ไม่พบผลการค้นหา
อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล 2 คดี ภายใน 22 วัน ไล่จากปมย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ โดยมิชอบ และปัญหาจัดซื้อจัดจ้างในโครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย 2020 คำถามดังๆ จากทนายความประจำตัวคือ “ป.ป.ช.นั้นขยันแค่กับยิ่งลักษณ์เหรอ”

1 ก.ค.2663 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี กับพวก ใช้อำนาจโอนย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ "โดยมิชอบ"

22 ก.ค.2563 ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมพวกอนุมัติและดำเนินการจัดนิทรรศการ การสัมมนา และการโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ “โครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” วงเงิน 240 ล้านบาท "โดยมิชอบ"

การถูกชี้มูล 2 คดี ภายใน 22 วัน ทำเอาอดีตนายกฯ หญิง ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงตัดพ้อผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยช่วงหนึ่งระบุว่า

"ดิฉันเกิดความสงสัยและขอตั้งข้อสังเกตกับ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า มีความขยันในการเร่งรัดคดีดิฉัน ฝ่ายเดียว เพราะภายในเดือนนี้เดือนเดียว ป.ป.ช. ก็มีการชี้มูลความผิดกับดิฉัน ถึง 2 คดีติดๆ กัน...."

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายยิ่งลักษณ์

สำหรับคดีการโอนย้ายนายถวิล ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตัดสินไปเมื่อปี 2556 ว่าคำสั่งย้ายนายถวิลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ และสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2557

ต่อมาในปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรีหญิง ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยมติ 9 ต่อ 0 ให้พ้นจากรักษาการนายกฯ หลังโยกย้าย 'นายถวิล' ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถูกยื่นเรื่องเอาผิดทางอาญากับ ป.ป.ช.ต่อ กระทั่งมีคำสั่งชี้มูลล่าสุด


รวดเร็วเกินมาตรฐาน – ยันย้ายเพราะเหมาะสม 

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของ ป.ป.ช.นั้นรวดเร็วมากเป็นพิเศษ สูงเกินกว่ามาตรฐานของ ป.ป.ช. เมื่อเทียบกับคดีๆ อื่น 

"ไม่ถึง 1 เดือน ชี้มูล 2 เรื่องของคนๆ เดียว มันไม่เคยเกิดขึ้น” เขาตั้งคำถาม "ป.ป.ช.ขยันแค่กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เหรอ ?"

วิญญัติ อธิบายว่า เลขาธิการ สมช.เป็นตำแหน่งที่สำคัญมากต่อการข่าวกรองและความมั่นคง การโยกย้าย ‘นายถวิล’ คณะรัฐมนตรีขณะนั้น ทำไปด้วยความรอบคอบยุติธรรม โดยคำนึงถึงความเหมาะสม เมื่อเห็นว่า ‘นายถวิล’ เคยเป็นกรรมการศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.รับรู้การใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเมื่อปี 2553 ผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คณะรัฐมนตรีจึงมีสิทธิเลือกคนที่ตัวเองไว้วางใจและเห็นว่าเหมาะสมกว่าขึ้นมาทำหน้าที่แทน 

“มติโยกย้ายตำแหน่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารมีสิทธิทำได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เท่านั้น แต่ทุกรัฐบาลก็เคยทำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยทำ ทำบ่อยด้วย ตั้งแต่ตำแหน่งอัยการสูงสุด ข้าราชการหลายหน่วยงาน คสช.ทำได้หมดเลย ทุกคนต้องเลือกคนที่ตัวเองไว้ใจและคิดว่าเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ”

ประยุทธ์

คำตัดสินจากศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจโอนย้ายนายถวิลโดยมิชอบนั้น ทนายวิญญัติ บอกว่า “นั่นเป็นเรื่องของหลักการใช้อำนาจทางปกครองที่มองต่างกัน” อย่างไรก็ตาม ในทางอาญา ป.ป.ช.ต้องมองถึงหลักการบริหารของรัฐบาล ซึ่งต้องคำถึงถึงความไว้วางใจและความเหมาะสม โดยเฉพาะตำแหน่ง เลขาฯ สมช.ผู้ดูแลยุทธศาสตร์ชาติในมิติด้านความมั่นคง

“รัฐบาลไหนจะไว้วางใจผู้ที่อาจจะเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเอง” วิญญัติตั้งคำถาม พร้อมยกตัวอย่างบริษัทเอกชน ที่ฝ่ายบริหารเลือกใช้อำนาจปรับทัพองค์กร โยกย้ายพนักงานไปอยู่ในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมเพื่อให้กิจการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

"คนไหนทำแล้วไม่เหมาะสม งานไม่เดิน หรือไม่สามารถทำให้องค์กรพัฒนาไปตามนโยบาย เขาก็โยกย้าย"

อดีตนายกฯ ยืนยันมาตลอดว่า การย้ายนายถวิล มิได้เจตนาที่จะกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด การที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลใดใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติหน้าที่งานด้านความมั่นคงซึ่งต้องเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของรัฐบาล ทุกรัฐบาลก็ได้กระทำกัน ซึ่งหลังจากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ หมดหน้าที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีการโยกย้ายข้าราชการอย่างมากมาย แต่กลับไม่มีความผิด เพราะมีมาตรา 44 คุ้มครอง

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายยิ่งลักษณ์

ยื่นพยาน 6 ปาก ป.ป.ช.ไม่ฟัง 

ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า คดีโอนย้าย นายถวิล มีการยื่นกล่าวหาในวันที่ 22 ก.ค. 2562 ต่อมาวันที่ 6 ก.ย. 2562 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำชี้แจง พร้อมอ้างพยานบุคคลอย่างน้อย 6 ปาก ซึ่งล้วนแต่มีตำแหน่งระดับสูง เช่น เลขาฯ สมช. อดีต ผบ.ตร.มากกว่า 1 ท่าน และข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม 

“คำถามคือ ป.ป.ช.ได้เรียกพยานเหล่านี้มาสอบหรือไม่” วิญญัติ บอก “คำตอบคือ ไม่”

“การแจ้งข้อกล่าวหาและชี้มูลภายในระยะเวลาไม่ถึงปี ผมเห็นว่า เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บุคคลที่ถูก ป.ป.ช.ไต่สวนที่ผ่านมาจะใช้เวลา 2-3 ปีหรือมากกว่านั้น ท่านอาจบอกว่าชี้มูลเร็วเพราะมีหลักฐานเพียงพอแล้ว แต่คำถามก็คือนั่นมันเพียงพอของท่านฝ่ายเดียวหรือเปล่า” 

เขาอธิบายว่า ตามหลักการไต่สวนข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีความทุกประเภท ‘ผู้ตัดสิน’ ต้องฟังความสองด้านและมีความเป็นกลาง มีอิสระในการชี้ขาด หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป จะเกิดข้อเคลือบแคลงและสงสัย


Roadshow สร้างอนาคตไทย 

โครงการ “สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” เป็นรูปเป็นร่างในราวปี 2556 มีการจัดโรดโชว์ประชาสัมพันธ์ไปทั่วประเทศ โดยบริษัท มติชนฯ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสยามสปอร์ตฯ เป็นแม่งานหลัก

"เมื่อสร้างเสร็จ เราจะไม่ได้มีแค่รถไฟหรือระบบรางเท่านั้น แต่เราจะมีมากกว่าคือ ความเชื่อมโยง ที่ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรเพิ่มรายได้ในท้องถิ่นมากขึ้น ความเชื่อมโยงจากเมืองท่องเที่ยวหนึ่งสู่อีกเมืองท่องเที่ยว จากเมืองสู่เมือง กระจายความเจริญด้วยการสร้างศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาค และความเชื่อมโยงระหว่างคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2556

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. ชี้ว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพวก มีปัญหาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง มีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นไปในลักษณะ 'การวางแผนล่วงหน้า' ระหว่างนักการเมืองและบริษัทสื่อ นอกจากนี้ยังมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดโรดโชว์นั้นด้วย 

ยิ่งลักษณ์ สร้างอนาคตไทย โครงสร้างพื้นฐาน 29060144886_906187558_n.jpg

น.ส.ยิ่งลักษณ์ อธิบายว่า โครงการโรดโชว์สร้างอนาคตไทย สืบเนื่องจากรัฐบาลของเสนอนโยบายสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายเรื่องโดยการออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ..... หรือที่เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ 

เป็นนโยบายที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ไม่มีเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบใดๆ ต่อมารัฐบาลชุดปัจจุบันก็นำโครงการนี้มาดำเนินการต่อ และวันนี้ก็จำเป็นต้องออกนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้าน ซึ่งมากกว่ารัฐบาลดิฉันโดยปราศจากการท้วงติงหรือการตรวจสอบจาก ป.ป.ช.

