ไม่พบผลการค้นหา
เราจะพาไปย้อนอดีตหาสิ่งคุณเคยจำ แต่กลับลืม หรือเจตนาลืม ด้วยความเข้มข้น แต่ กินง่ายย่อยง่าย กับประวัติศาสตร์การเมีย เอ้ย การเมืองไทย โดยจะเป็นซี่รีย์พรรคการเมือง โดยจะเริ่มต้นด้วย พรรคชาติพัฒนา
  • หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่พึ่งกลับจากการลี้ภัยการเมืองที่อังกฤษ ประกาศตั้งพรรคใหม่ โดยสังกัดพรรคปวงชนชาวไทย และเปลื่ยนชื่อเป็น พรรคชาติพัฒนา
  • โดยแกนนำในยุคแรก มีทั้ง นักการเมืองกลุ่มราชครูส่วนหนึ่งที่ลาออกจากพรรคชาติไทย และ ที่ออกมาจากพรรคสามัคคีธรรมเดิม เช่น พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นการกลับสู่พรรคเดิมอีกครั้ง เพราะเป็นพรรคการเมืองแรกที่แจ้งเกิด “บิ๊กซัน” ในสนามการเมืองระดับชาติ

วันนี้ เราอาจจะได้ยินพรรคชาติพัฒนา ในฐานะพรรคขนาดกลาง ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ในอดีตแล้ว พรรคการเมืองนาม “ชาติพัฒนา” มีความสำคัญ ถึงขนาดเป็นพรรคอันดับสาม ของประเทศในเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้เราจะพูดถึงพรรคชาติพัฒนาในเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ที่ไม่ใช่ตอนนี้...(เพราะอะไร เราจะมาสรุปในตอนท้าย)

เริ่มต้นที่....ปวงชนชาวไทย

C011.jpg

แต่เดิม พรรคชาติพัฒนา ไม่ได้ชื่อนี้แต่แรกเริ่ม แต่เป็นพรรค ที่ถูกก่อตั้งอยู่แล้ว คือ พรรคปวงชนชาวไทย โดยก่อตั้งเมื่อ 20 เมษายน 2525 โดยมี ร.อ.สมหวัง สารสาส เป็นหัวหน้าพรรค

ซึ่งพรรคได้ลงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งปี 2526 ในกราวนั้น พรรคได้เพียง ที่นั่งเดียว โดยเป็น อารยะ ชุมดวง ที่ได้รับเลือกตั้ง ในจังหวัดสุโขทัย

somwang01.jpg

ซึ่งต่อมา พรรคได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายค้านอิสระใน รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ต่อมาในการเลือกตั้ง 2529 พรรค ก็ยังได้แค่ที่นั่งเดียว จาก วิฑูรย์ วงษ์ไกร ที่ได้รับเลือกตั้ง ในเขต 1 จังหวัดยโสธร

บิ๊กซันฟีเวอร์

จากความขัดแย้งเรื่องการลดค่าเงินบาท ของรัฐบาลในขณะนั้น เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 และ การไม่ได้รับตอบสนองเรื่องการต่ออายุราชการ จึงกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ พล.อ. เปรม ตัดสินใจ ปลด พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ออกจาก ผู้บัญชาการทหารบก แบบที่เรียกว่า “ฟ้าผ่า” เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2529 

Bigsun01.jpg

ทำให้ พล.อ. อาทิตย์ ตัดสินใจลงเล่นการเมือง โดยเข้าร่วมกับพรรคปวงชนชาวไทย และได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค โดยมี “กลุ่มทหารประชาธิปไตย” อย่าง พล.ต.ระวี วันเพ็ญ เป็นทีมที่ปรึกษา และมี วิศว์ ลิปตพัลลภ คอยหนุนเรื่องเงินทุน

โดยในการเลือกตั้งปี 2531 พรรคปวงชนชาวไทย สร้างกระแส “บิ๊กซันฟีเวอร์” ได้ สำเร็จ ด้วยการได้ที่นั่งในสภา ถึง 17 ที่นั่ง โดยส่วนมาก ได้ที่นั่งในภาคอิสานตอนบน ถึง 11 ที่นั่ง ซึ่งนำโดย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ที่พึ่งลงสมัคร ส.ส. สมัยแรก เช่นเดียวกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, จำลอง ครุฑขุนทด, วิเชียร ขาวขำ เป็นต้น

Bigsun02.jpg

เป็นที่น่าสนใจว่า ทำไม พรรคปวงชนชาวไทย ที่ก่อนหน้านั้น ดูเป็นพรรคเล็กๆ ที่ไม่มีอะไร แต่สามารถเข้าสภาในจำนวน สิบกว่าที่นั่งได้ และกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญในสภา....

ส่วนหนึ่ง ด้วยกระแส “เบื่อเปรม” ที่เริ่มระงมชึ้นเรื่อยๆ จากการ “อยู่ยาว” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ. เปรม และ การที่ พล.อ. อาทิตย์ ได้รับความนิยมมากในแทบอิสานตอนบน เนื่องจากเคยสู้รบกับ ผกค. และ คะแนนสงสาร จากกรณีถูกปลดแบบกระทันหันในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ทั้งนี้ทั้งนั้น รวมไปถึง คำขวัญหาเสียงของพรรคที่ว่า "นายก ต้องมาจากการเลือกตั้ง" ด้วย ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของพรรคในเวลานั้น

Bigsun03.jpg

พรรคแตก (แต่ไม่) แยกทาง

หลังจากการเลือกตั้งปี 2531 เสร็จสิ้น พรรคได้เป็นฝ่ายค้านร่วมกับ พรรครวมไทย ของ ณรงค์ วงศ์วรรณ พรรคประชาชน ของ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ พรรคประชากรไทย ของ สมัคร สุนทรเวช เป็นต้น 

ต่อมาเมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการฟอร์มคณะรัฐมตรี ชุดใหม่ และได้ดึง พรรคปวงชนชาวไทยเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งได้ตั้ง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก หัวหน้าพรรค รับตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม ซึ่งนี่จึงกลายเป็นชนวนสำคัญ ที่เร่งให้ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยึดอำนาจในปี 2534

Bigsun05.jpgBigsun04.jpg

ภายหลังจากการยึดอำนาจ และมีสัญญาณว่า จะมีการตั้ง “พรรคทหาร” เกิดขึ้น ในเวลานั้น พล.อ. อาทิตย์เลยลาออกตำแหน่ง และเข้าร่วมเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคสามัคคีธรรม เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคหลายๆ คนที่ ออกจากพรรคแล้วไปร่วมงานกับพรรคสามัคคีธรรม

แต่ก็ใช่ว่า การที่พรรคสูญเสียคนไปจากพลังดูด ก็ไม่ได้ทำให้พรรคหาย ในเวลาเดียวกันก็ได้เชิญ พ.อ. (พิเศษ) พล เริงประเสริฐวิทย์ มาเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อรักษาพรรคไว้

โดยในการเลือกตั้ง มีนาคม 2535 พรรคได้แค่ที่นั่งเดียวในสภาฯ คือ ตัว พ.อ. (พ) พล เอง และ ได้เข้าร่วมเป็นฝ่ายค้าน

Bigsun06.jpg

ชาติพัฒนา เพื่อพัฒนาชาติ(ชาย)

57453664_2740022039403255_2567084940453740544_n (1).jpg

ภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ซึ่งในเวลานั้น พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องลี้ภัยการเมืองที่อังกฤษ และพ้นข้อกล่าวหา กรณีร่ำรวยผิดปรกติ ได้กลับมาประเทศไทย และ ประกาศเข้าร่วมกับพรรคปวงชนชาวไทย พร้อมกับเปลื่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคชาติพัฒนา และได้พูดไว้ในวันเปิดตัวของพรรคว่า 


"ผมกลับมา เพื่อคนรุ่นใหม่"


โดยมี ส.ส. ที่เดิมเคยอยู่หลายพรรคมาเข้าร่วม โดยส่วนมาก มาจากพรรคชาติไทย เช่น กร ทัพพะรังสี, เดช บุญหลง, สุชน ชามพูนท, สมาน ภุมมะกาญจนะ, นิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์, ปัญจะ เกสรทอง และพรรคสามัคคีธรรม เช่น ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธุ์, ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ, วุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย, สนธยา คุณปลี้ม, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, จำลอง ครุฑขุนทด, พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก โดยเฉพาะ พล.อ. อาทิตย์ ถือว่าเป็นการกลับมาสู่พรรคเดิมอีกครั้ง เพราะเป็นพรรคการเมืองแรกที่แจ้งเกิด “บิ๊กซัน” ในสนามการเมืองระดับชาติ เช่นเดียวกับทั้ง สุวัจน์ และ จำลอง

Bigsun07.jpg

โดยในการเลือกตั้งครั้งแรก ในนามพรรคชาติพัฒนา (การเลือกตั้ง กันยายน 2535) ที่มี พล.อ.ชาติชาย เป็นหัวหน้าพรรค พรรคได้รับเลือกตั้งถึง 60 คน จาก 360 ที่นั่ง เป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยในปีนั้น พรรคเป็นฝ่ายค้านก่อนในระยะเริ่มแรก ก่อนที่ในเวลาต่อมา เมื่อรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ของ ชวน หลีกภัย ต้องประสบปัญหาเมื่อ พรรคความหวังใหม่ (53 ที่นั่ง) ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคชาติพัฒนาเลยได้ร่วมรัฐบาลแทน โดยมี ส.ส. ของพรรค หลายคนได้รับตำแหน่ง เช่น 

พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ที่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี, ประจวบ ไชยสาสน์ ที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯ และสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น), กร ทัพพะรังสี และ ปัญจะ เกสรทอง ที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการจัดตั้งกลุ่ม 16 ที่รวบรวม ส.ส. เพื่อตรวจสอบรัฐบาลในขณะนั้น โดยมีหัวหน้ากลุ่มอย่าง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคชาติพัฒนา และสมาชิกของพรรคหลายคน ก็อยู่รวมในนั้น เช่น ว่าที่ ร.ต. ไพโรจน์ สุวรรณฉวี, จำลอง ครุฑขุนทด, สนธยา คุณปลื้ม, ประวัฒน์ อุตตะโมต เป็นต้น โดยผลงานไม้ตายที่สำคัญ คือกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ กรณี สปก.4-01 จน สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต้อง ลาออกจากตำแหน่ง และกลายเป็นตัวเร่งให้ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภา 

สูญเสีย และ ต่อสู้?

ชาติพัฒนา2.jpg

หลังจากนั้น ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งต่อมา (2538 และ 2539) จำนวนที่นั่งของพรรคอยู่ในเกณฑ์ระดับ 50 กว่าที่นั่งทั้งสอง

โดยสถานะของพรรคในการเลือกตั้ง 2538 คือฝ่ายค้าน ร่วมกับ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีธรรม และ พรรคเอกภาพ

และในการเลือกตั้งปี 2539 พรรค ได้ร่วมรัฐบาลของ พรรคความหวังใหม่ ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจ ก็คือกรณีของ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม 16 ซึ่งมีสมาชิกของพรรคอยู่ในกลุ่มอย่างหลีกเลื่ยงไม่ได้ จน พล.อ.ชวลิต ต้องลาออกจากตำแหน่ง

พรรค และ พรรคความหวังใหม่ เลยมีมติที่จะสนับสนุนให้ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ด้วยเสียงของพรรคความหวังใหม่ (125 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนา (52 ที่นั่ง) พรรคประชากรไทย (18 ที่นั่ง) และ พรรคมวลชน (2 ที่นั่ง) รวม 197 เสียง

Chatchai01.jpg

ซึ่งขณะเดียวกัน ทางฝากฝั่งฝ่ายค้านก็สามารถรวมเสียงได้ 196 เสียง สุดท้าย เลยโดนฤทธิ์ “กลุ่มงูเห่า” ในพรรคประชากรไทย ทำให้พลิก สถานการณ์กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านในบัดดล

ต่อมา เมื่อ พล.อ. ชาติชาย ถึงแก่อนิจกรรม ในปี 2541 กระแสการเปลื่ยนแปลงก็มาถึง.....

เมื่อพรรค มีมติให้ กร ทัพพะรังสี ซึ่งถือว่าใกล้ชิด พล.อ. ชาติชาย ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น เลขาธิการพรรค...

สัญญาณ แห่ง ความเสื่อมสูญ กำลังจะมาถึง?

ยุคใหม่ที่แตกดับ

chatpattana01.jpg

ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 2544 พรรคเองเสีย ส.ส. คนสำคัญ ไปหลายคน โดนส่วนหนึ่ง คือการเข้าร่วมกับพรรคที่เกิดใหม่ในเวลานั้นอย่าง พรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็น วัฒนา เมืองสุข, ยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ, สมาน ภุมมะกาญจนะ, ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ, ว่าที่ ร.ต. ไพโรจน์ สุวรรณฉวี, จำลอง ครุฑขุนทด เป็นต้น อย่างไรก็ดี พรรคก็ยังได้จำนวน ส.ส. ทั้งหมด 29 คน โดย ส.ส. เขตที่ได้ถึง 24 คน ไม่ว่าจะเป็น สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล (ปทุมธานี เขต 1), ธวัชชัย อนามพงษ์ (จันทบุรี เขต 1), นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล (อุดรธานี เขต 3) และฐานที่มั่นอย่างใน นครราชสีมา พรรคกวาด 10 จาก 17 ที่นั่ง

แต่ อย่างไรก็ดี ตัวพรรคเองเริ่มระส่ำระส่ายมากขึ้น เมื่อ กร ทัพพะรังสี ลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรค และต่อมาก็ได้เข้าร่วมกับ พรรคไทยรักไทย จนกระทั่ง ในการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 พรรคมีมติให้ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ก่อนที่จะมีคำสั่งนายทะเบียนพรรคการเมือง ยุบพรรคชาติพัฒนา ในวันที่ 13 ตุลาคม 2547

ปิดฉาก 22 ปี นับตั้งแต่พรรคปวงชนชาวไทยไว้แค่นั้น....

วันนี้ของ(อดีต) ชาติพัฒนา

ถึงแม้ว่าวันนี้จะมี “ชาติพัฒนา” ในรูปแบบใหม่ (ที่จะว่าไป ก็ไม่น่าจะใช่ขนาดนั้น เหตุเพราะ เริ่มต้นในนาม พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา) แต่สถานภาพของพรรค ไม่ได้มีอำนาจต่อรอง หรือเป็นพรรคขนาดกลางค่อนใหญ่เหมือนแต่ก่อน....

แล้ววันนี้ แกนนำพรรคในวันวาน ทำอะไรกันอยู่?

