ไม่พบผลการค้นหา
ตอนที่แล้วเราพาไปนิทัศน์ “จุดกำเนิด” ของพรรคชาติไทยไปแล้ว วันนี้เราจะมาดูพัฒนาการของพรรคในพาร์ตหลังว่า หลังจากยุค “เปรมาธิปไตย” แล้ว พรรคการเมืองอย่าง พรรคชาติไทย มีวิวัฒนาการอย่างไรในเวลาต่อมา เชิญอ่าน และ นิทัศน์ กันต่อครับ

สำหรับตอนที่หนึ่ง ท่านสามารถอ่านได้ ตามลิงก์นี้ ได้เลยครับ เพื่อให้เข้าใจ “ที่มา” ว่าเกิดอะไรขึ้น

วันที่ “ชาติชาย” เข้าทำเนียบฯ


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_1-01(1).jpg

หลังการเลือกตั้งใหญ่ ในปี 2531 เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฎออกมา และพรรคได้แสดงความต้องการที่จะให้ “พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” ดำรงตำแหน่งต่อ

แต่ทว่า พลเอก เปรม ปฎิเสธ….

ทำให้หัวหน้าพรรคอันดับหนึ่ง “พรรคชาติไทย” ได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลก่อน

และนั่น คือการเริ่มต้นรัฐบาล “ชาติชาย 1“


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_2-01(1).jpg

ฝั่งที่นั่งในการเลือกตั้ง 2531 (รัฐบาลชาติชาย 1)

(ล่าง) พรรครัฐบาล (ชาติไทย-กิจสังคม-ประชาธิปัตย์-ราษฎร-มวลชน-สหประชาธิปไตย 228 ที่นั่ง)

(บน) พรรคฝ่ายค้าน (เอกภาพและอื่นๆ 129 ที่นั่ง)

“รัฐบาล ชาติชาย 1” ประกอบไปด้วย “ชาติไทย-กิจสังคม-ประชาธิปัตย์-ราษฎร-มวลชน-สหประชาธิปไตย”

โดย พรรคชาติไทย พยายามจัดสรรตำแหน่งต่างๆ โดยแบ่งเป็นเกรดกระทรวง ความสำคัญเพื่อ “จัดตัว” รัฐมนตรี ให้เหมาะสมกับพรรค และ คนที่จะเป็นรัฐมนตรี โดยแบ่งดังนี้

เกรด A: มหาดไทย, คลัง, เกษตรและสหกรณ์, คมนาคม

เกรด B: พาณิชย์, อุตสาหกรรม, ศึกษาธิการ, การต่างประเทศ

เกรด C: สาธารณสุข, ยุติธรรม, วิทยาศาสตร์ฯ, ทบวงมหาวิทยาลัย

เกรดพิเศษ: กลาโหม

ซึ่งเป็นการแบ่งสัดส่วนที่ ถือว่า ทุกพรรคพอใจ และ ยึดโยงกับจำนวนที่นั่งที่ได้ นี่จึงทำให้รัฐบาล ชาติชาย 1 เดินหน้าได้แบบ ผ่านฉิวไร้อุปสรรค

และทำให้หลายนโยบาย สามารถเดินหน้าได้ เช่น การดำเนินนโยบาย “เปลื่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” การพัฒนาโทรคมนาคม อย่างการให้ลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย และรวมไปถึง การพัฒนาโครงการโทรคมนาคมในกรุงเทพมหานคร ทั้ง ดอนเมืองโทลล์เวย์ และ รถไฟโฮปเวลล์ ซึ่งภายใต้โครงการพัฒนานั้นเอง ก็มีความไม่ชอบมาพากลในแง่ของการได้มาซึ่งสัมปทานโครงการของรัฐ ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในวงราชการ…..

แต่ ”น้าชาติ” ซึ่งมีลูกเล่นในการตอบคำถามสื่อ ก็บอกไปว่า “No Problem” ไม่มีปัญหาหรอก

แต่สัญญาณที่ 1 แห่งความไม่เสถียรภาพ ก็เริ่มก่อตัวขึ้น…

ในช่วงที่ รัฐบาลชาติชาย 1 พลตรีชาติชาย ก็ตั้ง คณะที่ปรึกษาด้านนโยบายนายกรัฐมนตรี หรือที่สื่อเรียกกันในภายหลังว่า “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” และเป็นทีมนี้เอง ที่เสนอนโยบายเรื่องการรับเป็นตัวกลางในการเจรจา “เขมร 4 ฝ่าย” โดยที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อย่าง พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา คัดค้าน


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_3-01(1).jpgเธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_4-01(1).jpg

และความขัดแย้งในคราวที่ พลเอกชาติชาย ได้พบกับประธานาธิบดี จอร์จ บุช ของสหรัฐอเมริกา ในการประชุมระดับนานาชาติที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ทีมที่ปรึกษาฯ บ้านพิษณุโลกก็ออกมาให้ข่าวว่า ผู้นำทั้งสองตกลงกันว่าจะติดต่อกันแบบ HOTLINE แต่กระทรวงการต่างประเทศว่า ฝ่ายสหรัฐอเมริกาปฏิเสธ

เรื่องนี้เกือบบานปลาย ถึงขั้นจะมีการย้ายข้าราชการกัน แต่สุดท้ายคลื่นลมก็สงบ….

และยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแยังภายในรัฐบาลในแง่ของ การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และความขัดแย้งระหว่างกองทัพ ทั้งเรื่องที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมา “วิจารณ์” รัฐบาลที่ปล่อยให้มีการ คอร์รัปชั่นสูง จนทำให้ หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธ์ บริพัตร หนึ่งในทีมที่ปรึกษาฯ บ้านพิษณุโลก ออกมาตอบโต้ ที่ว่า

“ใครที่กล่าวว่ารัฐบาลพลเรือนมีการคอรัปชันสูงขึ้น 90% นั้น ให้กลับไปปัดกวาดบ้านเรือนของตัวเองเสียก่อน กองทัพไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ต้องแปรสภาพกองทัพ โดยรื้อหลักสูตรทั้งหมดแล้วสร้างความเป็นวิชาชีพ”

จนทำให้เหล่านายทหารตั้งแต่นายร้อยยันนายพล “ตบเท้า” เพื่อกดดันให้ พลเอกชาติชาย “ปลด” หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธ์ สุดท้าย หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธ์ ก็ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ด้วยการ ชิงลาออกมันเสียเลย

และอีกกรณีที่กลายเป็นเรื่องลุกลาม และ สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลคือ กรณี “รถโมบายยูนิต” ที่ บก.ทหารสูงสุด แถลงข่าวยึดรถโมบายยูนิตของ อ.ส.ม.ท. ที่แอบจอดซุ่ม เพราะต้องสงสัยว่าทำให้ระบบการสื่อสารของทหารถูกรบกวน

ทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันไปมาท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า รถโมบายยูนิตนั้นได้รับคำสั่งไปปฏิบัติการต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งในขณะนั้น อ.ส.ม.ท. ซึ่งอยู่ในกำกับของ ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จากพรรคมวลชน

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่อง ดุเดือดกันไปมา เพราะทางด้าน ร้อยตำรวจเอก เฉลิม ก็ออกมาโจมตีกองทัพอย่างรุนแรง ด้านกองทัพเองก็ไม่น้อยหน้า พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ในเวลาถัดมา ออกคำสั่งที่ 43/2533 ห้ามชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สุดท้าย เรื่องราวสงบลง เพราะไม่มีการปลุกระดมมวลชนอย่างที่มีข่าวลือ

แต่นั่นทำให้ “น้าชาติ” ตัดสินใจ “ล้างไพ่” ใหม่ โดยตั้งรัฐบาล “ชาติชาย 2” เพื่อสร้างเสถียรภาพอีกรอบ…

รอบนี้ เป็นการจับมือระหว่าง “ชาติไทย-เอกภาพ-ประชากรไทย-ราษฎร-ปวงชนชาวไทย”


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_5-01(1).jpg

ฝั่งที่นั่งในการเลือกตั้ง 2531 (รัฐบาลชาติชาย 2)

(ล่าง) พรรครัฐบาล (ชาติไทย-เอกภาพ-ประชากรไทย-ราษฎร-ปวงชนชาวไทย 227 ที่นั่ง)

(บน) พรรคฝ่ายค้าน (กิจสังคม-ประชาธิปัตย์และอื่นๆ 130 ที่นั่ง)

แต่ถึงแม้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี และพรรคร่วม ที่มีปัญหาในการดำเนินงานร่วมรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาลดลง หนำซ้ำ ในช่วงเวลานั้นเริ่มมีข้อกังขา ว่ารัฐบาลนั้น มีการคอร์รัปชั่นที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความขัดแย้งกับกองทัพ

จนนำไปสู่...การรัฐประหารโดย รสช. พุทธศักราช 2534…

ชาติไทยในห้วงการเมืองที่เวียนวน…

14:00 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกาศรัฐประหาร รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ พร้อมๆ กับการที่พลเอก ชาติชาย ลี้ภัยการเมืองที่อังกฤษ

เวลานั้น พรรคชาติไทย น่าจะเรียกได้ว่าระส่ำที่สุดแล้ว เพราะแทบไม่มีหัวหน้าพรรคอยู่เลย แถมแกนนำพรรคหลายๆ คน ถูก คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน-ผู้เขียน) ตรวจสอบทรัพย์สินกันถ้วนหน้า อาทิ กร ทัพพะรังสี, บรรหาร ศิลปอาชา, เสนาะ เทียนทอง, วัฒนา อัศวเหม, พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร เป็นต้น ก่อนที่ จะมีการเรียกสอบ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในพรรค โดยที่หลังจากมีการรัฐประหาร พลเอก ชาติชาย ก็ได้ลี้ภัยที่สหราชอาณาจักรและลาออกจากหัวหน้าพรรค…..

สถานภาพพรรคเหมือนสูญญากาศ….

สุดท้าย การเชิญ พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานฯ และ เพื่อนร่วมรุ่นกับ พลเอก สุจินดา คราประยูร และ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล เป็นหัวหน้าพรรค...

ก็เพื่อประสานประโยชน์ระหว่าง พรรค กับ คณะรัฐประหาร ไม่ให้ “บาดหมาง และ สนับสนุน” พรรคทหาร ที่จะก่อตั้งขึ้นในเวลาถัดไป

เลือกตั้ง มีนาคม 2535 พรรคได้ 74 คน เข้าร่วมรัฐบาล “สุจินดา 1”

64428688_2159459977496355_7212024519832109056_n.jpg64428688_2159459977496355_7212024519832109056_n.jpg



เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_6-01(1).jpg

โดยมีการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ให้แกนนำพรรคหลายๆ คน ซึ่งมีหลายๆ คน เคยมีชื่ออยู่ในลิสต์ยึดทรัพย์ ของ คตส. ในเวลานั้นหลายคน ตามที่ท่านเห็นในกรอบสีแดง


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_7-01(1).jpgเธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_8-01(1).jpg

แต่เพราะเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ทำให้พรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล สุจินดา นั้น กลายเป็นพรรคมารในสายตาคนไทย พรรคชาติไทยเองก็เช่นกัน…

และเมื่อนายกรัฐมนตรี อย่าง พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออก การควานหานายกรัฐมนตรี จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

โดยตัวเต็ง ในเวลานั้น ก็คงหนีไม่พ้นพรรคที่ได้เสียงรองลงมา นั่นคือ พรรคชาติไทย (74 ที่นั่ง)

ประตูการเป็นนายกรัฐมนตรี เปิดออก?

แต่ทว่า…..

อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งพรรคสามัคคีธรรม ตัดสินใจให้ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้น คือ ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ชื่อ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

พลอากาศเอก สมบุญ ที่รอพระบรมราชโองการ อยู่ที่บ้าน บริเวณกองบิน 6 ดอนเมือง ต้องกินแห้ว และกลายเป็นตำนาน “แต่งชุดขาวรอเก้อ” หรือ “ถอนสายบัวรอเก้อ” ในที่สุด

เมื่อมีการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือน กันยายน 2535 การเปลื่ยนแปลงก็เกิดขึ้น….

การเข้ามาของ “กลุ่มเทิดไท” ซึ่งนำโดย ณรงค์ วงศ์วรรณ เข้าร่วมกับพรรคถือว่าเป็นผลดี

แต่การลาออกจากพรรคของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ไปตั้งพรรคชาติพัฒนา…. ทำให้พรรค ต้องร้องขอให้ “Pure ราชครู” อย่าง พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค อีกครั้ง

การเลือกตั้ง กันยายน 2535 พรรคชาติไทย ได้ที่นั่ง 76 ที่นั่ง และกลายเป็นฝ่ายค้าน….


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_9-01(1).jpg

และในช่วงเวลานั้นเอง เกิดความไม่เสถียรภาพของรัฐบาล เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีที่เกี่ยวกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จนทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคความหวังใหม่ แถลงออกจากการเป็นพรรคร่วม….

พรรคประชาธิปัตย์ เลยเชิญพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลแทน ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับผู้นำฝ่ายค้านฯ อย่าง พลตำรวจเอก ประมาณ แสดงความไม่พอใจ พลเอก ชาติชาย ว่า “ไม่เป็นลูกผู้ชาย” และ “เชื่อถือไม่ได้”

แต่ขณะเดียวกัน สมาชิกของพรรคบางส่วน อาทิ เนวิน ชิดชอบ, สุชาติ ตันเจริญ, สนธยา คุณปลื้ม และ ร่วมมือกับ ส.ส.ของพรรคชาติพัฒนา เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลจนเกิดเป็น “กลุ่ม 16” เวลาต่อมา และสร้างชื่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่อง กรณี ส.ปก. 4-01 จนทำให้เป็นตัวเร่งสู่การยุบสภาในเวลาต่อมา


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš-10-01(1).jpg

ปฏิรูปพรรค

ก่อนหน้าการเลือกตั้ง ปี 2538 มีการเปลื่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ พรรคชาติไทย เปลี่ยนแปลง จาก พรรคของราชครู สู่ พรรคสุพรรณบุรี…

...ถึงแม้ พลตำรวจเอก ประมาณ จะกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยอีกหน แต่…

พลตำรวจเอก ประมาณ “ถูกแขวน” อีกหนไปเป็นที่ปรึกษาพรรค…

และเลือกหัวหน้าพรรคเป็น บรรหาร ศิลปอาชา

ว่ากันว่า นี่คือเกมการเมืองในพรรคที่บรรหารต้องการที่จะ “ปฏิรูปพรรค” เลยทีเดียว

เล่นเอา พลตำรวจเอก ประมาณ เลือกที่จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับพรรคแบบเด็ดขาด และ ดำรงตำแหน่งเป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2539 ในเวลาต่อมา

แต่กระนั้นก็ดีการเลือกตั้ง 2538 บรรหาร ศิลปอาชา มีเลขาธิการพรรคคนหนึ่ง ชื่อเสนาะ เทียนทอง

สองคนผู้นี้พาพรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้งได้ในการเลือกตั้ง 2538

ฝั่งที่นั่งรัฐบาลผสมสมัยชาติชาย

ซีกซ้าย-พรรครัฐบาล (ชาติไทย-ความหวังใหม่-พลังธรรม-กิจสังคม-ประชากรไทย-นำไทย-มวลชน) 238 ที่นั่ง

ซีกขวา-พรรคฝ่ายค้าน (ประชาธิปัตย์-ชาติพัฒนา-เสรีธรรม-เอกภาพ) 153 ที่นั่ง

และทำให้ บรรหาร ศิลปอาชา ชึ้นสู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมตรี คนที่ 21” ของประเทศอย่างสมศักดิ์ศรี


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_12-01(1).jpg

แต่ใช่ว่า การบริหารประเทศจะราบลื่น เพระแค่จัดตัวคณะรัฐมนตรี ก็ยังเหนื่อยเลย!

เหตุจาก “กลุ่มวังน้ำเย็น” ของเสนาะ เทียนทอง ขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

อย่างที่บอกไปข้างตันว่า “เสนาะ” คือ เลขาธิการพรรคที่ช่วยพรรคชาติไทย โกยที่นั่งในสภาได้สำเร็จ

ซึ่งรายชื่อคณะรัฐมนตรี บรรหาร 1 มีดังนี้


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_13-01.jpg

ซึ่งการที่ บรรหารเลือกที่จะ “กั๊ก” ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมหาดไทย ทำให้ เสนาะ ไม่พอใจ ขณะเดียวกัน ปัญหาในการดำเนินงาน ก็ไม่ใคร่สู้ดีหนัก เมื่อในเวลานั้น ปัญหาเศรษฐกิจ เริ่มทำพิษก็ในช่วงนี้ เมื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ตรวจสอบพบว่า สาเหตุที่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ขาดสภาพคล่องส่วนหนึ่งก็เพราะการที่ธนาคาร ปล่อยให้มีการกู้เงิน ให้กับนักการเมืองในกลุ่ม 16 ซึ่ง แกนหลักของกลุ่ม คือสมาชิก ส.ส. ของ พรรคชาติไทย ซึ่งก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน “การล้วงลูก” ก็กลายเป็นอีกประเด็นที่ทำให้ พรรคร่วมรัฐบาล ส่ายหน้า จนถึงขั้น ถอนตัวร่วมรัฐบาล อย่างเช่น พรรคพลังธรรม ในวันที่ 14 สิงหาคม 2539

สุดท้าย เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต พรรคฝ่ายค้านเลยเปิดฉาก อภิปรายไม่ไว้วางใจในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ซึ่งมีทีท่าจะลุกลามบานปลาย กระทบเศรษฐกิจ มิหนำซ้ำ ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เล่นงานเรื่อง บรรพบุรุษ ของ บรรหาร ว่าเป็นต่างด้าว ขาดคุณสมบัติหรือไม่ และข้อสงสัยในเรื่อง การคัดลอกวิทยานิพนธ์ ตอนที่ บรรหาร เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แล้วไม่ใช่แค่พรรคฝ่ายค้าน

พรรครัฐบาลยัง “บีบบังคับ” ให้ลาออก เพื่อแลกกับการยกมือไว้วางใจ

มังกรสุพรรณ เจอ ศึกในศึกนอกแบบนี้ เดาไม่ออกเลยว่าสีหน้าจะเมื่อยตุ้ม ปนกดดันเครียดมากแค่ไหนปาน

บรรหาร พูดถึงความรู้สึกในเวลานั้นว่า

“ตลอดเวลาของการอภิปราย ขณะที่ผมนั่งในที่นั่งนายกรัฐมนตรี ในสภา ผมรู้สึกถึงความวังเวงได้อย่างดี ไม่มีรัฐมนตรีขึ้นไปนั่งในฟากของรัฐบาลเลยแม้แต่คนเดียว”

สุดท้าย ถึงแม้รัฐบาลจะผ่านวิกฤตไปได้ ด้วยคะแนนเสียง 207 เสียง จากทั้งหมด 391 เสียง แต่…

บรรหารเลือกไม่ลาออก แต่ลงล็อกด้วยการยุบสภาแทน แบบที่เรียกว่า แหกโค้ง หักปากกาเซียน ทั้งคอการเมือง และ พรรคร่วมรัฐบาล

พร้อมๆ กับการลาออกแบบ “แทบจะยกพรรค” ของ ส.ส. กลุ่ม วังน้ำเย็นที่นำโดย เสนาะ เทียนทอง ที่ไปร่วมกับพรรคความหวังใหม่

แต่ถึงแม้ 1 ปีที่รัฐนาวาบรรหาร บริหารประเทศ ก็ยังสามารถสร้างผลงาน ชนิดที่เรียกว่า Masterpiece ได้ ก็คือการริเริ่มปฏิรูปการเมือง และนำไปสู่ การร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่ง นับตั้งแต่มีการเปลื่ยนแปลงการปกครอง…..ใช่ครับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540

Downfall to Dissolved

หลังจากปี 2539 เป็นต้นมา สัญญาณขาลงของพรรคชาติไทย ก็ชัดเจน จากการสูญเสีย สมาชิกพรรคที่ย้ายไปร่วมกับพรรคอื่น เช่นในคราว เลือกตั้ง 2539 ที่ กลุ่มวังน้ำเย็นไปร่วมกับ พรรคความหวังใหม่ ที่นั่งลดลงถึง 53 ที่นั่ง (2538-92 ที่นั่ง, 2539-39 ที่นั่ง)

ช่วงปลาย ปี 2541 มี สมาชิกพรรค ที่เป็น ส.ส. ย้ายไปเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย เช่น ปองพล อดิเรกสาร, วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล, นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์, นาวาโท เดชา สุขารมณ์ ร.น., ชาญชัย ปทุมารักษ์ ซึ่งถึงแม้จะออกไปเป็นจำนวนน้อย แต่ก็มีผล และประกอบกับกระแสของพรรคไทยรักไทยที่แรงมาก

การเลือกตั้ง 2544 พรรคได้ 40 ที่นั่ง โดยชูนโยบายการปฏิรูปการเมือง และ มาตรการแก้ไขเศรษฐกิจเร่งด่วน


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_17-01(1).jpg

โดยเข้าร่วมรัฐบาล ร่วมกับ พรรคไทยรักไทย โดยที่นั่งส่วนมาก จะเกาะกลุ่มทั้งในเขตภาคกลาง ที่มีฐานเสียงแน่นอยู่แล้ว ร่วมไปถึง ฐานกลุ่มการเมือง เช่น กลุ่มบุรีรัมย์ ของ เนวิน ชิดชอบ, กลุ่มชลบุรี ของ ตระกูลคุณปลื้ม เป็นต้น

แต่ 2 กลุ่มที่ว่ามา ก็ถูก “พลังดูด” ไปเข้าร่วมกับ พรรคไทยรักไทย ในปี 2547

นั่นมีผลทำให้ พรรคชาติไทย เสียที่นั่งเป็นจำนวนมาก

26 ที่นั่ง โดยเป็นภาคกลางมากที่สุดคือ 11 ที่นั่ง โดย สูญพันธ ในภาคตะวันออก ในสมัยนั้น พรรคเลยร่วมเป็นฝ่ายค้านกับ ประชาธิปัตย์ และ มหาชน

ก่อนที่จะมีการยุบสภา เลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 พรรคชาติไทย ในฐานะพรรคฝ่ายค้านร่วมกัน “บอยคอต” ไม่ส่งผู้สมัคร ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งนั้น กลายเป็นโมฆะ


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_14-01(1).jpg

และจากเหตุการณ์ นี้ทำให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่….. ก็เกิดรัฐประหารเสียก่อน

การเลือกตั้ง 2550 ด้วยระบบเลือกตั้ง “แบบสัดส่วน” และ “รวมเขต” ที่นำกลับมาใช้ และสร้างความงงงวยแบบที่ว่า “พ่อไม่เข้าใจตุ้ม” แต่ก็ยังได้ 37 ที่นั่ง เข้าสภา และร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ พลังประชาชน-เพื่อแผ่นดิน-รวมใจไทยชาติพัฒนา-มัชฌิมาธิปไตย-ประชาราช” เป็น 315 ที่นั่ง


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_15-01.jpg

แต่เพราะความวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วงของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในการปลด สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และถึงแม้จะมีการตั้งรัฐบาลใหม่อีกหน แต่ก็ไม่มีเสถียรภาพพอ จนกระทั่ง….

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำพิพากษายุบพรรคชาติไทย จากกรณีที่ มณเฑียร สงฆ์ประชา ทุจริตการเลือกตั้ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการตัดสินคดี มีความเร่งรีบอย่างชัดเจน อาจด้วยบรรยากาศทางการเมืองตึงเครียด จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาขับไล่รัฐบาลพลังประชาชน ของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์


เธ›เธฃเธฐเธเธญเธš_16-01(1).jpg

บทสรุปจาก “ชาติไทย” สู่ “ชาติไทยพัฒนา”

จริงอยู่ ที่ พรรคชาติไทย เคยยิ่งใหญ่ ถึงขั้นเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เคยมีนายกรัฐมนตรี 2 คน

ทำไมถึงไม่สามารถ กลับไปสู่จุดเดิม…. ถึงแม้จะเปลื่ยนเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา แล้วก็ตาม

สิ่งสำคัญ ก็คงจะอยู่ที่ “ลุค” ของพรรค ที่พร้อมจะเข้าข้าง พรรคที่มีเสียงข้างมาก และ มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล

บรรหาร ศิลปอาชา เคยพูดประโยคอันลือลั่น และ เป็นที่จดจำว่า

“เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง”

ส่วนต่อมาคงหนีไม่พ้น ฐานเสียงที่ออกแนว “เฉพาะตัว” มากเกินไป โดยในฐานเสียงหลักๆ ของพรรค จะเน้นไปทาง ภาคกลาง ตอนกลาง เช่น สุพรรณบุรี, อ่างทอง, ชัยนาท และอาจจะรวมไปถึง สระบุรี และ นครราชสีมา ที่เคยเป็นฐานเสียงหลัก ของแกนนำพรรคช่วงแรกๆ อย่าง พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร และ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ

หรือ แม้กระทั่ง ในสมุทรปราการ อย่าง วัฒนา อัศวเหม ที่เคยเป็นถึงกลุ่มหลักในพรรค ก่อนที่จะโดนขับออกจากพรรคในช่วงปี 2538

และพอ สมาชิกกลุ่มราชครู หมดบทบาททางการเมืองในพรรค ก็กลายเป็น “พรรคท้องถิ่นนิยม” ไปโดยปริยาย…

อดีตสมาชิก ชาติไทย ไปไหนวันนี้

พรรคการเมืองนี้สร้างนักการเมืองหลายคนประดับวงการ และ มีทั้งดี และ แย่

ถึงแม้พรรคชาติไทย และ ถูกยุบ แต่วันนี้ ก็ยังมีพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ยังสืบทอด สืบสันดานความเป็น “ชาติไทย” ทั้งอุดมการณ์ และ แนวคิด…

แล้ววันนี้ไปไหนกันหมด?

พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - ลูกจอมพลผิน ชุณหะวัณ หลังจากรัฐประหาร 2500 ก็โดนย้ายไปรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เป็นทูตหลายประเทศ ก่อนที่จะร่วมก่อตั้ง พรรคชาติไทย - เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2531 ก่อนที่จะโดน รสช. ยึดอำนาจ 2534 และได้ลาออก จากพรรคไปตั้งพรรคใหม่ นั่นก็คือ พรรคชาติพัฒนา

พลเอก ประมาณ อดิเรกสาร - เขยแห่ง จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้รับคำท้า จาก พ.ต. ประเสริฐ สุดบรรทัด แล้วชนะเสียด้วย ได้เป็น ส.ส. สระบุรี ก่อนที่จะร่วมก่อตั้ง พรรคชาติไทย - โดนแขวนในฐานะ “ที่ปรึกษาพรรค” ซึ่งคือ ไม่มีอำนาจอะไร ต่อมาได้ลาออกและไปดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2539 เป็นตำแหน่งสุดท้าย (เสียชีวิต 20 สิงหาคม 2553) ซึ่งในขณะเดียวกัน ลูก หลาน การเมืองตระกูล อดิเรกสาร ได้ลงเล่นการเมือง ซึ่งวันนี้ อดิเรกสาร ก็สนับสนุน พรรคพลังประชารัฐ..

เดช บุญ-หลง - นักธุรกิจแห่ง เทยิน ประเทศไทย สนิทสนมกับ พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร จากการทำธุรกิจสิ่งทอ ก่อนที่จะมาเป็น “ถุงเงิน” และ เหรัญญิก ของพรรค - เป็น ส.ส. นครนายก ตั้งแต่ การเลือกตั้ง 2535/1 จนถึง 2538 ก่อนที่จะเลื่อนไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรค เคยดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ ก่อนที่จะลงสมัคร ส.ว. นครนายก และได้รับเลือก เป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตการเมือง (เสียชีวิต 19 สิงหาคม 2553)

บรรหาร ศิลปอาชา - นักธุรกิจหนุ่ม เจ้าของธุรกิจก่อสร้างในสุพรรณบุรี เข้าสู่ชีวิตการเมืองจากการเชื้อเชิญ ของ พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ได้รับเลือกตั้ง เป็น ส.ส. สุพรรณบุรี ในปี 2519 พร้อมกับการเป็น ผู้ช่วยเลขาธิการพรรค - นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ผู้ทำให้สุพรรณบุรี มีความเจริญก้าวหน้า และเป็นผู้ริเริ่มการ “ปฏิรูปการเมือง” ซึ่งนำไปสู่ การได้มาของ รัฐธรรมนูญ 2540 และเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยคนสุดท้าย และต่อให้พรรคชาติไทย ถูกยุบ และกลายสภาพเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา “มังกรเติ้ง” ผู้นี้คือ หัวหน้าพรรคตัวจริง และ รัฐมนตรีตัวจริง เพราะนี่คือผู้กำหนดทิศทางของพรรค และ นโยบายกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไว้ลาย “จอมล้วงลูก” คนหนึ่ง (เสียชีวิต 23 เมษายน 2559)

เสนาะ เทียนทอง - เจ้าของ ส.เทียนทอง อาณาจักรธุรกิจแห่งสระแก้ว พล.ท.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คือผู้ชวน เสนาะ เข้าสู่ ส.ส.ปราจีนบุรี (ในขณะนั้น) จะได้รับเลือกครั้งแรกในปี 2519 (รุ่นเดียวกับ บรรหาร) - ถึงแม้จะสอบตก แต่ก็ถือว่าเป็น “ผู้เฒ่าการเมือง” ที่มีประสบการณ์ ทั้งเคยเป็นทั้ง “เลขาธิการพรรค” และ “นักปั้นนายกรัฐมนตรี” ปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย

ตอนหน้า เราจะไปนิทัศน์ “พรรคราษฎร” พรรคของวัฒนา? (และกลุ่มปากน้ำ)

อ้างอิง

  • นรนิติ เศรษฐบุตร. (2553). กลุ่มราชครูในการเมืองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • ประมาณ อดิเรกสาร. (2547). Unseen ราชครู. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: แปลนพริ้นติ้ง.
  • กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. (2535). เทศาภิบาล ฉบับพิเศษ เลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535. : กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง
  • วิษณุ เครืองาม. (2557). เล่าเรื่องผู้นำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 175-177
  • ศูนย์บริการข้อมูลและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. “การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2539 ฉบับที่ 1 ก่อนการเลือกตั้ง”. เอกสารเผยแพร่ในวงงานวุฒิสภา กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2539
  • ฐานเศรษฐกิจ. (2535). 360 เจ้ายุทธจักรสภาหินอ่อน. กรุงเทพฯ : บริษัทฐานเศรษฐกิจ
  • สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ. (2559). แกะดำโลกสวย อาทิตย์ อุไรรัตน์. ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยรังสิต
  • สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2539). จิตสำนึกและอุดมการณ์ของขบวนการประชาธิปไตยร่วมสมัย. กรุงเทพ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว. (2544). รัฐบาลผสม. กรุงเทพ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลั
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2541. (2541).
  • http://digi.library.tu.ac.th/newspaper/005/26aug-01sep39/0905page2_15.pdf
  • https://www.silpa-mag.com/history/article_28256
  • https://waymagazine.org/pm-downfall/
  • https://thepeople.co/sanoh-thienthong-pm-maker/
  • https://voicetv.co.th/read/BJLbMlgZf
  • https://mgronline.com/onlinesection/detail/9490000027121
  • http://downmerngnews.blogspot.com/2008/01/6-20-51-0343.html
ชาติ ดุริยะ
เด็กสายวิทย์ที่ดูเรียนผิดสายพบเห็นได้ตามกลุ่มปรัชญาการเมืองทั่วๆไป
1Article
0Video
5Blog