ไม่พบผลการค้นหา
พรรคก้าวไกล ค้านประกาศ ก.แรงงานห้ามนายจ้างปิดงาน-ลูกจ้างนัดหยุดงานระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน-เอื้อประโยชน์นายจ้างมากกว่าปกป้องลูกจ้าง และเอื้อประโยชน์ต่อรมว.แรงงาน เพื่อหวังลดปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาล่าช้า

นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการแรงงาน อ่านแถลงการณ์คัดค้านประกาศกระทรวงแรงงาน โดยมีใจความว่าจากประกาศกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างนัดหยุดงาน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ในกรณีที่มีการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน อยู่ก่อนวันที่มีประกาศนี้ใช้บังคับ ให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ และ ข้อพิพาทที่ตกลงกันไม่ได้นั้น ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นคนชี้ขาดนั้น พวกเรา ส.ส.ตัวแทนชนชั้นแรงงานได้พิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้

1. ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้ใช้วิธี “ปิดงาน”ตามกติกาที่กฎหมายกำหนด การเลิกจ้างส่วนมากไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งต้องจ่ายค่าชดเชยที่ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเป็นเวลา 30 วัน และค่าชดเชยตามอายุงาน ตั้งแต่ 30-400 วัน หากจะกล่าวแบบภาษาคนทั่วไปก็คือ “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” โดยยังมีนายจ้างที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่กระทบเลย ฉวยโอกาส เลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการ เปลี่ยนสภาพการทำงาน บังคับลาออก และทำลายสหภาพแรงงาน และฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากโครงการของประกันสังคม โดยแทนที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง แต่นายจ้างให้ลูกจ้างไปรับเงินจากประกันสังคมแทน ถือเป็นการเอาเปรียบนายจ้างและลูกจ้างทั้งประเทศที่ส่งเงินประกันสังคมอย่างไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ สิทธิการรวมตัวต่อรองของลูกจ้างจึงทวีความจำเป็นขึ้นอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างแพร่หลาย การนัดหยุดงานถือเป็นอาวุธสำคัญที่ลูกจ้างใช้ต่อรองกับนายจ้างมาตลอด และในสถานการณ์ปัจจุบันที่แทบไม่มีการปิดงาน มีแต่การเลิกจ้าง ประกาศของกระทรวงแรงงานฉบับนี้ จึงเป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด ซ้ำร้าย การลดอำนาจของลูกจ้างนั้น อาจทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานแย่ลงไปอีก

2. การห้ามลูกจ้างนัดหยุดงาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งการที่ไทยขาดสิทธิการรวมตัวต่อรองมาอย่างยาวนานนี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) จากสหรัฐฯอีกด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ต้องเสียภาษีนำเข้ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่จำกัดสิทธิของประชาชนผู้ใช้แรงงานอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

3. ขณะนี้ สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันลดลงเรื่อยๆ ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพียง 5 คนต่อวัน อีกทั้งรัฐบาลได้ให้กิจการบางส่วนสามารถดำเนินกิจการตามปกติได้แล้วและกำลังพิจารณาให้กิจการอื่นเช่นกัน(คลายล๊อก) เหตุใดจึงประกาศออกมาในช่วงเวลานี้ ไม่ประกาศตั้งแต่ที่รัฐบาลปิดเมืองตั้งแต่แรก โดยมีตัวอย่างหลายกรณีในต่างประเทศที่มีการรวมตัวต่อรองประท้วงของประชาชนเชิงสร้างสรรค์ สามารถเว้นระยะห่างทางกายภาพได้เหมาะสม และปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ได้ออกมาชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง หรือรอของบริจาคตามจุดต่างๆ ถือว่าประชาชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากความบกพร่องทางนโยบายของรัฐบาล จึงไม่มีความจำเป็นที่จะจำกัดสิทธิของแรงงานแต่อย่างใด

นายสุเทพ กล่าวว่า ได้พิจารณาแล้วว่า ประกาศฉบับนี้ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายจ้างมากกว่าปกป้องลูกจ้าง โดยเฉพาะผลประโยชน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยตรง เพื่อเป็นการตัดปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาล่าช้า โดยการลดอำนาจต่อรองของลูกจ้างลง จึงมีข้อเสนอว่า

1. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องยกเลิกประกาศฉบับนี้ รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรา 75 ของพรบ.คุ้มครองแรงงานแก่นายจ้างที่ปิดงานทุกราย ให้จ่ายเงินร้อยละ 75 ของค่าจ้างแรงงาน 

2. รัฐบาลต้องเยียวยาประชาชนทุกคนแบบถ้วนหน้า แรงงานทั้งผองไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบประกันสังคม ต้องได้รับโดยเท่าเทียมกัน โดยใช้งบประมาณทางการคลัง แบบเดียวกับที่นานาอารยประเทศทำ ไม่นำเงินของกองทุนประกันสังคมออกมาใช้สร้างชื่อแก่ตนเอง ซึ่งเงินในส่วนนี้ควรจะเก็บไว้เป็นเงินในอนาคตของลูกจ้าง การเยียวยาแบบถ้วนหน้านี้ ยังลดต้นทุนและเวลาการพิสูจน์สิทธิ ยังมีแรงงานที่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากรอการพิสูจน์สิทธิ์อยู่

3. รัฐบาลควรให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิการเจรจาต่อรอง และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รณรงค์มาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :