‘วอยซ์’ รวบรวมสิ่งที่ควรรู้ในการเลือก สว.ครั้งนี้ไว้ในชุดภาพพร้อมคำบรรยาย เหมาะกับทั้งผู้จะลงสมัครและประชาชาทั่วไป ย่อยข้อมูลซับซ้อนให้ง่าย เติมมิติประวัติศาสตร์ และเกร็ดต่างๆ ครบ จบในที่เดียว
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน สว.250 คน ที่มาโดย คสช.จะหมดอายุลง เปิดทางให้มีการเลือกกันใหม่ แม้ระบบจะซับซ้อนและกล่าวไม่ได้ว่ามาจากประชาชนทั้งประเทศ แต่ก็น่าจะเป็นความหวังรำไรสำหรับศักราชใหม่ทางการเมืองไทย
เนื่องด้วยตามรัฐธรรมนูญ 2560 สว. 200 คนชุดใหม่ยังมีหน้าที่อีกหลายอย่างที่สำคัญ เช่นเป็นเสียงชี้เป็นชี้ตายว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ มีส่วนร่วมผ่านกฎหมายสำคัญๆ เป็นผู้โหวตขั้นสุดท้ายผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรม ซึ่งจะว่าไป จนถึงปี 2570 จะมีคนพ้นวาระอย่างน้อย 16 คน และเราต่างรู้ดีว่า กลไกนี้สำคัญเพียงไหนต่อพัฒนาการประชาธิปไตย
กลไกการเลือกที่ซับซ้อนอย่างมาก เป็นดอกผลของผู้ยกร่างที่ต้องการกัน 'การเมือง' (ที่ไม่ต้องการ) ออกไปจากสภาสูงให้มากที่สุด ทั้งที่โดยตัวสภาสูงเอง การถือกำเนิดและการดำรงอยู่ของมันเป็น 'การเมือง' อย่างยิ่ง เพียงแต่ 'ฝั่งไหน' และโดยมากก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นจุดสำคัญที่ตรึงรั้งไม่ให้ประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้าได้เร็ว
‘วอยซ์’ รวบรวมสิ่งที่ควรรู้ในการเลือก สว.ครั้งนี้ไว้ในชุดภาพพร้อมคำบรรยาย เหมาะกับทั้งผู้จะลงสมัครและประชาชาทั่วไป ย่อยข้อมูลซับซ้อนให้ง่าย เติมมิติประวัติศาสตร์ และเกร็ดต่างๆ ครบ จบในที่เดียว
52 วัน กว่าจะได้ สว. ชุดใหม่
![สว-1 copy@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS82NDZmMzg1YjQwNzM3MDgwMzA3MzYyNmYzNWZjYmNmYi5qcGc=)
23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ โดยมีกรอบเวลาการเลือก สว. ชุดใหม่ ดังนี้
- 11 พ.ค. 2567 สว. แต่งตั้ง หมดอายุ
- 13 พ.ค. 2567 ประกาศกำหนดวันรับสมัคร สว. (รู้วันรับสมัคร)
- รับสมัคร สว. ระยะเวลา 5-7 วัน
- 9 มิ.ย. 2567 เลือกระดับอำเภอ
- 16 มิ.ย. 2567 เลือกระดับจังหวัด
- 26 มิ.ย. 2567 เลือกระดับประเทศ
- 2 ก.ค. กกต. ประกาศผลการเลือก สว.
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล โดยกระบวนการนับตั้งแต่วันที่ ‘250 สว.’ หมดวาระ จนถึงวันประกาศผลเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่ จะใช้เวลาทั้งสิ้น 52 วัน หรือช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนนี้ 250 สว.ก็ยังคงต้องรักษาการอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามมาตรา 109 ของรัฐธรรม 2560 ระบุว่า ‘สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา เริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่’
นั่นแปลว่า 250 สว. จะยังคงมีอำนาจเต็มอยู่ จนกว่าจะถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ชุดใหม่ โดย 3 หน้าที่หลักของ สว. รักษาการ มีดังนี้
- พิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา หรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.)
- ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น
20 กลุ่มอาชีพ เลือกสมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
![สว-3@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS81ODQ1ZTRkNDk0NTQwNDYxNmQ2Yzk0MTRlZTgyMzExNC5qcGc=)
ใน ‘พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.’ กำหนดให้ ‘ส.ว. ชุดใหม่’ มาจากการ ‘เลือกกันเอง’ ของกลุ่มอาชีพ-ความเชี่ยวชาญทั้งหมด 20 กลุ่ม โดยผู้สมัครเลือกลงสมัครได้แค่ 1 กลุ่มเท่านั้น ได้แก่
- กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง: ผู้ที่เคยเป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ฯลฯ
- กลุ่มการศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา ฯลฯ
- กลุ่มสาธารณสุข แพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ
- กลุ่มทำนา ปลูกพืชล้มลุก
- กลุ่มทำ สวนป่าไม้ ประมง เลี้ยงสัตว์
- กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน
- กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น
- กลุ่มท่องเที่ยวโรงแรม ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ พนักงานโรงแรม ฯลฯ
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
- กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
- กลุ่มสตรี (เพศกำเนิดเป็นเพศหญิงก็สมัครได้)
- กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ ชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- กลุ่มศิลปะ ดนตรี บันเทิง กีฬา
- กลุ่มประชาสังคม (NGO) องค์กรสาธารณประโยชน์
- กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
- กลุ่มอาชีพอิสระ
- กลุ่มอื่นๆ (เข้าหรือไม่เข้าคุณสมบัติของอีก 19 กลุ่ม ก็สามารถสมัครกลุ่มนี้ได้)
อย่างไรก็ดี วันที่ 11 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กกต. ได้ออกประกาศเรื่อง ‘การมีลักษณะอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน’ เพื่อขยายความเข้าใจแก่ประชาชนว่า แต่ละกลุ่มอาชีพ ครอบคลุมอาชีพปลีกย่อยใดบ้าง โดยสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ https://n9.cl/rrwjc
เช็กให้ชัวร์ คุณสมบัติที่ต้องมี
![สว-4@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS9mZjNjOTI2MzEzNmZiNGQ4NTJmNzBlMWFjOWJiMTI0Mi5qcGc=)
- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี ยกเว้น ผู้สมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธ์ุ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย
> เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
> มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
> ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
> เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
> เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา
ข้อห้ามผู้สมัคร 'อย่าพลาด มีโทษ'
สำหรับ ‘ลักษณะต้องห้าม’ ของสมาชิกวุฒิสภา มีด้วยกันถึง 26 ข้อ หรือพูดง่ายๆ ว่า หากผู้ประสงค์สมัครเป็น สว. ดันมีลักษณะตรงตามข้อใดข้อหนึ่ง จะสมัครไม่ได้ หรือหากสมัคร ก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมายอีกด้วย
‘ลักษณะต้องห้าม’ 26 ข้อ มีดังต่อไปนี้
- ติดยาเสพติดให้โทษ
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกต้ังไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
- วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ เว้นแต่ ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
- เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
- อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
- เป็นข้าราชการ
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรอืผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตาแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
- เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้
ในส่วนของบทลงโทษ หากรู้ว่าตัวเองตรงกับลักษณะต้องห้าม แล้วยังลงสมัคร ได้แก่
'ผู้รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. แต่ยังสมัคร จะได้รับโทษ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี’
นอกจากนี้ ยังมี ‘โทษทัณฑ์’ อีกหลายกรณี ดังนี้
- ให้ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองช่วยเหลือ
ผู้สมัคร สว. ที่ยินยอมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็น สว. จะได้รับโทษ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ผู้สมัคร สว.ที่แนะนำตัวไม่เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนดจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 5 ปี
- อย่าสมัครเกิน 1 กลุ่ม 1 อำเภอ
ผู้สมัคร สว.สมัครเข้ารับเลือกมากว่า 1 กลุ่ม หรือมากกว่า 1 อำเภอ จะได้รับโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี
หากมีการจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว.หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใดๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิสมัครลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด
สิ่งที่ต้องรู้ / เอกสารที่ต้องเตรียม
![สว-6@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS9iNDhkZmYyMGU2NjFlYmYyNjQxNjI4ZWY5ZWI1Y2QyMS5qcGc=)
- เงินค่าสมัคร 2,500 บาท
- ต้องยื่นสมัครด้วยตนเองเท่านั้น
- สมัครได้แค่กลุ่มอาชีพเดียว และอำเภอเดียวเท่านั้น
- อดีต 250 สว. ตาม รธน. 60 สมัครอีกไม่ได้
- เมื่อยื่นสมัครแล้ว จะถอนการสมัครไม่ได้
- วาระ 5 ปี เป็นได้วาระเดียว
เอกสารที่ต้องเตรียม (ห้ามลืมนะ)
ก่อนวันรับสมัคร
ผู้สมัครต้องไปติดต่อขอรับเอกสารการสมัครจากนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น (ขอเอกสารได้ทุกอำเภอทั่วประเทศ) โดยมีเอกสารดังต่อไปนี้
- แบบใบสมัคร (สว.2)
- แบบข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัคร (สว.3)
- แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทางานในกลุ่มที่สมัคร (สว.4)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบรับรองแพทย์
- รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ หรือภาพพิมพ์ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร
- หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- หลักฐานซึ่งแสดงว่าเป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
- หลักฐานซึ่งแสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- หลักฐานซึ่งแสดงว่าทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- หลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
- หลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
- หลักฐานอื่น ๆ เช่น
- หลักฐานการขอลาออก หรือการขออนุญาตให้ลาออกกรณีเป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เป็นพนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกและไม่เป็นบุคคลผู้ถูกจากัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
โดยเอกสารประกอบการสมัครในข้อที่ (4) (5) (8) (9) และ (11) ผู้สมัครจะต้องเซ็นรับรองความถูกต้อง ทุกฉบับทุกหน้า
วันรับสมัคร
- ผู้สมัคร ต้องยื่นเอกสารหลักฐานการสมัครด้วยตนเอง ต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ โดยมีสิทธิสมัครได้เพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว
- ในระหว่างเวลาการรับสมัครจนสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัคร ห้ามไม่ให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัคร และจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่ม
เกร็ดประวัติศาสตร์ กับ 5 เรื่องที่ควรรู้
![สว-7@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS8yMmEyY2QyMzZhM2UxZTAyOWI3YWI3NWM2ODRiNTc4ZC5qcGc=)
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีที่มาดังนี้
1 ฉบับ - ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (คณะราษฎร)
10 ฉบับ - ผ่านกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ
9 ฉบับ - รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นฉบับ ‘ชั่วคราว’ และใช้สภาเดี่ยวแทบทั้งสิ้น
คำถามคือ วุฒิสภา ถือกำเนิดในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร สภาที่สองนี้สำคัญอย่างไร และฝ่ายต่างๆ แก่งแย่งพื้นที่นี้หนักหนาเพียงไหน โดยเฉพาะช่วง 25 ปีแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ ‘ศึกชิงสภาสูง’ เข้มข้น ก่อนที่สุดท้ายฝ่ายจารีตนิยม-อนุรักษ์นิยม จะเป็นผู้ชนะและวางรากฐานของ สว.มาจนปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สว. เล่มที่อ่านสนุกที่สุดเล่มหนึ่ง คือ ‘สภาที่สองในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย’ โดยนายกร กาญจนพัฒน์ วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2556) ซึ่งเขียนเส้นทางวุฒิสภาไว้อย่างะละเอียดและน่าสนใจ สรุปได้ดังนี้
- หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยใช้ ‘ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว’ ยกร่างโดยคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กำหนดให้มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร แต่สมาชิกมี 2 รูปแบบ คือ มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง เหตุที่ต้องมีส่วนแต่งตั้งเนื่องจากต้องการประคองการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และตอนนั้นประชาชนที่อ่านออกเขียนได้ยังมีน้อยมาก จึงกำหนดไว้ว่า ส่วนของการแต่งตั้งจะเปลี่ยนไปสู่เลือกตั้งทั้งหมดภายใน 10 ปี
- ต่อมามีรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ที่ผ่านการประนีประนอมกับรัชกาลที่ 7 แล้ว โครงสร้างสภาก็ยังกำหนดเป็นสภาเดี่ยว โดยคณะผู้ยกร่างฯ ระบุเหตุผลว่าไว้
“บางประเทศมีสองสภาเพราะเขามีประเพณีบังคับ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของไทยไม่มีประเพณีใดบังคับว่าต้องมีสภาเดียวหรือสองสภา และการมีสองสภาจะทำให้งานของสภาชักช้าโตงเตงโดยไม่จำเป็น การมีสภาเดียวกิจการของสภาจะดำเนินได้รวดเร็วมากกว่า นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญที่เกิดใหม่ในระยะหลังของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จัดให้เป็นรัฐสภาแบบสภาเดี่ยว”
- หลังจากนั้นก็ฝุ่นตลบทันที เพราะเกิดความขัดแย้งเรื่อง ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’ ของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรมที่ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะสังคมนิยม จนนายกฯ คนแรกสายขุนนาง ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ ออก พ.ร.ฎ.ปิดสภา-งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวบอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่คณะรัฐมนตรี ตามมาด้วยรัฐประหารยึดอำนาจคืนของคณะราษฎร นำโดย ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ต่อด้วยแรงต้านกลับจากฝ่ายจารีตนิยม เกิด ‘กบฏบวรเดช’ เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและอีกหนึ่งข้อเรียกร้องสำคัญคือ สมาชิกสภาประเภทที่ 2 (แต่งตั้ง) ต้องให้พระมหากษัตริย์เลือก แทนที่จะเป็นคณะราษฎร
- ชัดยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับชนวนความขัดแย้งเกี่ยวกับสภาที่สอง หลังรัฐบาลปราบกบฏบวรเดชสำเร็จไม่นาน รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในปี 2477 ส่วนหนึ่งของพระราชหัตเลขาระบุว่า
“รัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ให้มีสมาชิกซึ่งตนเองเป็นผู้เลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่งหนึ่ง การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่สอง ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไปไม่จำกัดเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่สองขึ้น ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะพวกตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ....”
- ต่อมา ‘จอมพล ป.’ ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ต่อจากพระยาพหลฯ และถูกวิจารณ์มากว่าใช้อำนาจเข้มข้น เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.เลือกอยู่ข้างญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอมเริกา ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านภายในประเทศ ชื่อ ‘เสรีไทย’ นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และปรีดี พนมยงค์ ทำให้ ส.ส.ในสภาสนันบสนุนรัฐบาลลดลง และแพ้โหวตสำคัญๆ หลายเรื่อง ทำให้จอมพล ป.ต้องลาออกจากนายกฯ แล้วได้ ‘ควง อภัยวงศ์’ เป็นนายกฯ คนต่อมา และเสนอญัตติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่าใช้มา 13 ปีแล้ว บ้านเมืองก็เปลี่ยนไปมาก มีการตั้งกรรมาธิการ 27 คนศึกษาว่าไทยควรเป็นระบบ ‘สภาเดี่ยวหรือสภาคู่’
- สภาถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ฝ่ายสนับสนุนระบบ 2 สภาให้เหตุผลน่าสนใจ เช่น ระบบ 2 สภานั้นเข้ากับการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเวลานั้นสมาชิก 37 ประเทศ เป็นระบบสภาคู่ 30 ประเทศ, เป็นหลักประกันให้เกิดดุลอำนาจทางนิติบัญญัติ, ป้องกันการกระทบเชิงอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับประมุข เช่น สภาสูงยับยั้งกฎหมายเองไม่ต้องให้กษัตริย์ใช้อำนาจวีโต้ เป็นต้น
กรรมาธิการที่ศึกษาลงมติเป็น ‘สองสภา’ โดยชนะกันด้วยคะแนนเพียง 1 หรือ 2 คะแนนเท่านั้น เมื่อมีการอภิปรายหลักการของร่างรัฐธรรมนูญและลงมติกันในวาระแรก ปรากฏว่า มติให้มี ‘สองสภา’ ชนะไปเพียง 5 เสียงเท่านั้น
- อย่างไรก็ดี รัฐบาลในนั้นอยู่กันได้ไม่ยาว ขั้วการเมืองเปลี่ยนไปมา ผ่านรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชและนายควง อภัยวงศ์หนที่ 2 ภารกิจยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยังค้างเติ่ง จน ‘ปรีดี พนมยงค์’ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ช่วงสั้นๆ เพื่อผลักดันภารกิจการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ
- ในที่สุดก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 ที่มีการจัดรูปองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเป็น 2 สภาอย่างชัดเจน แต่วุฒิสภาสมัยนั้นเรียกชื่อว่า พฤฒสภา (แปลว่าสภาของผู้อาวุโส)
ลักษณะของ พฤฒสภา หรือ สว.ชุดแรกอย่างเป็นทางการ มี 80 คน ขณะที่ สส.มี 172 คน โดย สว.ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ที่มา - กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมนั่นคือ ให้ ‘องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา’ เป็นผู้เลือก ซึ่งองค์กรดังกล่าวประกอบด้วย สส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
อำนาจหน้าที่ - โดยหลักคือการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนฯ แต่ไม่มีสิทธิเสนอกฎหมาย มีสิทธิในการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ และเกือบจะได้มีอำนาจลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย แต่แพ้โหวไปเพียงคะแนนเดียว นอกจากนี้ก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลต้องได้รับความไว้วางใจโดยที่ประชุมของทั้งสองสภาด้วย อีกทั้งตอนแรกมีข้อเสนอให้มีอำนาจเลือกนายกฯ ด้วยแต่ถูกตัดออกไป
เรียกได้ว่า ความพยายามให้ สว.มีอำนาจเลือกนายกฯ นั้นมีเชื้อมูลมาตั้งแต่เริ่มต้น ‘มีชัย ฤชุพันธ์’ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 อาจเพียงลอกเลียนเส้นทางประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญนี้ใช้เพียง 1 ปีเศษก็โดนรัฐประหารในปี 2490
- การทำรัฐประหารปี 2490 มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของระบบสองสภาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นจุดหักเหของระบบสองสภาอันเปลี่นวัตถุประสงค์ของการเกิดสภาที่สอง ที่ในอดีตเคยเกิดขึ้นเพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กลายมาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม
- รัฐธรรมนูญ 2490 ของคณะรัฐประหาร เปลี่ยนชื่อ ‘พฤฒสภา’ เป็น ‘วุฒิสภา’ และกำหนดให้มี 100 คน (เท่า สส.) มาจากการเลือกโดยพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญไม่มีการห้ามข้าราชการเป็นนักการเมือง ทหารจึงเป็นสว.ได้
ยุคนี้สายทหารกับสายขุนนางเริ่มมีความขัดแย้งกันและในที่สุดฝ่ายขุนนางก็ชนะในการส่งคนเข้าสภาสูง
สว.100 คนในยุคนี้ประกอบด้วย เจ้าพระยา 1 คน พระยา 54 คน พระ 15 คน หลวง 9 คน เชื้อพระวงศ์ 10 คน รวมแล้วเป็นสัดส่วนของเจ้าและขุนนางถึง 89 คน จึงมีลักษณะเหมือนสภาขุนนางของอังกฤษ
ที่สำคัญคือ เพิ่มอำนาจให้สภาสูงมาก โดยระบุว่า ในระหว่างสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ วุฒิสภาเปิดประชุมได้ ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรไปเลย จะออกกฎหมายใดๆ ก็ได้ จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จสิ้น
- วุฒิสภาในยุคนี้เองได้มีมติให้ตั้ง ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นโดยไม่รอให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาก็ไม่ไว้วางใจว่าประชาชนจะเลือกคนได้เหมาะสม จึงออกแบบให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจาก สว.เลือก 10 คน, สส.เลือก 10 คน, เลือกตั้งมา 20 คน รวมแล้ว 40 คน ผลปรากฏว่า คนของพรรคประชาปัตย์ได้ไป 22 คน ขุนนางเก่า 12 คน ฝ่ายอื่นเพียง 6 คน ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า หน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาจะเป็นอย่างไร
- รัฐธรรมนูญ 2492 กำหนดว่า สส.และ สว.ห้ามเป็นข้าราชการประจำในส่วน สว.ให้มี 100 คน วาระ 6 ปี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส. โดยให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ
เหตุผลที่ สสร.ยังคงให้พระมหากษัตริย์เลือกยังเป็นเพราะไม่เชื่อมั่นในประชาชนโดยระบุว่าการศึกษายังน้อยแถมยังใช้สิทธิกันน้อย ถ้าใช้สิทธิเกิน 50% หรือจบประถม 80-100% ค่อยเปลี่ยนแปลง แม้จะมี สสร.เสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรให้อำนาจประชาชนเป็นผู้เลือก ไม่ควรกลับสู่ระบอบเก่า แต่ สสร.ส่วนใหญ่เห็นควรถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์เลือก โดยหวังว่าจะได้ผู้ที่เป็นกลางทางการเมืองมากที่สุด
อย่างไรก็ดี เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็มีบทเฉพาะกาลว่า สว.ชุดก่อนให้เป็น สว.ต่อไป ดังนั้นจึงยังมีลักษณะสภาเจ้าและขุนนาง อีกทั้งยังเป็นอิสระจากรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อวุฒิสภาไม่สนับสนุน รัฐบาลก็ทำงานยากลำบาก จอมพล ป.จึงได้ตัดสินใจรัฐประหารตัวเองในปี 2494 เพื่อกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2475 เป็นสภาเดี่ยวอีกครั้ง
- ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ทำการรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป.นับเป็นการสิ้นสุดสายธารความคิดทางการเมืองของกลุ่มผู้เปลี่ยนการปกครอง 2475 เข้าสู่ยุคเผด็จการยาวนาน
วิธีคัดเลือก สว. ชุดใหม่ (มันจะงงๆ หน่อยนะ)
![สว-8@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS80NGI2ZjhlN2M0NDUyZWI5MDllODBmMmYzNDNiNDg5YS5qcGc=)
ขั้นตอนวิธีการคัดเลือก สว. ชุดใหม่ มีอยู่ 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
ขั้นแรก > ระดับอำเภอ
- เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน / เลือกไขว้
- เริ่มต้นด้วยการให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกกันเองภายในกลุ่ม โดย 1 คน มี 2 โหวต (สามารถเลือกตัวเองได้) เพื่อหาผู้ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
- จากนั้น แบ่งสายออกเป็น 4 สาย (วิธีการจับสลาก)
- เลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน (เลือกตัวเองหรือกลุ่มเดียวกันไม่ได้)
- ได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ประเทศไทยมี 878 อำเภอ และ 50 สำนักงานเขต (รวม 928) เท่ากับว่าผู้ที่ได้รับเลือกระดับอำเภอไปสู่การคัดเลือกระดับจังหวัดจะมี 55,680 คน
![สว-9@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS82MWRkYjY3MDJhYjQyNmQ4NzIyMTgyMjZjNzE1ZjA5Mi5qcGc=)
ขั้นที่สอง > ระดับจังหวัด
- เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน / เลือกไขว้
- เริ่มต้นด้วยการให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกกันเองภายในกลุ่ม โดย 1 คน มี 2 โหวต (สามารถเลือกตัวเองได้) เพื่อหหาผู้ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
- จากนั้น แบ่งสายออกเป็น 4 สาย (วิธีการจับสลาก)
- เลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน (เลือกตัวเองหรือกลุ่มเดียวกันไม่ได้)
- ได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ในรอบนี้จะคัดเหลือ 2 อันดับแรกของ 20 กลุ่มอาชีพ เท่ากับว่า 1 จังหวัดจะมีตัวแทน 40 คน รวมแล้วจะมีผู้เข้ารอบจาก 77 จังหวัด ไปชิงชัยในระดับประเทศทั้งหมด 3,080 คน
![สว-10@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS83ODgzZjI1NTBjYTNmZjllNmNkYjgyZGMzNmU4Mzk1Zi5qcGc=)
ขั้นที่สอง > ระดับประเทศ
- เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน / เลือกไขว้
- เลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน ไม่เกิน 10 คน เพื่อหาผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
- จากนั้น แบ่งสายออกเป็น 4 สาย (วิธีการจับสลาก)
- เลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 5 คน (เลือกตัวเองหรือกลุ่มเดียวกันไม่ได้)
- จะได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม จำนวน 200 คน
รอบนี้จะคัดเหลือ 200 คน ใน 20 กลุ่มอาชีพ โดยให้ผู้ที่ได้รับคะนแนสูงสุดในแต่ละกลุ่ม ตั้งแต่ 1-10 เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ส่วนผู้ที่ได้รับคะแนนลำดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม จัดอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น
