ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐกิจไทย' ถูกบั่นทอนจากทั้งสถานการณ์การเมืองภายในประเทศและสงครามการค้าในต่างประเทศ

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ตกอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่เรากำลังอยู่ท่ามกลางมรสุมทั้งจากภายในและภายนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนทั้งในกลุ่มที่มีรายได้น้อยไล่ไปจนถึงผู้มีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูงได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า

การเมืองคือหัวใจเศรษฐกิจ

สิ่งสำคัญที่สุดในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพคือการที่รัฐบาลมีเสถียรภาพ แม้จะมีการเลือกตั้งรวมทั้งการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนต่างประเทศและประชาชนภายในประเทศ


ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย

'ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ผลวิชัย' ผู้อำนวยการสถาบันศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2562 พบว่า ต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน และยังเป็นการตกลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยตัวเลขลงมาอยู่ที่เพียงร้อยละ 51.3 เท่านั้น

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านสถานการณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องสะท้อนความสำคัญและความบั่นทอนที่การเมืองมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจได้เป็นอย่่างดี โดยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นด้านสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 67.8 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 71.9 ขณะที่ ตัวเลขความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 73.3 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 77.9

'จันทรรัตน์ เหลืองภักดีกุล' พนักงานออฟฟิศกล่าวว่า ปัจจุบันนี้จะใช้จ่ายอะไรก็ต้องคิดอย่างรอบคอบก่อนเสมอเพราะความกังวลเรื่องสภาวะทางการเงินของครอบครัว เช่นเดียวกับ 'กัลป์พฤกษ์ คงเจริญถิ่น' ที่ย้ำว่าทุกวันนี้จะคำนึงถึงลูกก่อนที่จะเลือกซื้อของให้ตัวเองเสมอ

ขณะที่ 'จันทิมา วรอุไร' และ 'อณุรักษ์ พุ่มพวง' เห็นพ้องกันว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนขึ้นแต่อย่างใด เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ใสสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์


"พี่ไม่คิดว่าประเทศไทยพร้อมมีประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนประเทศอื่น" จันทิมา กล่าว

โดยจันทิมา กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยยังคงเคยชินกับประเพณีและวัฒนธรรมเดิมๆ ที่เคารพว่าผู้ใหญ่ต้องถูกเสมอเพราะอาบน้ำร้อนมาก่อน รวมทั้งความชอบในการชื่นชมผู้มีอำนาจ ซึ่งสะท้อนออกมาในการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมในครั้งที่ผ่านมา

'ไทย' ผู้พ่ายแพ้ใน 'สงครามการค้า'

ตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด ธนาคารกรุงไทย ก็ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีีพี) ลงมาอยู่ที่เพียงร้อยละ 3.3 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3.8 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากภาคส่งออกอาจเติบโตติดลบ

เป็นที่ทราบดีว่าสินค้าส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเป็นอย่างมาก สินค้าส่งออกในส่วนของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ไทยยังต้องยอมรับความจริงว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น จนส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามแซงหน้าไปได้ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดยุโรปที่เวียดนามมีการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (EVFTA) ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้

ปัจจุบันตัวเลขส่งออกของเวียดนามไปยุโรปสูงกว่าไทยไปยุโรปเกือบครึ่งหนึ่ง มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยุโรปในปี 2561 สูงถึง 49,184 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปยุโรปอยู่ที่เพียง 24,857 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.6 แสนล้านบาทเท่านั้น

'มานะ นิมิตรวานิช' ผู้อำนวยการฝ่ายสายงานการพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์โลก ของธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและรองเท้า เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ของไทยจะต้องเผชิญหน้ากับความเสียเปรียบอย่างมาก เพราะเวียดนามจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหนือไทยจาก EVFTA


ดร.มานะ นิมิตรวานิช

อีกปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยคือเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 'จิติพล พฤกษาเมธานันท์' ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และหากปลายปียังไม่สามารถแตะ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯได้ ช่วงเดือนมกราคมปี 2563 ค่าเงินบาทอาจลงไปอยู่ที่ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯได้


ดร.จิติพล พฤษาเมธานันท์
"ในปีนี้น่าจะหลุดไป 29 ยาก ขึ้นไปแตะ 31 ยังเห็นง่ายกว่า" นายจิติพล กล่าว

หนทางเอาชีวิตรอดของไทย

เมื่อประเทศไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้าได้ สิ่งที่ทำได้คือการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อเข้าไปกระตุ้นเม็ดเงินในระบบ

นายธนวรรธน์ ชี้ว่า หากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินราวหนึ่งแสนล้านบาทเข้าไปในระบบ จะสามารถกระตุ้นตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ราวร้อยละ 0.5 - 0.7 อย่างไรก็ตาม ก็ย้ำว่าการอัดฉีดควรทำอย่างมีระบบและให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากเดิมที่ร้อยละ 1.75 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 เพื่อลดไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งไปกว่าเดิม และยังเป็นการกำหนดนโยบายสอดคล้องตามอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าการประมาณการ

ขณะที่ ธนาคารกรุงไทยมองว่า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาหนทางเอาตัวรอด โดยคิดถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม เพราะจะสามารถลดต้นทุนได้อย่างชัดเจน หรือในรายที่ไม่มีศักยภาพในการย้ายฐานการผลิตก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :