ไม่พบผลการค้นหา
อดีต พธม.เสนอ 'ปฏิวัติ' รีบถวายอำนาจคืนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทหารกลับกรมกอง ก่อนตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ทำกติกาที่เป็นธรรม ด้าน 'ประวิตร' ยันไม่มีทาง

สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 

ช่วงหนึ่ง สนธิ กล่าวว่า สำหรับตนการปฏิวัติไม่ใช่ความเลวร้าย ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญให้ทุกคนมีส่วนร่วม ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แฟร์ ต้องมีรัฐบาลแห่งชาติที่ไม่ขึ้นกับใครเลย

ใครก็ตามที่คิดปฏิวัติ อย่าทำพลาดแบบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ยึดอำนาจเข้าตัวเอง แล้วต่อยอดอำนาจ แต่ต้องเข้ามาแล้วเอาความสงบเข้าสู่บ้านเมือง ด้วยการรีบถวายอำนาจคืนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนเชื่อว่าพระองค์ไม่ใช้อำนาจนี้ พระองค์จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาทันที

รัฐบาลแห่งชาติมีหน้าที่ 2 ประการ

  • 1. หาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 
  • 2. รีบดำเนินการทางการเมือง ด้วยการเอาทุกฝ่ายเข้ามา เพื่อร่วมร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ มาคุยกันว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ให้เวลา 2 ปี เอาคนจากทุกพรรคมาเป็นรัฐมนตรี แต่ต้องไม่มีคนชื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ และ วิษณุ เครืองาม เข้ามาเกี่ยวข้อง อันนี้จะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สนธิ กล่าวอีกว่า เราต้องมาตกลงกันก่อน ว่าจะอยู่กันยังไง ร่างหลักการปกครองออกมาสัก 20 ข้อ แล้วไปทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ พอเป็นรูปเป็นร่าง ถึงค่อยร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้อกับหลักการปกครองต่างๆ เหล่านี้

เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปฏิวัติตัวเอง ได้หรือไม่ นายสนธิ กล่าวว่า ปฏิวัติตัวเองยิ่งฉิบหาย รัฐบาลแห่งชาติต้องไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องเลย คสช. ถึงเวลากลับบ้านได้แล้ว

“ยึดอำนาจ ถวายอำนาจให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วกลับกรมกอง พระองค์ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โอนอำนาจให้รัฐบาลแห่งชาติไปเลย ผมไม่อยากพูดว่านี่เป็นแนวทางหนึ่ง แต่เป็นแนวทางเดียว ตอนแรกคนคงต่อต้านเยอะ แต่เมื่อโอนอำนาจทั้งหมดให้รัฐบาลแห่งชาติ คนก็ไม่ติดใจว่าสืบทอดอำนาจ” นายสนธิ ระบุ


ประวิตร ยันไม่มีทาง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี สนธิ เสนอทางออกประเทศให้มีการปฏิวัติ เปิดทางรัฐบาลแห่งชาติว่า ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่า ไม่มีการปฏิวัติ


ศรีบอกมีกลิ่น

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ว่า การที่นักการเมืองรอไม่ได้และทำให้เกิดการขยายความขัดแย้ง ดันมวลชนของตัวเองออกมา ทั้งฝ่ายเยาวชน และฝ่ายปกป้องสถาบัน ซึ่งจะเป็นการปูทางให้นำไปสู่อำนาจพิเศษ คือ การออกมาทำรัฐประหารของทหารได้ง่ายขึ้น เพราะทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหารที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่ามีเหตุผล 3 ข้อ 1.เกิดความขัดแย้งในสังคมจนระงับไม่ได้ 2.สถาบันถูกก้าวล่วง จาบจ้วง 3.สภาวะเศรษฐกิจขอประเทศตกต่ำ เป็นปัญหาของสังคม ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการทำรัฐประหาร ในตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายสิบปีก็เป็นอย่างนี้

  • ภาพจากเฟซบุ๊ก คุยทุกเรื่องกับสนธิ

“ดังนั้นยิ่งเราทำอย่างนี้ โดยผลักดันให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาปะทะกัน โอกาสที่จะเชื้อเชิญให้อำนาจพิเศษเข้ามาได้ง่ายขึ้น และเมื่อถึงวันนั้น ลองคิดดูว่า 2 มือเปล่า จะไปสู่อะไรกับคนที่มีอาวุธ แล้วในที่สุดประเทศเขาเราก็จะถอยหลังลงคลอง ล้าหลังต่อไป” ศรีสุวรรณ กล่าว

เมื่อถามว่าสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตร ออกมาแสดงความเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ถึงจุดที่จะต้องปฏิวัตินั้น ศรีสุวรรณกล่าวว่า ก็มีกลิ่น อย่างที่ตนบอกว่าปัจจัย 3 ข้อที่พูดมาข้างต้น ซึ่งเป็นเหตุผลของการปฏิวัติ ซึ่ง ณ วันนี้ เหตุผลเหล่านี้ พร้อมและสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ว่าผู้มีอำนาจยังละล้าละลังอยู่ ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ


กระทรวงต่างประเทศเยอรมนีแถลงกรณีพระมหากษัตริย์ไทย

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันที่ 28 ต.ค. อ้างแหล่งข่าวภายในกระทรวงต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีเชื่อว่ากษัตริย์ไทยยังไม่ได้ละเมิดข้อห้ามของเยอรมนี เกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชภารกิจทางการเมืองขณะประทับอยู่ในเยอรมนี 

รายงานระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีได้ชี้แจงต่อรัฐสภา (Bundestag) เกี่ยวกับประเด็นคำถามของกลุ่มราษฎรที่เดินขบวนไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ต.ค. แหล่งข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า กระทรวงต่างประเทศเยอรมนีได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของรัฐสภาแล้ว โดยรัฐบาลเบอร์ลินเชื่อว่า กษัตริย์ไทยยังมิได้ละเมิดต่อข้อห้ามของเยอรมนี เกี่ยวกับประเด็นการห้ามปฏิบัติพระราชภารกิจทางการเมืองขณะเสด็จประทับในแผ่นดินเยอรมัน

รัฐบาลเยอรมนีได้ชี้แจงต่อรัฐสภาว่า การปฏิบัติภารกิจทางการเมืองของกษัตริย์ไทยเป็นครั้งคราวระหว่างเสด็จประทับในเยอรมนีนั้นเป็นสามารถกระที่ทำได้ แต่จะผิดต่อข้อห้ามต่อเมื่อมีการปฏิบัติภารกิจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องขณะอยู่ในเยอรมนี ซึ่งรัฐบาลเยอรมนเชื่อว่าที่ผ่านมายังไม่มีการละเมิดกฎดังกล่าว

"มุมมองของรัฐบาลเยอรมนีขณะนี้คือ รัฐบาลยังไม่คิดว่ากษัตริย์ไทยได้ปฏิบัติภารกิจทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะประทับในเยอรมนี" รายงานรอยเตอร์ระบุ

เมื่อถามถึงสถานะของกษัตริย์ไทย รัฐบาลเยอรมนีชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศว่า พระองค์มีวีซ่าที่อนุญาตให้สามารถประทับในเยอรมนีได้หลายปี และพระองค์มีเอกสิทธิคุ้มกันทางการทูตในฐานะประมุขของรัฐ และระบุว่าการที่เยอรมนีจะยกเลิกวีซ่าดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาทางการทูตใหญ่หลวงตามมา นี่เป็นเรื่องท้าทายสำหรับเยอรมนี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: