ไม่พบผลการค้นหา
'หอการค้า' ประเมินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐฯ หากอัดฉีดเม็ดเงินเต็มจำนวน คาดส่งจีดีพีทั้งปีโต 3 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุด รัฐบาลออกชุดนโยบายดันเศรษฐกิจประเทศด้วยเม็ดเงินอัดฉีดเข้าระบบกว่า 300,000 ล้านบาท ด้วย 3 มาตรการสำคัญ อุ้มเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง กระตุ้นการใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศ และเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับประชาชน

โดยตามข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภาคประชาชนและภาคธุรกิจมองว่านโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ชุดนโยบายดังกล่าว อาจช่วยพยุงให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3

'เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์' อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจประชาชนทั่วไปทั่วประเทศ จำนวน 428 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 47.5 เห็นด้วยอย่างมากกับนโยบายที่ออกมาของภาครัฐ เพราะมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์

นอกจากนี้นโยบายที่ออกมายังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเกษตร อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนก็มองว่า นโยบายที่ออกมาไม่สามารถช่วยประชาชนได้ทุกกลุ่ม และการให้เงินกับผู้มีรายได้น้อยโดยตรงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด รังแต่จะทำให้เกิดวังวนการไม่พึ่งพาตนเอง

นโยบายที่่น่าพึงพอใจ

จากชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา ภาคประชาชนทั่วไปกว่าร้อยละ 88.3 มองว่า การเพิ่มเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยเพิ่ม 300 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี และ เพิ่มเงินอีก 200 บาท/เดือน ให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี มีประโยชน์ ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 93.4 มองว่า การเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุ 500 บาท/เดือน เป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน

สำหรับภาคเกษตรกร มาตรการการสนับสนุนต้นทุนทางการผลิตเพื่อปลูกข้าวนาปี และการพักหนี้เงินต้นกองทุนหมู่บ้าของ ธ.ก.ส. และออมสิน เป็นมาตรการที่เกษตรกรมองว่าตนจะได้รับประโยชน์สูงสุดในอัตราร้อยละ 60.7 และ 69.3 ตามลำดับ

ด้านผลการสำรวจตัวอย่างนักธุรกิจหอการค้าทั่วประเทศจำนวน 83 ราย 'เสาวณีย์' กล่าวว่า ร้อยละ 43.5 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริ�� เนื่องจากสิ่งที่ออกมาเป็นการสร้างสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ทั้งยังเพิ่มอำนาจซื้อให้กับประชาชน โดยผู้ประกอบการมองว่า นโยบายการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรในพืชเศรษฐกิจหลักมีประโยชน์มากที่สุด ถึงร้อยละ 54.6 

จีดีพียังโตได้ถ้าใช้เงินมากพอ

'ธนวรรธน์ พลวิชัย' รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า จากชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา กรณีที่วงเงินถูกใช้ไม่เต็มที่ ตัวเลขเม็ดเงินอัดฉีดในไตรมาสที่ 3 และ 4 น่าจะอยู่ที่ 47,657.3 และ 102,639.9 ล้านบาท ขณะที่ หากมีการใช้วงเงินเต็มที่ ตัวเลขเงินอัดฉีดเข้าระบบในไตรมาส 3 และ 4 จะอยู่ที่ราว 61,000 และ 122,000 ล้านบาท

ธนวรรธน์ พลวิชัย

ธนวรรธน์ ชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าว จะสร้างความแตกต่างในผลจีดีพีของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยอาจส่งให้จีดีพีในไตรมาส 3/2562 และ 4/2562 โตสูงสุดถึงร้อยละ 3 และ 4.5 ตามลำดับ หากมีการใช้เงินเต็มวงเงิน และส่งผลให้จีดีพีเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 3 แต่หากไม่มีการนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาทำให้เป็นรูปธรรม จีดีพีไทยปีนี้อาจโตแค่ร้อยละ 2.6 เท่านั้น

แนวทางปิดท้ายที่ ธนวรรธน์ เสนอ คือ การเร่งดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม เร่งเบิกจ่ายงบประมาณและโอนเงินเข้ามือประชาชนให้ได้เร็วที่สุด รวมทั้งต้องดูแลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของเส้นทางการเงินก่อนถึงมือประชาชนด้วย