ไม่พบผลการค้นหา
บทความจากงานเสวนาหัวข้อ ‘ออกจากกะลาไปหารัฐธรรมนูญใหม่’ เมื่อ 8 ก.ค. โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน, สามชาย ศรีสันต์, ณัฐพร อาจหาญ, จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’

เป็นเวลา 6 ปี แล้ว ที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่กับ ‘รัฐธรรมนูญ 2560’ นับตั้งแต่ถูกประกาศใช้ 

แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะพยายามสวมเสื้อคลุมด้วยคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ มากเพียงใด แต่เราก็ต่างรู้ว่า เนื้อในนั้นกลับสอดไส้เผด็จการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องมหาศาล อีกทั้งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยกรรมาธิการที่ผ่านการคัดเลือกของคณะรัฐประหาร ภายใต้การนำของรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน 

และที่สำคัญ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการเรียกร้องและเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมาก ที่ปรารถนา ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่พวกเขามีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญที่นอกจากจะเป็นเครื่องมือกำหนดโครงสร้างของรัฐแล้ว ยังต้องเป็นหลักในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน รับรองสิทธิของประชาชนอย่างครอบคลุมและมีพระราชบัญญัติกำหนดขั้นตอนทางปฏิบัติ 

หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ความหวังที่ดูเหมือนอยู่แค่เอื้อม กลับพบแค่อุปสรรคขวากหนาม และความพยายามปิดตายเส้นทางของฝั่งพรรคร่วม แม้เป็นเช่นนั้น ความหวังของได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ยังประกายในการต่อสู้ของประชาชน แม้อาจต้องล้มลุกคลุกคลานต่อจากนี้อีกมากมายก็ตาม 

วอยซ์​ ชวนอ่านบทความจากงานเสวนาหัวข้อ  ‘ออกจากกะลาไปหารัฐธรรมนูญใหม่’ ที่จัดขึ้นเมื่อ  8 ก.ค. 2566 โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน และ จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ปัญหาใดบ้างที่พวกเขาเผชิญจากร่มเงาของรัฐธรรมนูญ 2560 รัฐธรรมนูญแห่งอนาคตที่พวกเขาวาดหวัง มีหน้าตาอย่างไร และเส้นทางจากวันนี้ ถึงวันแห่งการประกาศชัยของประชาชน พวกเขามีวิถีทางอย่างไรต่อจากนี้ 

รื้อรัฐธรรมนูญ 60 โจทย์ใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตย 

มุนินทร์ พงศาปาน อธิบายว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือความชอบธรรมในการ ‘ร่างประชามติ’ ซึ่งถือว่าเป็น ‘นิติกรรมบกพร่อง’ เหตุที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะประชามติกระทำในช่วงเวลาที่ประชาชนมีความอ่อนไหวทางจิตใจจากวิกฤติทางการเมืองที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน อีกทั้งองค์กรและบุคคลที่มีส่วนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ กลับไม่มีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด รวมทั้งการรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีการทำประชาสัมพันธ์จากฝ่ายรัฐเพียงด้านเดียวเท่านั้น 

มุนินทร์ ระบุว่า ผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ชัดเจนที่สุด คือ ‘กลไกการยุบพรรคการเมือง’ และกลไกที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนหลังจากการเลือกตั้ง ที่ถึงแม้พรรคการเมืองหนึ่งๆ จะได้เสียงมากเกินกึ่งหนึ่งแล้วก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงวางกับดักเพื่อทำให้เกิดข้อขัเข้องในการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองนั้นๆ ได้ 

มุนินทร์ พาลงรายละเอียดผลกระทบใน 2 ภาพใหญ่ ดังนี้ 

  • ปัญหาเชิงรูปแบบ คือความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งองค์กรและบุคคลที่ร่วมร่างยังไม่ยึดโยงกับประชาชน และการประชาสัมพันธ์เพียงฝ่ายเดียวของฝั่งรัฐบาลภายใตการควบคุมของ คสช,
  • ปัญหาเชิงเนื้อหา เช่น เนื้อหาที่สร้างขึ้นเพื่อให้ฝ่ายเผด็จการดำรงอำนาจไว้ได้นานที่สุด จากกลไกแผนยุทธศาสตร์ชาติ สว. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความซับซ้อนที่สุด ซึ่งได้รับการต่อยอดมาจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้า แต่ความซับซ้อนก็ก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมาย

สิ่งที่น่ากังวลคือ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ที่มีอำนาจมากเกินไปและถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น การยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมา การสืบทอดอำนาจของนายกรัฐมนตรี เป็นต้น 

คำถามของมุนินทร์คือ แล้วศาลควรมีขอบเขตอำนาจแค่ไหน และอย่างไร? 

มุนินทร์ มองว่า โจทย์ของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือการทำลายกลไกต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ 2560 และรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานนั้น ไม่ควรจะมีเนื้อหามากเกินไป และควรเป็นกลไกลในการดำรงซึ่งเจตจำนงของประชาชน ผ่านการเลือกตั้งแบบมีตัวแทน

“การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญควรกระทำโดยประชาชน ถึงผมจะมีความเห็นว่าการตีความรัฐธรรมนูญควร กระทำโดยผู้เชี่ยวชาญหรือศาลมากที่สุด แต่ในบริบทของประเทศไทยในขณะนี้นั้นเห็นได้ชัดว่าไม่สามารถทำได้ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญควรเอาคืนกลับไปให้สภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรมีอำนาจ เช่น ยุบพรรคการเมืองหรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว” มุนินทร์ กล่าว 

อีกประการคือ กลไกลการคัดเลือกบุคคบเข้าสู่องค์กรอิสระ โดยมุนินทร์มองว่า คณะกรรมการอิสระที่คัดเลือกกรรมการบริหารในองค์กรอิสระนั้น มีตัวแทนจากศาลเยอะเกินไป โดยเขาเสนอว่า ไม่ควรเอาตัวแทนของศาลมานั่งเป็นคณะกรรมการสรรหา เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นองค์กรที่เกี่ยวกับการศาลเสียเอง และควรที่จะหาวิธีการให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการอิสระ

“รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกทุกคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่างเลย ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องรวบรวมกลุ่มคนทางสังคมในการร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด” มุนินทร์ทิ้งท้าย 

โอกาสของประชาชนมาถึงแล้ว

สามชาย ศรีสันต์ หนึ่งในผู้ร่วมร่าง ‘รัฐธรรมนูญคนจน’ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประชาชน 69 องค์กร  ได้เริ่มต้นการบรรยายว่า รัฐธรรมนูญทั่วโลกมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือ ส่งเสริมอำนาจรัฐและลดทอนอำนาจของประชาชนโดยการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจของรัฐ หลาย ๆ กลไกในรัฐธรรมนูญ จึงมักลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเข้าข้างรัฐมากกว่า ผ่านบทบาทในการตัดสินของศาล 

ในหลายประเทศ ได้ริเริ่มแนวคิด ‘รัฐธรรมนูญทางสังคม’ เหตุเพราะรัฐธรรมนูญเดิมสร้างความแตกแยก ผูกขาดอำนาจและวัฒนธรรม แต่โลกสมัยใหม่มีความหลากหลายมากขึ้น โดย สามชาย ยกตัวอย่าง ‘รัฐธรรมนูญคนจน’ ที่ร่างขึ้นมาบนแนวคิดรัฐธรรมนูญทางสังคม โดยการรวบรวมคนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญมาร่วมกันชี้ให้เห็นถึงปัญหา จากการเข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญคนจน การร่างรัฐธรรมนูญแบบแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม หลักการสำคัญคือลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน

ด้านปัญหาที่คนจนได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญปี 2560 สามชาย แบ่งออกได้ 13 กลุ่มปัญหา เช่น กลุ่มเกษตรกรรายย่อย กลุ่มแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ อาจจะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานแล้ว แต่รัฐธรรมนูญนี้นั้นเลวร้ายที่สุด ทุกภาคที่ไปสำรวจ มีปัญหาที่พบร่วมกันถึง 5 ด้าน โดยรวมแล้วคือ รัฐธรรมนูญเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากรัฐธรรมนูญในการจัดการทรัพยากรของชาติเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

ยกตัวอย่างปัญหาเช่น 

  1. กลุ่มเกษตรกรและชาวประมง ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำ ป่า ทะเล ฯลฯ ถูกไล่รุกที่ ถูกแทรกแซงจากทั้งรัฐและเอกชน
  2. แรงงานไม่สามารถรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิแรงงานได้ กฎหมายนิยามแรงงานได้ไม่ชัดเจน ทำให้แรงงานใหม่ ๆ ตกจากความคุ้มครอง
  3. กลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ดิน เขื่อน ป่าไม้ โรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่ได้รับการเยียวยาจากการดำเนินโครงการที่ล่าช้า (รัฐธรรมนูญไม่ระบุว่ารัฐต้องรับผิดชอบ)
  4. การผลิตเหล้าถูกผูกขาด เข้าไม่ถึงแหล่งทุน
  5. กลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด เข้าไม่ถึงสวัสดิการภาครัฐ
  6. กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ถูกเลือกปฏิบัติ
  7. การกระจายอำนาจ รัฐธรรมนูญไม่ส่งเสริม ต้องดูตามงบประมาณ

ประเด็นสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการแก้ไขปัญหาการชะงักงันทางการเมือง หรือการพัฒนาประเทศ ซึ่งจากการเข้าไปสำรวจและร่วมร่างรัฐธรรมนูญประชาชน สามชาย พบว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 สร้างเงื่อนไขสำคัญใหม่ 4 ประการ

  1. สร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหาร และสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ
  2. รัฐธรรมนูญอ้างว่าสร้างขึ้นเพื่อการปราบปรามการทุจริต สุดท้ายแล้วเป็นไปเพื่อการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
  3. มีไว้เพื่อกำกับควบคุมประชาชน
  4. สร้างขอบเขตพระราชอำนาจขึ้นมาใหม่

“ทั้งหมดนี้จะต้องทำการแก้ไขให้ได้ในการยกร่างครั้งนี้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาและอุปสรรคไปอีกนาน 

ในเรื่องนิติสงคราม หลายหลายฝ่ายพูดว่าแก้ไขได้แต่ต้องไม่แตะหมวดหนึ่งและหมวดสอง แต่หมวดหนึ่งหมวดสองนี้แหล่ะที่สร้างโครงสร้างรูปแบบใหม่ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้และเป็นที่มาของความขัดแย้ง จึงจำเป็นจะต้องแก้ไข”

“เราควรที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนเห็นถึงปัญหาเพื่อที่จะได้มาร่วมกันแก้ไขปัญหา อาจจะด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เป็นพันธกิจของรัฐบาลที่จะต้องเตรียมการเพื่อนำไปสู่ประชามติก่อนเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ” 

“…จะตั้งชื่อว่าคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ได้ ถ้ากลัว่าจะหายไป” สามชายกล่าว

รัฐธรรมนูญของทุนใหญ่

ด้าน ณัฐพร อาจหาญ มองว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีที่มาจากชนชั้นนำทางสังคม อีกทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. (กลุ่มบุคคลที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) ซึ่งประกอบไปด้วย ทหารทั้งในและนอกราชการ 105 คน แบ่งเป็น 3 เหล่าทัพ ทหารบก 67 คน ทหารเรือ 19 คน และทหารอากาศ 19 คน ตำรวจ 10 คน และพลเรือน 85 คน แบ่งเป็นอดีต ส.ว.สรรหา, อดีต ส.ว.เลือกตั้ง, อธิการบดี และนักธุรกิจ ซึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด 

“ ในเมื่อที่มาเป็นแบบนี้จึงนำมาสู่ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรไปจากประชาชน” ณัฐพร กล่าว 

ณัฐพร อธิบายต่อว่า การคุกคามของฝ่ายความมั่นคงและการเติบโตของ กอ.รมน.ก็กลับมาหลังรัฐประหาร องค์กรเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทในการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ ซึ่งก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง พบว่า มีการปรับแก้เพิ่มอำนาจและบทบาทหน้าที่ของ กอ.รมน. จากแต่เดิม ชุมชนสามารถบริหารทรัพยากรได้เอง แต่การปรับแก้ใหม่เพิ่มขั้นตอนที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามา และผู้ดำเนินการก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การกระทำเช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นได้จากรัฐธรรมนูญในหมวดหน้าที่ของรัฐ ที่ล้อไปกับหมวดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน  ซึ่งในทางพฤตินัยทำให้หมวดสิทธิและเสรีภาพไม่มีความหมาย

“ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน ซึ่งมีผลต่อแนวนโยบายทั้งหมด เพราะมันจะถูกบรรจุและถ่ายทอดไปสู่แนวปฏิบัติอื่นของนโยบายของรัฐทั้งหมด เช่น การตั้งธงว่า จะต้องมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 40% ก็มิได้สนใจกระบวนการ และการกระทำหลังจากนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะเนื่องมาจากการที่กลุ่มทุนใหญ่ต้องการทรัพยากรป่าไม้และน้ำ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม” 

นอกจากนี้ ณัฐพร มองว่า เมื่อทิศทางถูกกำหนดโดยทุนใหญ่ ชุมชนจึงไม่มีพื้นที่ที่จะบริหารทรัพยากรเลย การเขียนถึงในรัฐธรรมนูญในส่วนของภาคประชาชนก็มีอยู่เพียงน้อยนิด เช่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นหรือรับฟังเลยก็ได้ หรือเรื่องการรวมกลุ่ม ก็มีกฎหมายลูกควบคุม ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

“ตอนนี้มีความพยายามในการออกพระราชบัญญัติ เพื่อควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน หลายองค์กรในประเทศไทยต้องถูกตรวจสอบ แม้แต่กลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ แม้จะมีการต่อต้าน แต่ว่าแนวนโยบายในลักษณะอื่นก็ยังเปิดช่องให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ เช่น เรื่องกฎพรบ.แร่ กฎหมายแม่บทเรื่องกฎหมายแร่ กฎหมายลูกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นต้น อีกทั้งกฎหมายลูกต่างๆ ที่เสนอโดยประชาชนก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากส.ว. เลย ส.ว. ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมายของประชาชนอย่างมาก” 

“กฎหมายลูกที่ออกหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีปัญหา เพราะมีการเพิ่มเติมคำสั่งหรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ ของ คสช. ลงไป แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสืบทอดอำนาจ” 

ในตอนท้าย ณัฐพร กล่าวว่า ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องยึดโยงกับประชาชน สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เองก็ควรที่จะมีหน้าที่ในการออกแบบกระบวนการที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญจากการฟังเสียงประชาชน ให้รัฐธรรมนูญมาจากเสียงที่หลากหลายมากที่สุด เพื่อสร้างความตระหนักว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ประชาชนได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

“ประเทศไทยมีทรัพยากรมากพอแน่นอนที่จะทำเช่นนั้น เพียงแต่ต้องขอร้องให้กลุ่มคนบางกลุ่มที่อยู่ในกลไกในการปิดกั้นให้ลดบทบาทของตน และเปิดโอกาสให้ประชาชนเสียที” - ณัฐพร ทิ้งท้าย

ทุกอย่างแก้ได้ใน ‘สภา’ 

จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ไผ่ ดาวดิน’ เริ่มต้นอธิบายถึงปัญหาขอรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า ทุกครั้งที่มีการอภิปรายเรื่องการทำประชามติและรัฐธรรมนูญ 2560 ภาครัฐมักมีข้ออ้างเพียงในเรื่องของกฎหมาย ทว่าในความเป็นจริง จตุภัทร มองว่า รัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้ที่มีส่วนในการร่างเท่านั้น แต่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ได้รับบทเรียนจากการต่อสู้กับรัฐในระบบของรัฐเอง ดังนั้น วิธีที่จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ทุกคนมีส่วนร่วม ต้องมาจากสภาและการเลือกตั้ง 

“แต่ตอนนี้ สว. เป็นอุปสรรค เพราะพวกเขาไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ที่มาขอ งสว. คือมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉะนั้นการที่จะจัดการกับ สว. ก็คือต้องผ่านการแก้ไขรัฐธรรมมนูญ ตอนนี้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วฉะนั้นก็ถึงเวลาที่เราจะต้องผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา” 

สำหรับความคาดหวังต่อเส้นทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใหม่ จตุภัทร  กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามกันมามากกว่า 10 ปี ตอนนี้ประชาชนจึงควรผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา แม้แต่การร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นการต่อรองผลประโยชน์และสภาเป็นทางออกในการต่อรองนั้น

“เราควรขีดเส้นแบ่งว่าอะไรคือผลประโยชน์ของประชาชน อะไรเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น และต้องช่วยกันปกป้องเอาไว้” จตุภัทร  ทิ้งท้าย 

เรียบเรียงโดย: จิรภัทร นิวรณุสิต