สว. มีอำนาจอะไรบ้าง
![สว-11@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS8zNGU5ZWRmNzUwZTUwMjA2MDliMGZhMjQyOTViMWZkZi5qcGc=)
สำหรับอำนาจและภารกิจของ สว. ชุดใหม่ เรีกยได้ว่ามีทั้งเหมือนและต่างออกไปจากเดิม ดังนี้
- โหวตเลือกนายก ‘ไม่ได้แล้ว’
- พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ เพราะต้องอาศัยเสียง สว. ทั้งในวาระ 1 และ วาระ 3 โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จาก สว. ทั้งหมด 200 คน เท่ากับว่าต้องมีคนพร้อมโหวตเห็นด้วย อย่างน้อย 67 คน
- พิจารณากฎหมาย โดย สว. มีอำนาจลงมติเพื่อออกกฎหมาย การพิจารณากฎหมายบางประเภท สว. มีอำนาจเท่า สส. แต่บางกรณีก็มีบทบาท น้อยกว่า สส. ดังนี้
- พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส. นอกจากนี้ สว. สามารถลงชื่อร่วมกับ สส. เพื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้
- พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจะทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส.
- พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สว. มีบทบาทน้อยกว่า สส. โดย สว. ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ ร่างกฎหมาย แต่ สว. สามารถเห็นชอบ หรือแก้ไขร่างกฎหมายที่ ผ่าน สส. มาได้
- ให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่ง ดังนี้
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
- ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
- คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
- ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)
- อัยการสูงสุด
- ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.)
- ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผ่านการอภิปรายและสะท้อนปัญหาของประชาชนไปยังรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้ถาม
วีรกรรมศิษย์เก่าดีเด่น
![สว-12@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS9jMWNkZDg2MGM3ZDE3MDJlNGYyYzhhYTE2NjU0NGJiNS5qcGc=)
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
“แรกๆ บอกล้านเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ขึ้นมาสองล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่เอาพิธา เพราะมีพฤติกรรมทั้งเรื่องของ ปม ม.112 และนิรโทษกรรม ที่จะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ”
- กล่าวในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ (ยามเช้า) 1 มิถุนายน 2566
วันชัย สอนศิริ
“ปกติ สว. เนี่ยมีไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ ไม่มีสิทธิ์ไปโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นคนเขียนในรัฐธรรมนูญในสมัยที่เป็น สปท. ให้ สว. 250 คนนี้ มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ผมเป็นคนเริ่มต้นคำถามพ่วง พวกเราจำได้หรือเปล่า คำถามพ่วงนี้ก็โหวตทั่วประเทศได้ 15 ล้านเสียงว่าเห็นด้วย”
- กล่าวในคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 ในงานสังสรรค์ประจำปีของเด็กวัดวัดไตรมิตร ซึ่ง วันชัย ได้ไปร่วมงาน และขึ้นกล่าวอธิบายเกี่ยวกับวิธีเลือก ส.ว. ว่ามีวิธีการสรรหาอย่างไร
สมชาย แสวงการ
“ถ้าคุณเห็นว่าประเทศนี้เป็นนรก พวกเราเห็นเป็นสวรรค์ กรุณาออกเดินทางไปอยู่ประเทศที่คุณเห็นเป็นสวรรค์ อย่างฝรั่งเศส ที่บ่มความคิดชั่วร้ายแบบนี้มาให้พวกคุณ”
- โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562
คำนูณ สิทธิสมาน
“การธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คุ้มครองฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะฯ ขององค์พระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่เทียบเท่ากับที่เคยเป็นมานับตั้งแต่ 10 ธ.ค. 2475 มิให้กระทบหรือลดทอนลงไป…ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเป็น สว. ในสถานการณ์ปัจจุบัน”
- กล่าวระหว่างการอภิปรายถึงการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ วันที่ 13 ก.ค.2566
เงินเดือน สวัสดิการ สิิทธิประโยชน์
![สว-13@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS8yYjI1Mzg4NDI3Mjg2OTUzYzY4ZDY3NDRhMTZkOTQ0Ni5qcGc=)
ส่องเงินเดือน สิทธิประโยชน์ ‘อาชีพ สว.’
- เงินเดือนคนละ 113,560 บาท
- มีสิทธิตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวได้ 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท
- มีสิทธิตั้งผู้ชำนาญการประจำตัวได้ 2 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาท
- ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวได้ 5 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาท
(เงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ สว.และสส.นั้นคล้ายคลึงกัน)
![สว-14@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS8xMDIwNmE5NmZkN2VkMzk5Y2E3OWFhZTJhZTQwYTM3Ny5qcGc=)
เบี้ยประชุม
- เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 1,500 บาทต่อครั้ง
- เบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการ 800 บาทต่อครั้ง
(วันหนึ่งเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
ไปราชการ : (ต่อคน ต่อวัน)
- ในประเทศ: ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 270 บาท / ค่าเดินทางตามจริง เครื่องบินชั้นธุรกิจ / ค่าที่พักตามจริงไม่เกิน 2,500 (เหมาจ่าย 1,200)
- ต่างประเทศ: ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 3,100 บาท / ที่พักไม่เกิน 12,500 บาท (ขึ้นอยู่กับประเทศที่ไป) / ค่าเดินทางตามจริง / ค่าเครื่องแต่งตัว เหมาจ่าย 9,000 บาท / ค่ารับรอง ไม่เกิน 67,000 บาท (หากไปไม่เกิน 2 สัปดาห์)
![สว-15@2x-100.jpg](https://pailin.voicetv.co.th/assets/aW1hZ2UvMjAyNC0wNS80OGE2ZjdlMWY1MDY5MjIyZWI0MTFiNDdjNjRjMGVkNy5qcGc=)
กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา : พ้นตำแหน่งแล้วยังดูแล
สมาชิกสภาต้องส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ไม่เกิน 5% ของเงินประจำตำแหน่ง เมื่อสิ้นสมาชิกภาพจะได้รับการดูแลหลายอย่าง แต่ต้องไม่ใช่ผู้ถูกถอดถอนหรือต้องห้ามมิให้ตำแหน่งทางการเมือง ดังนี้
- จะได้ 'ทุนเลี้ยงชีพ' เป็นรายเดือน รวมๆ แล้วก็จะได้กันที่ราว 9,000 - 35,600 บาท อยู่ที่ว่าใครดำรงตำแหน่งยาวหรือสั้น อาทิ
- เคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 เดือน แต่ไม่ถึง 2 ปี จะได้ทุนเลี้ยงชีพ 30 % ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย ซึ่งเท่ากับ 9,000 บาท
- เคยดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ไม่ถึง 8 ปี จะได้ 35% เท่ากับ 12,000 บาท
- เคยดำรงตำแหน่ง 8 ปี แต่ไม่ถึง 12 ปี จะได้ 40% เท่ากับ 14,300 บาท
- เคยดำรงตำแหน่ง 12 ปี แต่ไม่ถึง 16 ปี จะได้ 45% เท่ากับ 17,800 บาท
- เคยดำรงตำแหน่ง 16 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จะได้ 50% เท่ากับ 21,400 บาท
- ได้ค่ารักษาพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ผู้ป่วยใน 50,000 บาทต่อปี ผู้ป่วยนอก 30,000 บาทต่อปี
- ค่าเล่าเรียนบุตร ประถม-ปริญญาตรี ทั้งรัฐและเอกชน ไม่เกินที่กรมบัญชีกลางกำหนด
- ทุพพลภาพ ได้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน
- ถึงแก่กรรม ได้เงินช่วยเหลือ 100,000 บาท และพวงหรีด 1,000 บาท
อ้างอิง
- ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
- สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
- ‘สภาที่สองในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย’ โดย กร กาญจนพัฒน์ วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2556)
- สถาบันพระปกเกล้า
- รายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ (ยามเช้า)
- LIRT คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