ไม่พบผลการค้นหา
"พล.ท.ภราดร" แนะรัฐสรุปบทเรียนการเสียชีวิตของ "อับดุลเลาะ" ทบทวนการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับเปลี่ยนมาตรการคุมตัวให้เกิดความโปร่งใส สร้างความสบายใจให้คนในพื้นที่

พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือ สมช. กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ว่าจะต้องเป็นจุดเริ่มต้นของการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง และภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้บังคับแล้ว ผู้มีอำนาจจะต้องตระหนักว่า ในแง่สิทธิมนุษยชนจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะต้องได้รับความคุ้มครอง 

ดังนั้นการประกาศกฎอัยการศึก การคงพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ การบังคับใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จะต้องได้รับการทบทวนทั้งหมด โดยเฉพาะกฎอัยการศึก ซึ่งโดยหลักแล้วจะใช้เฉพาะเหตุภัยสงครามเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นภายในประเทศเท่านั้น แต่ประเทศไทยกลับหยิยยกมาใช้โดยตลอด 

ซึ่งในระยะยาวเจ้าหน้าที่อาจขาดความรอบคอบ เพราะกฎหมายเอื้อให้เกิดความสะดวกสบาย โดยเฉพาะการใช้อำนาจไปเชิญตัวควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีหมายได้ภายใน 7 วัน ซึ่งถือเป็นความสุ่มเสี่ยง และอาจทำลายบรรยากาศของความไว้ใจในพื้นที่ การพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ สร้างสันติสุข จึงมีผลกระทบตามไปด้วย 

ดังนั้นหากกฎหมายที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ได้รับการทบทวนบรรยากาศต่างๆโดยเฉพาะในแง่ของสิทธิมนุษยชนจะดีขึ้นตามลำดับ เชื่อพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยไม่ต้องใช้กฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งบังคับใช้มากว่า 10 ปี เป็นประเด็นที่ ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้ ซึ่งหากหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นผลดี

พลโทภราดร เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษเช่น พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก ยังเป็นตัวชี้วัดด้วยว่า ขีดความสามารถ ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศกำลังมีปัญหา ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐต้องสรุปบทเรียน

"มาตรการที่เข้าไปดำเนินการต่อประชาชนโดยเฉพาะประเด็นการพูดคุยซักถามเพื่อหาข้อมูลต่างๆ รูปแบบจะต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความโปร่งใสเกิดความสบายใจต่อพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าเช่นกรณีที่เอาไปซักถามในค่ายทหาร ก็ต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดเผย อาจเป็นห้องกระจก ไปซักถามและสามารถให้ญาติพี่น้องมาเฝ้าดู บรรยากาศเพื่อความมั่นใจว่าลูกหลานเขาปลอดภัย และเมื่อพูดคุยซักถามเสร็จกระบวนการเรื่องที่พัก จะต้องสามารถเข้ามาเยี่ยมเยียน แวะเวียนดูแลได้ ไม่ให้เกิดบรรยากาศของความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน"

อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติระบุว่า หากปรับเปลี่ยนมาตรการดังกล่าวได้จะสร้างความสบายใจให้กับประชาชนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอย่างน้อยที่สุดได้รู้เห็นว่าลูกหลานที่ถูกควบคุมตัว บรรยากาศเป็นอย่างไร และจะนำมาซึ่งความสบายใจ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่รัฐต้องเร่งแก้ไข


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :