ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกกฤษฎีกายืนยันกฤษฎีกายังไม่เคยพิจารณร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ อย่างท่ี่เป็นข่าว ด้าน 'อนุทิน' เผยยังอยู่ในขั้นตอนยกร่าง พ.ร.ก. ย้ำเป็นกฎหมายไว้ปกป้องคนทำงาน ยังไม่มีใครทำผิดได้นิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 นพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงตามที่มีการเสนอข่าวว่าได้มีการเสนอร่างพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... มาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว นั้น ยืนยันว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้มีการเสนอมายังสำนักงานฯ เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา

229740495_1572029059803786_4057331332784501210_n.jpg

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้นำกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกามาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ พ.ร.ก. ก็คงส่งมายังรัฐสภาให้พิจารณาได้ทันภายในสมัยประชุมนี้

สำหรับร่างพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ถูกมองว่า เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด 19 โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า มีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด

รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีน มีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

อนุทิน ยังบอกว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์

'อนุทิน'แจงยังอยู่ขั้นตอนยกร่าง พ.ร.ก.ย้ำปกป้องคนทำงาน

อนุทิน ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่กฎหมายนิรโทษกรรม เพราะยังไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ทำผิด แต่นี่คือกฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องคนทำงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยสุจริต เพื่อให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรทั้งหลาย มีความสบายใจ มีความมั่นใจในการทำงาน ส่วนเนื้อกฎหมายจะครอบคลุมใครบ้าง มีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง ขอให้ดูเมื่อวันที่ยกร่างเสร็จแล้ว กฎหมายฉบับนี้ เป็นการผลักดันโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่วนตัวรับทราบ และให้การสนับสนุน เพราะเห็นถึงความจำเป็น แต่ย้ำว่าตอนนี้ยังยกร่างไม่เสร็จ เอกสารอยู่ในมือของอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีอีกหลายขั้นตอนมาก ระหว่างนั้ก็รับฟังเสียงจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายแพทย์ ฝ่ายผู้ปฏิบัติงาน ฝ่ายประชาชน ก็ต้องปรับแก้ตามความเหมาะสม แต่ยังคงไว้ซึ่งเป้าหมายในการสร้างความมั่นใจแก่คนทำงานทุกคน ที่สุดแล้ว กฎหมายฉบับนี้ จะคุ้มครองคนทำงานที่มีเจตนาบริสุทธิ์เท่านั้น กรุณาอย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมืองไปเสียหมด

ยันฝ่ายนโยบายไม่แทรกแซงการจัดหาวัคซีน วอนขอ ก.ม.ป้องคทำงานสุจริต

ต่อมาที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทุบรี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าที่กังวลว่า ฝ่ายการเมืองหมกเม็ด นิรโทษกรรมตัวเอง อันที่จริงกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เกิดจากฝ่ายการเมือง มีการเสนอขึ้นมา และเจตนาของกฎหมายคือคุ้มครองคนทำงาน ที่ทำด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต สิ่งที่ทำให้คนทำงานกลัว เพราะเขาต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ ทั้งส่วนที่รักษา ทั้งส่วนที่ควบคุมโรค ทั้งส่วนที่ดูแลเรื่องทรัพยากรต่างๆ ในการรับมือกับโรคนี้ มันไม่มีสูตรตายตัว ทุกอย่างใหม่หมด คนทำงานไม่ว่าจะเป็นใคร ระดับไหน ก็มีความกังวลใจทั้งนั้น ขอถามว่า เวลาจัดซื้อยา จัดซื้อเวชภัณฑ์ เป็นเรื่องของใคร คำตอบ คือ องค์การเภสัชกรรม ส่วนเรื่องจัดหาวัคซีน ก็เป็นเรื่องของบอร์ด ซึ่งข้างในมีสถาบันวัคซีน กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม และฝ่ายผู้ผลิต ฝ่ายนโยบายไม่เข้าไปแทรกแซงอยู่แล้ว คนที่ดูแลในแต่ละขั้นตอน ก็ชื่อขึ้นต้นด้วยนายแพทย์กันเกือบหมด คนกลุ่มนี้ เขาต้องมั่นใจ ในการปฏิบัติหน้าที่

อนุทิน ระบุว่า ตนทราบว่าทุกท่านตั้งใจทำให้มันดีแต่ ก็มีความกังวลในการทำงาน ก็ต้องหาอะไรมาปกป้องคนทำงานบ้าง ไม่เช่นนั้นแล้ว ใครจะกล้าทำงานให้ประเทศชาติ เรื่องนี้ ทางผู้บังคับบัญชา ท่านปลัดฯ ท่านเข้าใจ ก็ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา ส่วนตัว ก็รับพิจารณา เพราะคนที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ รอบคอบ เพื่อให้การจัดการโรคมีประสิทธิภาพ ต้องได้รับการปกป้อง ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวง เมื่อคนทำงานรู้สึกว่าเสี่ยง มันก็ต้อง หาทางออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง