ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนบานปลายส่งผลต่อโครงการเรือดำน้ำลำแรกของไทยด้วย หลังล่าช้าจากเดิมจะส่งมอบให้ไทย ก.ย. 2566 แต่เลื่อนไป เม.ย. 2567 หลังเกิดเหตุโควิด-19 ระบาด ที่เมืองอู่ฮั่น ที่ตั้งโรงงานต่อเรือ

ล่าสุดเกิดปัญหาเรื่อง “เครื่องยนต์” ที่จะนำมาติดตั้งเรือดำน้ำ หลังทางเยอรมนีไม่ขายเครื่อง MTU 396 ให้จีนมาติดตั้งในเรือดำน้ำ ทำให้ ทร. ไทยต้องเจรจากับบริษัท CSOC รัฐวิสาหกิจของจีน เพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง จากปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มาเป็นต้นเดือน พ.ค. 2565 ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงปักกิ่ง ที่ตั้งของบริษัท CSOC ที่โควิดระบาด ทางการจีนมีมาตรการคุมเข้ม จึงมีผลต่อการเดินทางไทยของคณะบริษัท CSOC ทำให้การเจรจาต้องเลื่อนออกไปอีก โดยตีกรอบเวลาไว้กว้างๆ คือ ภายในเดือน พ.ค.นี้

สำหรับปัญหาเครื่องยนต์ในขณะนี้ มีรายงานว่าทั้ง 2 ฝ่าย พอจะมี “ทางออก” ของปัญหานี้ เพราะเครื่องยนต์รุ่น MTU 396 ไม่ได้ถูกระบุในตัว TOR ซึ่งตัวสัญญาดังกล่าวเขียนแค่กรอบกว้างๆเท่านั้น จึงไม่มีผลผูกมัดว่าจะต้องเป็นเครื่อง MUT 396 แต่ใช่ว่าจะเบาใจได้ เพราะไประบุอยู่ในรายงานการประชุมติดตามและบริหารโครงการ Program Management Review หรือ PMR ที่ทางบริษัท CSOC เสนอติดตั้งเครื่อง MTU 396 อีกทั้งในการประชุมก็มีการ “ลงนามรับทราบผลการประชุม” ทุกครั้ง

สำหรับเครื่องยนต์ MTU เป็นเครื่องยนต์ที่ ทร.ไทย มีความคุ้นเคยและเชื่อมั่นในมาตรฐาน เพราะถูกใช้ติดตั้งใน “เรือผิวน้ำ” หลายลำ ดังนั้รในเรื่องนี้ “ฝ่ายกฎหมาย ทร.” ต้องทำการบ้านอย่างหนักว่า “ข้อเสนอ” ที่อยู่ในชั้น PMR จะมีผลผูกพันตัวสัญญา TOR อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ทาง ทร. มี “แผนบันได 4 ขั้น” ในการแก้ปัญหาดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมาย ได้แก่ 1)การนัดพูดคุยเจรจาของ ทร.ไทย กับบริษัท CSOC ที่ทางไทยขอให้ฝั่งจีนส่งคนระดับที่มีอำนาจตัดสินใจมาพูดคุย เพื่อหาทางออกร่วมกันได้เลย ไม่ต้องกลับไปตัดสินใจที่จีนอีก

เพราะจะยิ่งทอดเวลาออกไป ก็จะส่งผลต่อการต่อเรือที่จะค้างอยู่ที่ขั้นตอนใส่เครื่องยนต์ ส่วนทางฝั่ง ทร. นำโดย พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการเรือดำน้ำ 

2)แนวทางแก้ปัญหาของทั้ง 2 ฝั่ง โดยยึดหลักความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยในเบื้องต้นมีโมเดล “เปลี่ยนเครื่องยนต์” ไปใช้เครื่องที่ผลิตในจีน แต่เป็นเครื่องที่ได้ “ลายเส้น” จากทางเยอรมัน แต่ที่ผ่านมาทาง ทร.ไทย ก็ยืนกรานมาตลอดต้องเป็นเครื่อง MTU 396 เท่านั้น

3)ส่งสำนักอัยการสูงสุด เพื่อดูข้อกฎหมายต่างๆอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะการ “แก้สัญญา” สามารถทำได้หรือไม่อย่างไร หากมีการ “แก้สัญญา” ขึ้นมา ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตัวหนังสือสัญญามีรายละเอียดจำนวนมาก

