ไม่พบผลการค้นหา
อดีตผู้นำนิสิต นักศึกษาเดือนตุลา 19 ร่วมกล่าวในงาน 45 ปี 6 ต.ค. 19 ย้ำต้องทำลายค่านิยม อุดมการณ์ที่ฆ่านักศึกษา-ประชาชน ชำระหนี้ทางกฎหมายคืนความเป็นธรรม ย้ำต้องพูดแทนคนตายให้คนรุ่นหลังได้ทำความจริงปรากฏ

วันที่ 6 ต.ค. 2564 บริเวณหน้าลานประติมากรรม ‘ธรรมศาสตร์ กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานรำลึก 45 ปี 6 ต.ค. 2519 โดยสุธรรม แสงประทุม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)กล่าวว่า งานรำลึก 6 ตุลา 2519 ยิ่งนานวัน คนยิ่งมาเข้าร่วมและต่อเติมเหตุการณ์จนวันนี้เกือบสมบูรณ์ และจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นหากคนผิดถูกนำตัวไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ เหมือนที่ นายพลปิโนเชต์ ของชิลี ผู้สังหารหมู่ประชาชนถูกจับที่อังกฤษ สำหรับปีนี้ หากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อนุญาตให้จัดดีๆ คนคงไม่มากันมากขนาดนี้ ทั้งนี้ ปรีดี พนมยงค์ ได้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งของคนยากคนจน ที่พึ่งในที่นี้ก็คือสติปัญญา ความรู้ ให้ลูกหลานคนยากคนจนได้มีแสงสว่างที่จะนำพาและพึ่งพิงตัวเองได้ นี่คือรากเหง้าของธรรมศาสตร์

สุธรรม ระบุว่า ในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์ จึงเป็นคนหนึ่งที่ต้องชี้แจง มีภาระที่ต้องพูดแทนคนตาย แทนคนที่เสียโอกาส แทนคนสูญหาย ซึ่งต้องให้เขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรม ถามว่าเบื่อไหมในการพูด ไม่มีสิทธิ์เบื่อ พูดกันไปจนตายคนรุ่นหลังก็จะมาพูดต่อจนกว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสำนึกในความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น ผู้ที่ประกอบอาชญากรรมจะต้องชดใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

"6 ตุลาจัดเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นบทเรียนที่จะต้องไม่ให้เกิดซ้ำอีก อยากเห็นความจริงในเหตุการณ์ได้ปรากฏ ไม่ใช่เข้าใจกันแบบผิดๆถูกๆในที่นี้ จึงขอนำคำกล่าวนี้มาใช้ เพื่อให้ท่านทั้งหลายรำลึกถึงคนที่มาก่อนเรา คนที่ยังอยู่ และรุ่นต่อไปเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของเขาเหล่านั้น" สุธรรม ระบุ

ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้นำนักศึกษา 6 ตุลา 2519 กล่าวเปิดนิทรรศการ ‘หนี้เลือด 6 ตุลาคม 2519 ถึงเวลาชำระ’ โดยระบุว่า คำว่าหนี้เลือด 6 ตุลา ถึงเวลาต้องชำระ ข้อความนี้ อาจทำให้คนนึกถึง คำว่า เลือด ล้างด้วยเลือด ซึ่งในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการแต่งเพลงที่ตอนท้ายระบุว่า ‘วันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบเหงา..’ เพลงดังกล่าว รวมถึง เลือดล้างด้วยเลือด เป็นผลผลิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งรัฐใช้ความรุนแรงสังหารเข่นฆ่าคนเห็นต่างโดยสุดท้ายแล้วไม่ได้นำไปสู่ความสงบราบคาบ แต่กลับสร้างความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น จนนำมาซึ่งคำว่า เลือดล้างด้วยเลือด มีแต่ความเสียหายต่อสังคม ทางออกไม่ได้เกิดจากการปราบให้สิ้นซาก แต่ต้องหาทางออกให้คนเห็นต่างจากรัฐอยู่ในสังคมได้ 

"การชำระหนี้เลือด คือการนำคนผิดมารับผลในสิ่งที่เคยกระทำ และต้องนำมาคิดต่อ ว่าการปราบปรามที่โหดร้ายเกิดจากโครงสร้างอย่างไร ระบบสังคมแบบไหน อุดมการณ์ความคิด ความเชื่ออย่างไรที่ทำให้คนชั้นนำใช้ความรุนแรงมารักษาผลประโยชน์ ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง"

จาตุรนต์ ระบุว่า นอกจากชำระทางกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม ความยุติธรรม ประชาชนไทยยังต้องคิดว่าจะเปลี่ยนโครงสร้าง ระบบ ค่านิยมที่พร้อมจะฆ่านักศึกษา ประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้อย่างไร สิ่งที่สังคมไทยต้องคิดต่อคือการชำระหนี้ทางกฎหมายตามหลักนิติธรรม และหาทางแก้ไข เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ให้คนรุ่นใหม่สร้างสังคมตามที่เขาต้องการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง