แม่ค้า
ตัวละครอันเป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้คือ “ย้อย” ย้อยเป็นแม่ค้า ครอบครัวของย้อยมีกิจการร้านชำใหญ่โตที่สุดในตลาดชุมแสง นครสวรรค์ นอกจากนี้ย้อยออกเงินกู้เก็บดอกเบี้ยแพงๆ ไม่มีใครในย่านนั้นชอบย้อย เพราะย้อย “เค็มและโหด” ครอบครัวของย้อยยังมีโรงสีใหญ่โตรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเอามาสีขายที่ร้าน และส่งไปขายตามที่ต่างๆ โดยมี “เฮีย” หรือผัวของย้อย และ “อาซา” ลูกชายคนที่สามเป็นคนดูแล ส่วนลูกชายคนโตไปเป็นทหารเกณฑ์ คนรองบวช คนเล็กไปเรียนหนังสือที่ปากน้ำโพ โดยรวมแล้วก็คือครอบครัวของย้อยรวย และดูเหมือนว่าย้อยจะเป็นผู้ควบคุมความเป็นไปของครอบครัว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและชีวิตของลูกๆ ส่วนผัวนั้นก็ดูจะไม่มีปากเสียงใดๆ มีท้วงติงย้อยในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ในที่สุดก็ปล่อยให้ย้อยทำตามใจ ย้อยเป็นสะใภ้ในครอบครัวคนจีนที่มีลูกชายถึงสี่คน ซึ่งนั่นก็น่าจะทำให้พ่อแม่สามีปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก แต่เรื่องก็ไม่เป็นเช่นนั้น
ย้อยเป็นผู้หญิงไทยที่มาเป็นสะใภ้บ้านคนจีน ย้อยมีปมผิดบาปอยู่ในใจตลอดมาเพราะย้อยฆ่าแม่ผัวตาย ละครย้อนให้คนดูเห็นว่าย้อยพยายามทำตัวเป็นสะใภ้ที่ดี ขยันขันแข็ง แต่ด้วยความเป็นคนไทยย้อยจึงถูกแม่ผัวชาวจีนที่รังเกียจคนไทยว่าขี้เกียจโขกสับด่าทออยู่ตลอดเวลา แม่ผัวไม่สบายย้อยก็ป้อนข้าวป้อนน้ำ แต่ก็ยังไม่วายถูกด่าไม่จบสิ้นว่าย้อยเป็นกะหรี่ เป็นผู้หญิงโสโครก ทั้งๆที่ย้อยไม่ได้มีอาชีพนั้น ย้อยโกรธจนลืมตัวเอาหมอนอุดปากอุดจมูกแม่ผัวจนตาย และนั่นก็คือความผิดบาปที่ติดค้างอยู่ในใจย้อยตลอดมาโดยไม่มีใครรู้
และไม่รู้ว่าเพราะความรู้สึกผิดบาปนี้หรือไม่ที่ทำให้ย้อยพยายามต่อสู้ดิ้นรนสร้างเนื้อสร้างตัวร่วมกับผัวมาจนร่ำรวย และพยายามอย่างยิ่งที่จะทำทุกอย่างเพื่อ “รักษาวงศ์ตระกูล” ของผัวไว้อย่างสุดความสามารถ แม้ว่าจะต้องร้ายกาจกับทุกคนก็ตาม
กะหรี่
แต่แล้วความพยายามของย้อยก็พังทลายเมื่อ “อาไช้” ลูกชายคนโตผู้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูลตามระบบความคิดของครอบครัวคนจีนที่ย้อยได้รับเอามาเป็นระบบคิดของตนพาเมียที่เป็น “กะหรี่” เข้าบ้าน ด้วยเหตุนี้ และอาจรวมทั้งคำด่าว่าเป็นกะหรี่ที่แม่ผัวเคยด่าย้อยมาตลอดจนย้อยฝังใจ ได้ทำให้ย้อยเกลียด “เรณู” สะใภ้กะหรี่ตั้งแต่แรกเจอ สำหรับย้อยเรณูคือผู้หญิงชั้นต่ำที่หวังจะมาฮุบสมบัติที่เธอสร้างมา รวมทั้งย้อยได้หมั้นหมาย “พิไล” ให้กับอาไช้ พิไลเป็นหญิงสาวฐานะดี แม้จะเป็นลูกเมียน้อยแต่เตี่ยก็รักและดูแลเป็นอย่างดี รวมทั้งพิไลมีการศึกษาดี ย้อยจึงเชื่อว่าพิไลจะเป็นสะใภ้ที่เชิดหน้าชูตาวงศ์ตระกูลได้ ย้อยเสียหน้าที่อาไช้ไม่ยอมแต่งงานกับพิไลจนถึงกับต้องลงทุนขอให้ “อาตง” ลูกชายคนรองสึกจากพระมาแต่งกับพิไลแทน อาตงก็ยอมทั้งที่ไม่เต็มใจ ย้อยจึงเกลียดเรณูหนักขึ้นและทำทุกวิถีทางที่จะกำจัดเรณูให้ได้
แต่เรณูก็ร้ายไม่แพ้กัน เพราะเธอทำเสน่ห์ใส่อาไช้และโกหกว่าตั้งท้องเพื่อความมั่นใจว่าอาไช้จะไม่ทอดทิ้งเธอ แม้ว่าเรณูจะรักอาไช้จริงแต่เธอก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต ก่อนหน้านี้เรณูถูกพี่เขยข่มขืนจนมีลูก คนแวดล้อมโดยเฉพาะพี่สาวรังเกียจเธอจนแม่เธอเองต้องขอให้เธอออกจากบ้านไป เธอจึงต้องมาเป็นกะหรี่ เมื่อมาเจอแม่ผ้วอย่างย้อย เธอจึงสู้สุดชีวิตเพื่อที่จะมีชีวิตในฐานะเมียของอาไช้ให้ได้ เมื่ออาไช้กลับเข้ากรมทหาร เธอก็พยายามทำขนมขายเพื่อเลี้ยงชีพ รวมทั้งเพื่อให้คนในตลาดเห็นว่าเธอเป็นคนขยันขันแข็ง เธอทำทุกทางรวมทั้งสร้างภาพการเป็นผู้ถูกกระทำเพื่อให้คนในตลาดมาเป็นพวกเธอ แต่ย้อยก็ไปรู้มาอีกว่าเรณูเคยมีลูกมาก่อน ย้อยจึงยังคงเดินหน้าหาทางกำจัดเธอไม่หยุด เธอจึง “ทำของ” ใส่ย้อยเพื่อให้ย้อยหันมาทำดีกับเธอ และเมื่อผนวกกับความเป็น “คนดี” โดยเนื้อแท้ของเรณู ย้อยจึงรักเธอในที่สุด
คนดี ผู้ชาย
ความพยายามในการรักษาวงศ์ตระกูลของย้อยเป็นความผิดหรือไม่ ย้อยเค็มและโหดก็เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับครอบครัว ย้อยอยากได้ลูกสะใภ้อย่างพิไลก็เพื่อเชิดหน้าชูตาวงศ์ตระกูล ย้อยเกลียดสะใภ้กะหรี่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เพราะอาชีพกะหรี่คืออาชีพที่น่ารังเกียจที่แม้ขนาดเพื่อนกะหรี่ของเรณูยังพูดว่า “บนโลกใบนี้มันยังมีอะไรต่ำกว่าอาชีพของเราอีกมั้ย” แต่เพราะเหตุใดย้อยจึงดูเป็นคนเลว
คำตอบก็คือเพราะละครเรื่องนี้ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เกือบครึ่งเรื่องแรกของละครสร้างให้ย้อยเป็นคู่ตรงข้ามกับการเป็น “คนดี” และบรรดาคนดีทั้งหลายก็คือลูกผัวที่สยบยอมในอำนาจของย้อย ลูกผัวของย้อยไม่มีปากเสียง มีความเห็นอะไรก็ถูกย้อยตีตก ย้อยจึงดูเป็นคนประเภทอำนาจนิยมโดยมีความดีของลูกผัวที่มาในนามของการไม่มีปากเสียงเป็นตัวขับเน้น และขับเน้นมากยิ่งขึ้นเมื่อลูกผัวแสดงท่าทีผิดหวังต่อการตัดสินใจของย้อยภายใต้การไม่มีปากเสียงนั้น และเมื่อการตัดสินใจแบบอำนาจนิยมของย้อยมีความผิดพลาด ย้อยยิ่งดูเป็นคนไม่ดีในสายตาคนดู
เมื่อเรณูปรากฏตัวขึ้น มีเพียงย้อยคนเดียวที่รังเกียจเธอ หากเรณูเป็นกะหรี่ทั่วไปไม่มาข้องเกี่ยวกับชีวิตย้อย ย้อยก็คงไม่ไปสนใจ แต่กะหรี่คนนี้กำลังจะมาเป็นสะใภ้ใหญ่ ย้อยจึงยอมไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ลูกผัวของย้อยสามารถยอมรับกะหรี่เข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัวได้อย่างน่าชื่นตาบาน การไม่ยอมรับกะหรี่มาเป็นสะใภ้ของย้อยจึงกลายเป็นความผิดอีก เพราะ “ผู้ชายดีๆ” เขายอมรับกันได้ทุกคน แถมยังเข้าอกเข้าใจช่วยเหลือเกื้อกูลอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายที่ฉลาดและแสนดีอย่างอาซาที่รู้ตลอดว่าเรณูทำอะไรไว้บ้างก็ยังเข้าใจและยอมรับได้เป็นอย่างดี ย้อยจึงเป็นตัวละครที่ละครเรื่องนี้ผลักให้ไปอยู่ตรงข้ามกับผู้ชายดีๆ ในเรื่อง
เรณูก็ถูกทำให้เป็นคู่ตรงข้ามกับย้อยตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ละครเรื่องนี้ก็ทำให้คนในครอบครัวย้อยและคนในตลาด รวมทั้งคนดู เห็นว่าเรณูเป็นคนดี แม้ว่าเรณูจะทำคุณไสยใส่อาไช้และย้อย แต่ละครเรื่องนี้ก็พยายามบอกว่าเนื้อแท้ของเรณูเป็นคนดี ที่เธอทำเพราะมีเหตุผลของการกระทำ มีเพียงย้อยคนเดียวที่มืดบอดมองไม่เห็นความดีของเรณู ย้อยเปลี่ยนมาทำดีกับเรณูได้ก็เพราะเรณูทำของใส่ ดังนั้นย้อยก็ยังคงมืดบอดดังเดิม เพราะเธอไม่ได้เรียนรู้ความดีของเรณูที่ละครพยายามจะบอก ย้อยจึงเป็นคู่ตรงข้ามกับความดีของเรณู และการเป็นคู่ตรงข้ามกับเรณูก็ยิ่งตอกย้ำการเป็นคู่ตรงข้ามกับผู้ชายดีๆอย่างลูกผัวของเธอให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
ทั้งหมดนี้ก็คือการที่ครึ่งเรื่องแรกของละครเรื่องนี้ผลักให้ย้อยจนมุม เพื่อที่จะทำให้เกิดความตรงข้ามอย่างสุดโต่งกับครึ่งเรื่องหลังและตอนจบที่ย้อยเกิดการเรียนรู้เรื่องความดีจน “สำนึกผิด” ในที่สุด ทั้งๆ ที่ “ความไม่ดี” ทั้งหลายก่อนหน้านี้คือความพยายามในการรักษาวงศ์ตระกูลของผัว
แม้ว่าละครเรื่องนี้จะทำให้ผู้ชมเห็นว่าผู้ชายในบ้านของย้อยดูจะไม่มีส่วนในการกำหนดความเป็นไปในครอบครัว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ย้อยทำก็เพื่อครอบครัวที่ประกอบไปด้วยผู้ชายเหล่านี้ เวลาเธอทำผิดพลาดเธอก็จะได้รับการสั่งสอนจากผัวผู้ซึ่งดูจะเป็นคนที่รู้แจ้งถึงสัจธรรมของโลกอยู่ตลอดเวลา และความผิดพลาดนั้นก็เกิดจากการไม่เชื่อผัว (บางครั้งก็รวมถึงลูกชายด้วย) ตั้งแต่แรก ในที่สุดย้อยก็ตกอยู่ใต้อำนาจความคิดของผัวเพราะแม้เมื่อผัวตายไปแล้วเธอก็ยังต้องการคำปรึกษาของเขา หลายครั้งที่ย้อยมีปัญหาเธอก็จะมาระบายความในใจกับรูปภาพที่ไม่มีชีวิตนั้น และคิดว่าถ้าผัวยังอยู่ก็คงจะมีทางออกให้เธอ
ผู้ชายในเรื่องนี้จึงดูเหมือนไม่ค่อยมีตัวตน แต่มีอำนาจในการกำกับความคิดของผู้หญิง แม้กระทั่งหมอไสยศาสตร์ที่เรณู ย้อย และพิไล ไปขอความช่วยเหลือ แม้จะเป็นคนละคนกัน แต่หมอเหล่านั้นก็ดูจะรู้แจ้งไปในทางเดียวกันว่าคุณไสยนั้นมันใช้ได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่การคิดดีปฏิบัติดี (ซึ่งไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่) ต่างหากเล่าคือสิ่งที่ควรยึดถือ ผู้ชายในเรื่องนี้จึงดูจะเป็นผู้ที่รู้แจ้งในสัจธรรม ขณะที่ผู้หญิงก็ดูจะวนเวียนอยู่กับ “กรรม” จนต้องให้ผู้ชายมาปลดปล่อย
และนี่ก็คือสิ่งที่กำกับความคิดของตัวละครในเรื่อง และก็คงจะกำกับความคิดของผู้ชมไปด้วยโดยผู้ชมอาจจะไม่รู้ตัว