  1. พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก - อดีต ส.ส.เลย ผู้โด่งดัง และ เป็นเหมือนสัญลักษณ์ แห่ง “ปวงชนชาวไทย” - “บิ๊กซัน” ผู้นี้เสียชีวิตไปปี 2558 แต่กระนั้นก็ตาม ลูกชายอย่าง พล.อ. ฐิติวัจน์ กำลังเอก ก็เข้าร่วมกับพรรคชาติพัฒนา ด้วยความสนิทสนม และ นับถือ สุวัจน์ ประหนึ่ง “พี่ชาย”
  2. พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ - อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทย หนึ่งในนักการเมืองแห่งซอยราชครู ผู้มีนโยบาย “เปลื่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” และมีประโยคที่ถึงขนาดว่า แอ๊ด คาราบาว นำไปแต่งเป็นเพลงอย่าง “โนพล๊อบเบลม” ผู้กลับมาตั้งพรรค สู้กะอดีตพรรคที่ก่อตั้งอย่างพรรคชาติไทย - “น้าชาติ” เสียชีวิตในระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. โคราช เมื่อปี 2541 และกลายเป็นจุดเปลื่ยนการเคลื่อนไหวสำคัญของพรรค
  3. สุวัจน์ ลิปตพัลลภ - ลูกชายวิศว์ ลิปตพัลลภ เจ้าของ ประยูรวิศว์ก่อสร้าง ได้รับเลือก ส.ส. สมัยแรกในปี 2531 - เป็นแคนนิเดดนายกรัฐมนตรีของพรรคชาติพัฒนา และถือกันว่า นี่คือ “หัวหน้าพรรคตัวจริง” นอกจากนี้ยังถือว่าเป็น “เจ้าพ่ออีเว้นต์กีฬา” ขนานแท้ เพราะ เคยเป็นนายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสฯ และ ประธานสโมสรฟุตบอลนครราชสีมา เอฟซี อีกด้วย
  4. จำลอง ครุฑขุนทด - ทนายความหนุ่มชาวด่านขุนทด ผู้เริ่มต้นชีวิตการเมืองกับพรรคชาติไทย แต่ได้เป็น ส.ส. สมัยแรก พร้อมๆ กับบิ๊กซัน - หลังจากพ้นโทษแบน 5 ปี จากกรณี 111 ก็กลายเป็นคนอื่นคนไกล? เพราะเมื่อสุดท้าย จำลองก็เข้าร่วมกับ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อหนุน “ลุงตู่” พล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา สู่ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ “คนโคราชคือกัน”
  5. กร ทัพพะรังสี - ทายาทอีกคนแห่งซอยราชครู และถือว่าใกล้ชิด “น้าชาติ” ตั้งแต่อยู่พรรคชาติไทย ลาออกจากพรรคเพื่อมาทำงานการเมืองร่วมกัน - แทบจะเลิกเล่นการเมืองแบบถาวรไปแล้ว โดยปัจจุบันรับตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัทที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ พร้อมกันนี้ยังเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบันรวม 3 วารา เข้าให้แล้ว แถมยังชอบแบดมินตันจนถึงขั้น ได้รับเลือกเป็น ประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก อีกด้วย
  6. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ - น้องชาย พล.ต.อ. สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ เข้าสู่สนามการเมืองด้วยการเป็น ส.ส.ชลบุรี ปี 2529 พรรคชาติประชาธิปไตย ด้วยการสนิทสนมกับ “กำนันเป๊าะ ” สมชาย คุณปลี้ม ก่อนที่จะย้ายมาสมัคร และ เป็น ส.ส.เชียงใหม่ ในปี 2535 ที่พรรคก่อตั้ง เขาเป็นหนึ่งในรองหัวหน้าพรรค และเป็นแกนนำ “กลุ่ม 16” ที่มีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาล ประชาธิปัตย์ - กำลังจะเป็นว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  7. ปวีณา หงสกุล - เลขาฯพรรค คนสุดท้าย ผู้มีศักดิ์เป็นน้องสาว อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาล และเป็น ส.ส. ชาติพัฒนาเพียงคนเดียว ในประวัติศาสตร์ ที่ได้รับเป็น “ส.ส.กรุงเทพมหานคร” - เป็นอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และ ทุกคนจะรู้จักดีในการทำหน้าที่ ประธานมูลนิธิของเธอเอง ที่มีพันธกิจในการช่วยเหลือเด็กและสตรี

ตอนหน้า จะมาพูดถึง “ทานตะวัน ที่ไม่เฉิดฉาย” พรรคความหวังใหม่

อ้างอิง

ราชกิจจานุเบกษา: ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การยุบพรรคชาติพัฒนาเพื่อรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย

พล.อ.ฐิติวัจน์ ลูกชาย ‘อาทิตย์ กำลังเอก’ ยัน! ซบชาติพัฒนา มาฝึกงานการเมืองสนามจริง

ผู้นำจานด่วนฉายา'ทักษิณ'

ชาติพัฒนาเลื่อนวันยุบพรรค

ราชกิจจานุเบกษา: ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนช่าวไทยเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค ชื่อพรรค และภาพเครื่องหมายพรรค

เว็บไซต์พรรคชาติพัฒนา

  • กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. (2535). เทศาภิบาล ฉบับพิเศษ เลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535. : กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง
  • วิษณุ เครืองาม. (2557). เล่าเรื่องผู้นำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 175-177

วิพิพีเดีย: พรรคชาติพัฒนา (พ.ศ. 2535)

ราชกิจจานุเบกษา: ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคปวงชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค

ราชกิจจานุเบกษา: ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง

ย้อนรำลึก 'บิ๊กซัน' จากเจิดจรัส สู่อาทิตย์อัสดง

"แฉลึก" ที่มา 2กลุ่มการเมือง "งูเห่า" แทงหลังนายเก่า คบคิดศัตรู สู่ย้ายพรรค



ชาติ ดุริยะ
เด็กสายวิทย์ที่ดูเรียนผิดสายพบเห็นได้ตามกลุ่มปรัชญาการเมืองทั่วๆไป
1Article
0Video
5Blog