วิญญัติ เพิ่มเติมว่า ‘คดีโรดโชว์’ ป.ป.ช.มีการแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่ 16 ต.ค.2562 ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงให้วันที่ 4 ธ.ค.ปีเดียวกัน พร้อมพยานบุคคลหลายรายที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติงบประมาณดังกล่าว ซึ่งยืนยันได้ว่ากระบวนการอนุมัติเป็นไปตามขั้นตอนและได้รับความเห็นชอบอย่างถูกต้องถามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ไม่เรียกพยานบุคคลสอบแม้แต่รายเดียว ก่อนจะชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีในการพิจารณาไต่สวนคดี 

“ไม่ถึง 1 ปี พิจารณาเสร็จ 2 สำนวน และชี้มูลใน 1 เดือน อย่างนี้จะไม่ให้ประชาชนและตัวผมสงสัยได้อย่างไร เป็นเรื่องพิศวงมาก

“การอนุมัติงบฯ กลาง มีหลายหน่วยงานร่วมพิจารณา เช่น สำนักงบฯ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อเห็นชอบก็ดำเนินการเบิกจ่าย จัดจ้าง โรดโชว์ประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนตามปกติ” เขาบอกและเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ควรตั้งเรื่องไต่สวนเป็นคดีด้วยซ้ำ 

ขณะที่ ฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินการตามโครงการดังกล่าวเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของราชการ เช่นเดียวกับการดำเนินการอื่นๆ ตามหลักการที่ยึดถือของบริษัทมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของรัฐบาลใด

โครงการดังกล่าวยังได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งมีตัวแทนของ ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ร่วมอยู่ด้วย ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 และใช้เวลาไต่สวนกว่า 18 เดือน และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ในปี 2559

นายฐากูร ระบุด้วยว่า ในชั้นไต่สวน บริษัทได้ขอชี้แจงในประเด็นข้างต้น แต่ไม่ได้รับโอกาสจาก ป.ป.ช. อย่างไรก็ดี บริษัทน้อมรับการตรวจสอบ และแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการต่อไป รวมทั้งขอสงวนสิทธิ์ในทางกฎหมายที่จะปกป้องชื่อเสียงเกียรติภูมิของตนเองด้วย

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายยิ่งลักษณ์

ความยุติธรรมเลือกข้าง ระวังพัง

“ดูเหมือน ป.ป.ช.จะให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลปัจจุบันมากเป็นพิเศษในหลายคดี ทั้งๆ ที่เป็นคดีที่สังคมเกิดข้อกังขาและตั้งข้อสงสัยมากมายกับการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.และผลการพิจารณาหลายคดี ก็ค้านกับความรู้สึกของประชาชน

“ดิฉันไม่อยากให้ความยุติธรรมต้องเลือกข้าง ความยุติธรรมต้องไม่เหลื่อมล้ำ ถ้าเป็นนักการเมืองหรืออดีตนักการเมืองฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิดเสมอ แต่อีกฝ่ายทำอะไรไม่ผิดเลย ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมเสียแล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่งความศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจหมดสิ้นไป” ซุ่มเสียงจากอดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่าน 

วิญญัติ ชี้ว่า ระบบความยุติธรรม หากไร้ซึ่งความเชื่อมั่นและขาดศรัทธาจากประชาชน “พังนะครับ” เขาบอก

“แม้องค์กรจะอยู่ได้ด้วยตึกอาคาร แต่ความศรัทธาที่ก่อให้เกิดเกียรติยศต่อท่านไม่มีเลย” 

เดือน มี.ค.2563 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติให้ผู้เสียหายหรือประชาชนมีอำนาจฟ้องกลับคดีอาญา ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ได้ ซึ่งทนายวิญญัติ ระบุว่า หากมีโอกาสและถึงเวลาอันเหมาะสม จะตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.และอนุกรรมการไต่สวนบ้าง

“ระบบบ้านเราออกแบบให้รับฟังและให้น้ำหนักกับ ป.ป.ช.มาก นั่นหมายความว่าถ้า ป.ป.ช.ตั้งแง่หรือไม่ยุติธรรมเสียแล้วก็น่ากังวล” 

ทั้งนี้ หลังจาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลการกระทำความผิดในส่วนของคดีอาญา จะส่งต่อให้กับอัยการพิจารณา เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สุดท้ายหากศาลฯ พิพากษาว่ามีความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีโทษถึงจำคุก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :