ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ชี้แผนแก้ รธน.ของ พปชร.มุ่งกระชับอำนาจเสริมความแข็งแรงให้กับระบบสืบทอดอำนาจ คสช. จับตา 3 พรรคร่วมเล่นละครเสนอตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เสนอ 2 ทางคู่ขนานแก้ไขทั้งฉบับ พ่วงแก้รายมาตราปลดล็อกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ป้องกันวิกฤตบ้านเมือง

วันที่ 3 เม.ย. 2564 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่าน 'วอยซ์' ถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พชปร.) เดินหน้าเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยไม่แตะอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีว่า คงขึ้นกับพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านจะว่าอย่างไร แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยคุยกันมา เช่น ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่มีฝ่ายค้านและองค์กรต่างๆ เห็นว่าควรแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขทั้งระบบให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าจะแก้ไขรายมาตรา ควรเน้นมาตราที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจ แก้เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ หรือแก้ไขบางมาตราเพื่อป้องกันวิกฤตของประเทศ แต่ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วให้ ส.ว.มากำหนดตัวนายกรัฐมนตรี 

"ที่พรรคแกนนำรัฐบาลเสนอนั้น เป็นการแก้ไขแบบที่ดูตามมาตราหรือรายมาตราไม่ได้ ต้องดูภาพรวมต้องการอะไร ที่สำคัญเขาไม่ได้ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยขึ้น เขาไม่ได้ต้องการให้การเลือกตั้งมีความหมายว่าประชาชนจะมากำหนดรัฐบาล ใครจะเป็นฝ่ายค้าน เขาต้องการกระชับอำนาจ และทำให้ระบบที่ทำมาตั้งแต่ คสช.ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมีความเข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น โดยรวมที่เขาเสนอมาให้แก้ คือ จะเพิ่มอำนาจ ส.ส. ทำให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณง่ายขึ้น ส.ส.แทรกแซงการทำงานของข้าราชการ จัดทำงบฯ ได้มากขึ้น"

สับแผน แก้ รธน.ไม่ยุ่งอำนาจ ส.ว.เป็นการปูทางเสริมอำนาจให้ระบบสืบทอดอำนาจ

จาตุรนต์ ระบุว่า การจะทำให้ ส.ส.มีบทบาทร่วมกับ ส.ว.ดูแลการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ มันก็คือการสร้างความมั่นคงให้กับระบบที่มียุทธศาสตร์ชาติ และมี ส.ส.ฝ่ายข้างมาก บวกกับ ส.ว.มากำกับการทำงานของรัฐบาล ระบบแบบนี้ถึงแม้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็จะถูกกำกับโดย ส.ส.บางส่วน กับ ส.ว. ซึ่งจะกลายเป็นการกำหนดทิศทางความเป็นไปของประเทศได้หมด ในปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้ทำตามยุทธศาสตร์เยอะแยะ แต่เมื่อรัฐบาลเลือกตั้งมาจริงๆเมื่อไร มาบริหารประเทศก็จะโดนข้อหาไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติก็ล้มรัฐบาลไป ถอดถอนนายกฯ รัฐมนตรีได้ ทั้งหมดนี้คือเสริมความแข็งแรงมั่นคง ให้กับระบบที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช.ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ

"การพิจารณาว่าจะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ดีหรือไม่ดี ดูทีละมาตราไม่ได้ ต้องดูภาพรวม มันเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าองค์กรต่างๆ เอ็นจีโอ พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคแกนนำรัฐบาลเสนอ"

จาตุรนต์ 767.jpg

จับตา 3 พรรคร่วมตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ เป็นละครหรือไม่

ถามว่า 3พรรคร่วมรัฐบาลเสนอตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ จะเดินหน้าได้แค่ไหน จาตุรนต์ ระบุว่า ต้องดูว่าตั้งใจหรือเปล่า หรือทำพอเป็นพิธี หากถึงเวลาแล้วไม่มาลงมติ กลับบ้านก่อน แล้วฟาดหัวฟาดหางเล่นเป็นละครกันหรือไม่ แม้จะตั้งใจจริง ก็จะได้เสียงจากฝ่ายค้านด้วย แต่ก็จะติดที่ ส.ว.ไม่ลงมติด้วย แต่ถ้าตั้งใจจริง ถ้าสังคมเห็นด้วย เกิดกระแสสังคม แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้าใจว่าการปล่อยให้ ส.ว.มีอำนาจอยู่อย่างนี้จะเป็นวิกฤตของบ้านเมือง และ พล.อ.ประยุทธ์ รู้จักโอนอ่อนบ้างไปพูดกับ ส.ว. ไปพูด พรรคแกนนำรัฐบาลมันก็อาจจะแก้ไขได้ ต้องดูว่ามีความตั้งใจจริงหรือไม่จะแก้เรื่องตัดอำนาจ ส.ว. 

"แต่ถ้าทำไปทำมาแล้ว เรื่อง ตัดอำนาจ ส.ว. ล้มมวยกันไป เสร็จแล้วเออออ เพื่อไปแก้ตามแกนนำรัฐบาลต้องการ มันก็จะเป็นละครตบตาประชาชน ผมเชื่อว่าฝ่ายค้านก็ไม่น่าจะเห็นด้วยได้ ถ้าฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย แม้รัฐบาลมีเสียงข้างมาก และ ส.ว. 100% ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20%" จาตุรนต์ ระบุ

จาตุรนต์ ระบุว่า ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านยังยืนยันสิ่งที่พูดไว้กับประชาชนคือแก้ไขทั้งฉบับ แล้วแก้รายมาตราเฉพาะที่เป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ตัดการสืบทอดอำนาจ คสช. ถ้าฝ่ายค้านยังยืนยันในหลักการอย่างนี้ ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกันที่จะเห็นด้วยกับพรรคแกนนำรัฐบาลที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จาตุรนต์ 100765.jpgสมศักดิ์ จาตุรนต์ วรชัย คนเดือนตุลา ศาลฎีกา OCTDEM 6610402.jpg

ดัน 2 ทางเลือกแก้ทั้งฉบับคู่ขนานแก้รายมาตราเลิกอำนาจ ส.ว.ป้องกันวิกฤต

เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรยกเลิกอำนาจการสืบทอดอำนาจในรัฐธรรมนูญก่อน จาตุรนต์ ระบุว่าต้องพยายามแก้ทั้งฉบับก่อน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสนอ สุดท้ายรัฐสภาต้องเสนอว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วเสนอให้มีการลงประชามติ ถ้าประชามติผ่านก็เริ่มกระบวนการร่างได้ หรืออีกแบบระหว่างที่ยังไม่แก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ทั้งฉบับไม่เสร็จ เพื่อป้องกันวิกฤตการเมืองก็แก้มาตราที่ว่าด้วยอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ คือตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ออกไปก่อน เพื่อป้องกันวิกฤตการเมือง 

"ถ้าแก้รายมาตราเพื่อผลประโยชน์พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อกระชับอำนาจ เพื่อทำให้ระบบสืบทอดอำนาจ คสช.ที่ได้วางกลไกต่างๆกำกับรัฐบาล โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ แล้วไปแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติเข้มแข็ง ก็ยิ่งจะทำให้การสืบทอดอำนาจมั่นคงถาวรตลอดไป"

ถามว่า รัฐบาลอยู่มาสองปี จะผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่เพราะที่ผ่านมาก็มีการเตะถ่วงซื้อเวลาอยู่ตลอด จาตุรนต์ ย้ำว่า รัฐบาลคงแก้รายมาตราในบางเรื่องที่ต้องการ แต่เรื่องนี้รัฐธรรมนูญนี้เรื่องแปลกทำให้คนส่วนน้อยตัดสิน คนส่วนน้อยตัดสินในการจะไม่แก้ แต่ตัดสินให้แก้ไม่ได้ พรรครัฐบาลจะมีเสียงเยอะยังไง ถ้าฝ่ายค้านไม่ยกมือให้ ก็แก้ไขไม่ได้เหมือนกัน ต้องดูว่าพรรคฝ่ายค้านจะว่ายังไง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง