้านนายลูไซ และนายวิลดัน ชาวจังหวัดนราธิวาส ผู้ต้องสงสัยนำระเบิดไปวางใต้ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 ส.ค. จากข้อมูลทางการสืบสวนยืนยันว่า เป็นขบวนการเดียวกันกับกลุ่มผู้ก่อเหตุวางระเบิดหลายจุดเมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ซึ่งขณะนี้ยังถูกควบคุมตัวไปสอบสวนขยายผล หาความเชื่อมโยงผู้ร่วมก่อเหตุรายอื่นต่อไป

ส่วนความคืบหน้าอย่างเป็นทางการ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะแถลงด้วยตนเองอีกครั้ง หลังการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเสร็จสิ้น ในวันที่ 3 ส.ค. นี้



ระเบิด-ช่องนนทรี-อีโอดี-EOD-คิงเพาเวอร์มหานคร

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตรูปแบบก่อเหตุคล้ายภาคใต้

ด้าน นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ไว้ว่า หากวิเคราะห์ในเชิงรูปแบบการก่อเหตุ มีความสอดคล้องกับรูปแบบที่ผ่านมาในภาคใต้ คือ เป็นการก่อเหตุแบบหลายจุดในเวลาไล่เรี่ยกัน, เป็นการก่อเหตุที่ไม่ได้มุ่งผลทำลายชีวิต แต่ต้องการให้เกิดผลทางการเมืองมากกว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาล และเป้าหมายของการโจมตีคือฐานทางเศรษฐกิจ สัญลักษณ์ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

โดยที่นางสาวรุ่งรวี ได้ให้เหตุผลไว้ว่าทำแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง อยู่ 3 ข้อคือ 

1. มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการตอบโต้เหตุการณ์ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในกรณีที่ผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์การก่อความไม่สงบมีอาการสมองบวม หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเพียงหนึ่งวัน ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่าอาจถูกซ้อมทรมานในระหว่างนั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีกลับตอบปฏิเสธเรื่องนี้ในลักษณะที่ไม่ให้ความสำคัญ โดยกล่าวว่าอาจจะเกิดจากการเป็นลมหน้ามืด แล้วมาโทษเจ้าหน้าที่

2. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมพหุภาคีที่เกี่ยวข้อง มีผู้นำจากประเทศมหาอำนาจทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ มาร่วมประชุมด้วย การปฏิบัติการในช่วงเวลานี้ หากเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นกระทำจริงย่อมนับว่าเป็นความชาญฉลาดในการดึงความสนใจทางนานาชาติและสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบให้กับรัฐบาลไทยไปพร้อมๆ กัน เหตุการณ์นี้เป็นข่าวไปทั่วโลก

เช่น The Guardian พาดหัวข่าวว่า Bangkok explosions: two injured in three blasts reported in Asean host city ขณะที่ ก่อนหน้านี้บีอาร์เอ็นได้ยื่นข้อเสนอต้องการจะให้นานาชาติเข้ามาร่วมในการพูดคุยสันติภาพในฐานะผู้สังเกตการณ์มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2556 แล้ว แต่รัฐบาลไทยไม่ตอบรับ ในช่วงรัฐบาลทหาร บีอาร์เอ็นไม่ได้เข้าร่วมการพูดคุย (แม้มี อดีต? สมาชิกบางคนเข้าร่วมกับมาราปาตานี) แต่ก็ได้ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้อีก โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขหลักสำหรับการเข้าร่วมการพูดคุย แต่รัฐบาลประยุทธ์ก็เมินเฉย ในจังหวะนี้ที่เริ่มมีรัฐบาลใหม่ ก็เป็นจังหวะที่บีอาร์เอ็นน่าจะต้องการกดดันให้รัฐบาลไทยรับฟังข้อเรียกร้องของตน

3. ไม่ควรลืมว่าก่อนหน้านี้มีเหตุระเบิดนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายครั้งที่หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์และการจับกุมผู้ต้องสงสัยบ่งชี้ว่าน่าจะเป็นการปฏิบัติการของขบวนการในสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น เหตุระเบิดที่ห้างสรรพสินค้าในเกาะสมุย เหตุระเบิด 7 จังหวัดในภาคใต้ตอนบน (แม้กระทั่งเหตุระเบิดที่หน้าห้าง central world ก่อนปีใหม่เมื่อหลายปีก่อน ก็มีหลักฐานว่ามีแนวโน้มสูงว่าเป็นการปฏิบัติการของกลุ่มในภาคใต้ แต่ตำรวจปิดคดีโดยไม่มีผลสรุป)

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้งท่านนี้ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ยังไม่ได้ฟันธงว่าเป็นเรื่องภาคใต้แน่นอน แต่จากการประมวลหลักฐานเท่าที่ทราบ ประกอบกับเหตุและผลของบริบทแวดล้อมแล้วมีความเป็นไปได้เท่านั้น จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ควรบิดเบือนความจริง และควรจะให้ข้อมูลกับประชาชนบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นประจักษ์พยานและหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ไม่ใช้ด้วยเหตุจูงใจทางการเมือง ตอนเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน รัฐบาลให้ข้อมูลว่ากลุ่มทางการเมืองจ้างให้กลุ่มภาคใต้ก่อเหตุ


รัฐบาลยืนยันควบคุมสถานการณ์ได้ ย้ำไม่กระทบเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์เหตุระเบิดและผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยแต่อย่างใด ซึ่งจากข้อมูลของผู้แทนไทยในต่างประเทศพบว่า มีเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ยังไม่มีการเตือนหรือห้ามประชาชนเดินทางมายังประเทศไทย ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้สร้างความมั่นใจแก่ผู้แทนต่างประเทศที่มาเยือนไทย เช่น ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป และรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งผู้แทนต่างประเทศต่างเข้าใจ และไม่กังวลใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคงให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและประเทศไทย

ส่วนเหตุระเบิดหลายจุดที่เกิดขึ้นวานนี้ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสืบสวนหาหลักฐานการกระทำผิด และขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายพลเรือน ได้ยกระดับการรักษาความปลอดภัยตามจุดต่าง ๆ อย่างเข้มงวด จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วและทุกคนปลอดภัย

10 จุดเกิดเหตุระเบิด 2 ส.ค 2562


ข่าวที่เกี่ยวข้อง