ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ‘ยิ่งลักษณ์-นิวัฒน์ธำรง-สุรนันทน์-มติชน-สยามสปอร์ต’ ข้อหาจัดนิทรรศการ ‘สร้างอนาคตไทย Thailand 2020’ โดยมิชอบ

วันที่ 22 ก.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการชี้มูลความผิดกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวกกรณีเมื่อปี 2556 อนุมัติและดำเนิน “โครงการ Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” โดยมิชอบ 

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 เสียง ชี้มูลความผิดนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 เสียง ชี้มูลความผิด และมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 1 เสียง ชี้มูลความผิดนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนบริษัทสื่อมวลชน 2 แห่งและผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้น ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว ขณะที่กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

ชี้มูลยิ่งลักษณ์_๒๐๐๗๒๒_0.jpg

สำหรับไทม์ไลน์คดี Roadshow เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะมีโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางราง โดยในนโยบายข้อ 3.4 ได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางราง ระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองและหัวเมือง ศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูง ต่อมาในวันที่ 15 ม.ค. 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่เรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ. สองล้านล้านบาท”จากนั้นในวันที่ 27 ก.พ. 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งประเทศ และเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมจัดนิทรรศการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน แต่ก่อนหน้านั้นกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการจัดนิทรรศการไปก่อนแล้ว ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร หนองคาย นครราชสีมา และพิษณุโลก  ต่อมานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการไปยังสำนักเลขาธิการนายกฯ ให้จัดนิทรรศการ กระทั่งเดือน ส.ค. 2556 นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ ขณะนั้นได้เรียกประชุม เพื่อเตรียมจัด Roadshow โดยมีนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และตัวแทนบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เข้าพบนายสุรนันทน์ ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบและตกลงเป็นผู้รับจัดงาน Roadshow ทั้งสิ้น 12 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 20 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 240 ล้านบาท โดยมีบริษัทมติชน เป็นแม่งานหลักในการจัดงาน ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ  อีกทั้งเมื่อตรวจสอบงบประมาณประจำปี 2556 ก็ไม่ได้ระบุแผนงานโครงการดังกล่าวไว้ ประกอบกับงบประมาณประจำปี 2557 ประกาศใช้ไม่ทันวันที่ 1 ต.ค. 2556 แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ กลับอนุมัติงบกลางวงเงิน 40 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัด Roadshow ใน 2 จังหวัดก่อนคือที่หนองคายและนครราชสีมา จังหวัดละ 20 ล้านบาท ทั้งที่งบกลางคืองบฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น แต่สถานการณ์ในขณะนั้นยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกไป Roadshow ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแต่อย่างใด การไต่สวนของ ป.ป.ช. ยังพบความผิดปกติในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทมติชน ได้เข้าพบผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นเอกสารข้อเสนอด้านราคาวงเงิน 40 ล้านบาท ทั้งที่สำนักงบประมาณยังไม่ได้แจ้งใบงวด จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทมติชนทราบราคากลางล่วงหน้าได้อย่างไร  ต่อมานายสุรนันทน์ ได้เห็นชอบราคากลางโครงการ Roadshow จังหวัดหนองคายและจังหวัดนครราชสีมา ในวงเงิน 40 ล้านบาท ซึ่งตรงกับข้อเสนอด้านราคาของบริษัทมติชนที่ได้ยื่นไว้ และได้มีการสืบราคาเพิ่มเติมจากสื่อ 3 ราย แต่เป็นสื่อในเครือเดียวกับบริษัทมติชนทั้งสิ้น และในวันเดียวกันบริษัทมติชน ได้ยื่นเอกสารเสนอราคา ซึ่งนายสุรนันทน์ และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ก็เห็นสมควรอนุมัติจัดจ้างบริษัท มติชนเป็นผู้รับจ้างจัดโครงการ Roadshow 2 จังหวัดดังกล่าว และมีการลงนามในหนังสือสัญญาจ้าง โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาดำเนินการเพียง 2 วันเท่านั้น นอกจากนี้นายสุรนันทน์ และนายนิวัฒน์ธำรง ยังได้ร่วมกันอนุมัติจัดโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัดที่เหลือวงเงิน 200 ล้านบาท โดยใช้ราคากลางที่บริษัทมติชนเคยเสนอไว้ และแบ่งงานให้บริษัทมติชน และบริษัทสยามสปอร์ตบริษัทละ 5 จังหวัด โดยในส่วนของบริษัทสยามสปอร์ต มีนายระวิ โหลทอง ลงนามยื่นเอกสารการเสนอราคาด้วยตนเอง โดยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดใช้เวลาดำเนินการเพียงวันเดียวเท่านั้นเช่นเดียวกับโครงการแรก   ต่อมาได้มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.สองล้านล้านบาท ว่าตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นอันตกไป ส่งผลให้โครงการต่างๆที่ออกไปประชาสัมพันธ์ไว้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด  ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นว่า การใช้งบประมาณเพื่อการจัด Roadshow จำนวน 240 ล้านบาท จึงเกิดความสูญเปล่า เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย จึงมีมติดังนี้ 1. การกระทำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และ 13 2. การกระทำของบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และนายฐากูร บุนปาน บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และนายระวิ โหลทอง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 157 และมาตรา 86 และมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ  โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ป.ป.ช.จะส่งสำนวนการไต่สวนทั้งหมดไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป คาดว่าจะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดได้ภายในสัปดาห์นี้

ชี้มูลยิ่งลักษณ์_๒๐๐๗๒๒_1.jpg


อ่านเพิ่มเติม