ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากวานนี้ (23 ก.ค.) องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ปรับระดับการแจ้งเตือนสูงสุดสำหรับการระบาดของโรคฝีดาษลิงที่เพิ่มขึ้น โดยประกาศว่าไวรัสเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่น่ากังวล ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 16,000 ราย จาก 75 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

24 ก.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงว่า การประชุมวันนี้ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) โดยข้อมูลผู้ป่วยรายแรกของไทยชาวไนจีเรีย ขณะนี้อยู่ในการดูแลของสาธารณสุขประเทศกัมพูชาแล้ว โดยการตรวจเชื้อผู้สัมผัสใกล้ชิดในประเทศไทยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมายังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ถือว่าผู้ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

ขณะนี้ได้สั่งการด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ประสานไปยังสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในกลุ่มผู้เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงตามที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีการระบาด หรือพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการคัดกรองที่สนามบิน ดูจากอาการทางคลินิกเบื้องต้น เช่น ตุ่มผื่นที่ขึ้นตามร่างกาย โดยใช้ระบบเฝ้าระวังจากโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม วัคซีนฝีดาษที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบพบว่าแม้จะเก็บรักษามานานแต่ยังสามารถนำมาใช้ได้ หากจำเป็นต้องใช้ก็สามารถใช้ได้

นายอนุทิน กล่าวว่า กรมการแพทย์ยืนยันว่าโรคฝีดาษลิง สามารถใช้ยารักษาตามอาการและเฉพาะโรคได้ สถานพยาบาลมีความพร้อมให้การรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนักจนเกินไป ความสามารถในการแพร่เชื้อยังไม่เท่าโควิด-19 ดังนั้นมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างก็ลดความเสี่ยงติดเชื้อฝีดาษลิงได้ เพราะโรคนี้ติดเชื้อด้วยการสัมผัสแผล 

“ต้องเฝ้าระวังในสัมผัสผู้ป่วยลักษณะคล้ายกับโรคเอดส์ หากมีพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง ก็เป็นความเสี่ยง ซึ่งหากป้องกันเหมือนโรคเอดส์ได้ก็จะลดความเสี่ยงได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ได้กำชับไปยังสถานพยาบาลว่า เมื่อรับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยโรคยืนยัน ก็จะต้องขอกักตัวไว้ เพื่อรักษา และดำเนินการสอบสวนโรค

แต่ยังไม่จำเป็นต้องจำกัดการเดินทางเข้าไทยในบางประเทศและในวันพรุ่งนี้ (25 กรกฎาคม) จะมีการประชุมคณะกรรมการวิชาการ ที่ประกอบด้วยอาจารย์ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์มาหารือมาตรการ หรือจะประกาศระดับเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงอย่างไร ซึ่งเป็นตามระบบสาธารณสุขของไทย

ด้าน ดร.สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 1 ได้ให้ความเห็นว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับโรคระบาด ฝีดาษลิง โดยสนับสนุนทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายปฏิบัติการป้องกัน-รักษา เนื่องจากเป็นการระบาดที่ยังไม่มีรูปแบบชัดเจน แต่พบผู้ติดเชื้อกว่า 16,000 คน ใน 70 ประเทศ รวมถึงไทย 

“ขอให้เร่งตั้งสายด่วนฝีดาษลิง เพื่อให้ผู้สงสัยติดเชื้อ สามารถติดต่อเพื่อรับการตรวจได้โดยเร็ว การสื่อสารกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเร่งทำความเข้าใจในโรค การป้องกัน โดยต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สั้น กระชับ และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก โดยเฉพาะกลุ่มเพศสัมพันธ์ชาย-ชายที่มีความเสี่ยงสูงตามข้อมูลองค์การอนามัยโลก รวมถึงการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเตรียมรับมือกับโรคดังกล่าวด้วย”

“หากรัฐบาลไทยจับมือหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างแนวทางการป้องกัน รักษาร่วมกัน จะได้แนวทางที่เป็นสากลระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน รวมถึงจะได้ไม่ตกขบวนหากต้องสั่งซื้อวัคซีนหรือยา จะได้ไม่ต้องซื้อยาแพง หรือได้วัคซีนที่มีคุณภาพสูงล่าช้า อย่างในกรณีโรคโควิด19” สุวดี กล่าว