4)นำส่ง ครม. อนุมัติ เพราะเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม หรือแม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เคยนั่งในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในยุคที่ไปลงนามสัญญาจัดหาด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยกล่าวถึงกรณีดังกล่าว เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังเกิดเรื่องขึ้น ว่า “ให้นโยบายไปแล้วว่าให้ดำเนินการให้สำเร็จ เพราะอยู่ในสัญญาอยู่แล้ว แต่หากไม่ได้ก็คือไม่ได้ ต้องทำใหม่ ต้องเป็นอย่างนั้นละมั้ง”

“ถ้ามันไม่ได้จะเอามาทำไม มันไม่มีเครื่อง แล้วไปพูดว่ารัฐบาลจะซื้อเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องจะซื้อมาทำไม ในเมื่อสัญญาเซ็นไว้แล้ว ทำไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีการจะทำอย่างไรต่อไป ทุกอย่างมันต้องแก้อย่างนี้ไม่ใช่หรือ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ถ้าเครื่องยนต์นี้ไม่ได้ หาเครื่องยนต์ใหม่ยอมรับได้มั้ย ก็ยังไม่รู้ ก็ไปหามา ไม่ได้ก็ยกเลิกสัญญา แล้วจัดหาใหม่ทำนองนี้”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประยุทธ์  ประวิตร 15-8775-C66BC1797838.jpeg

หากพิจารณาจากคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ ที่เปรียบเป็น “ระดับนโยบาย” ก็ไม่ได้ “ปิดประตู” ทางออกใด แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ กับ ทร. ต้องพิจารณาคือ กระแสจากสังคมต่อโครงการเรือดำน้ำที่ “ติดลบ” มาตั้งแต่ต้น ย่อมมี “เอฟเฟกต์” กลับมาแน่นอน

รวมทั้ง “ความเชื่อมั่น” ของกำลังพล ทร. ที่ต้องประจำการเรือดำน้ำดังกล่าวในอนาคต รวมทั้งผลพวงต่างๆที่อาจตามมาในอนาคต จะมีการตาม “เช็กบิลย้อนหลัง” หรือไม่ จึงทำให้ ทร. ต้องละเอียดรอบคอบอย่างมาก จึงเป็นที่มาของ “แผนบันได 4 ขั้น”

โครงการเรือดำน้ำลำแรกของไทยต้องดำเนินต่อไป เพราะไทยชำระเงินไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 13,500 ล้านบาท สภาวะด้านงบประมาณของ ทร. ถือว่าตึงตัวอย่างมาก เพราะมีโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ที่เป็น “งบผูกพัน” หลายโครงการ

หนึ่งในนั้นคือ การจัดหาเรือยกพลขึ้นบก LPD แบบ 'ฉางไป่ซาน' จากจีน 1 ลำ มูลค่า 6,100 ล้านบาท ที่จะมาทำหน้าที่ “เรือพี่เลี้ยง” ให้กับ เรือดำน้ำ Yuan Class S26T ลำแรกของไทย

กองทัพเรือ เรือดำน้ำ

จึงทำให้ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. เลือกที่จะถอยไม่เสนอโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2-3 เข้าไปในแผนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี2566 เพราะเชื่อว่ามีโอกาสถูกสภา “ตีตก” และทำให้งบประมาณถูกเททิ้งน้ำไป จึงเลือกนำงบประมาณส่วนนี้มา “เสริมสภาพคล่อง” งบประมาณของ ทร. ที่อยู่ในสภาวะตึงมือเช่นนี้ โดยนำงบมาซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ นำมาใช้ในการฝึกต่างๆ และใช้ดูแลสวัสดิการกำลังพลชั้นผู้น้อยแทน

ทั้งหมดนี้จึงเป็น “เงื่อนไข” ที่กลายเป็น “เงื่อนปม” ภายใน ทร. ที่เป็นส่งผลกระทบในภาพรวมทั้งหมด

ดังนั้น ภารกิจหลักของ พล.ร.อ.สมประสงค์ ก่อนเกษียณฯ ก.ย. 2565 คือการแก้ปัญหาเรือดำน้ำลำแรกที่สะดุดในเวลานี้ให้เรียบร้อย

ที่สำคัญต้องได้ข้อสรุปก่อน “ศึกซักฟอก” ที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าทิ้งบอมบ์เรือดำน้ำไว้เรียบร้อย นำโดย “โจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาแฉรายสัปดาห์ พร้อมสถาปนา พล.อ.ประวิตร เป็น “บิดาแห่งเรือดำน้ำ” ที่ต้องรับผิดชอบด้วย เรียกได้ว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว”

ข่่าวที่เกี่ยวข้อง