ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.ฝ่ายค้านรุมชำแหละออก พ.ร.ก.กู้เงินไม่ใช่เรื่องด่วน ซัดมีเงินแต่ล้มเหลวการบริหารจัดการใช้เงินผิดเป้า แนะถอน พ.ร.ก.ออกสภา เปลี่ยนเป็นเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาแทน เสนอยุบสภา-ลาออก เปลี่ยนตัวคนกู้

วันที่ 9 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องด่วน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ วงเงิน 5แสนล้านบาท โดยนยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังขอให้สภาฯ พิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกฯ ไปใช้ โดยไม่มีรายละเอียด ตาม 3 แผนงานหลัก ที่ระบุว่าจะนำไปใช้งานด้านสาธารณสุข การแพทย์ จำนวน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 3 แสนล้านบาท และเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว การกู้เงินของรัฐบาล 1 ล้านล้านบาท สาธารณสุขได้รับการจัดสรรมา 3 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนของการบริหารจัดการอุปกรณ์การแพทย์ ยาและวัคซีน มาอย่างล่าช้า เครื่องช่วยหายใจ โรงพยาบาลที่จะรักษาไม่เพียงพอ ประชาชนที่ติดเชื้อนอนรอเตียง รอรถพยาบาลมารับไปรักษา เป็นไปอย่างล่าช้า จนเกิดความสูญเสีย 

สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีเงิน แต่กลับบริหารล้มเหลวทางการบริหารจัดการ ขณะที่วงเงินการเยียวยา 3 แสนล้านในปีที่แล้วที่ตั้งไว้ เน้นที่จะไปแจกเพียงอย่างเดียว มีใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ หากใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพ คนต่างจังหวัดที่เดือดร้อน ไม่เฉพาะโควิด แต่ยังเจอโรคการแพร่ระบาดในวัว โรคลัมปีสกิน ไม่มีการหาวัคซีนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม พบว่า มีการอนุมัติน้อยมาก เพียง 7.1 หมื่นล้านเป็นเพียงร้อยละ28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่บอกจะนำไปฟื้นฟู ขอถามว่าทำไมเศรษฐกิจแย่ลง จีดีพีลดลง 

ชี้ออก พ.ร.ก.ไม่จำเป็นเร่งด่วน แนะเอาเงินกู้มาใส่ใน พ.ร.บ.แทน

ยุทธพงศ์กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทครั้งนี้ เอาไปใช้ช่วยเหลือ 3 ด้านเหมือนปีที่แล้ว พ.ร.ก.เงินกู้นั้น ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน การแพร่ะระบาดไวรัสโควิดเกิดตั้งแต่ มี.ค.2563 ปัญหายังไม่จบ จึงขอเสนอให้เปลี่ยนจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มาเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปี 2564 เพื่อให้สภาตรวจสอบรายละเอียดได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ความคุ้มค่าสูงสุด เพราะการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมานั้น ประชาชนจะต้องร่วมเป็นหนี้ ร่วมกันใช้หนี้ในอนาคต เรามี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ.2561 ที่ป้องกันการใช้จ่ายเงินเกินตัว นายกฯ เคยประกาศนโยบาย การเงินการคลังของรัฐการกำหนดกรอบหนี้สาธารณะ เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ต้องไม่เกินร้อยละ 60 แต่สุดท้ายวันนี้ กลับมากู้เพิ่ม ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน 

“ของเดิมเงินยังเหลือ 2.9หมื่นล้านบาท ที่ยังใช้ได้ ส่วนก้อนใหม่ 5แสนล้านบาท ในสิ้นปีงบประมาณ ก.ย. คงใช้ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เพราะใช้ไม่ทัน ขอให้ไปเปลี่ยน พ.ร.ก.เงินกู้จาก 5 แสนล้านบาท มาเป็น พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี2564 จะได้ให้สภาตรวจสอบ ให้เกิดความคุ้มค่าจากเม็ดเงินที่ได้ไปกู้มา รวมทั้งมีการนำงบกลางไปใช้ในเรื่องไม่จำเป็น แต่ในเรื่องจัดหาวัคซีน บอกจะมาใช้เงินกู้ จึงไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.เงินกู้” ยุทธพงศ์กล่าว

ณัฐชา พระราชกำหนดกู้เงิน สภา D3B34403-E5E6-4515-812D-893839CD8510.jpeg

'ก้าวไกล' ค้าน พ.ร.ก.กู้เงิน หมดความไว้ใจนายกฯ

ด้าน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พวกตนไม่ได้ตั้งใจคัดค้าน พ.ร.ก.กู้ยืมเงินดังกล่าว เพราะการกู้เงินในสถานการณ์วิกฤตเป็นเรื่องถูกต้องจำเป็น เนื่องจากสถานะทางการเงินของประเทศไม่เหลือแล้ว เงินที่รัฐบาลใช้มากว่า 7 ปีหมดไม่เหลือ เมื่อเกิดวิกฤติครั้งใดก็ต้องไปกู้มา แต่การกู้ย่อมต้องคำนึงถึงประชาชนผู้ใช้หนี้ตัวจริงด้วย ทั้งนี้ยังเชื่อว่าหากพลเอกประยุทธ์เดินไปขอกู้เงิน คงไม่มีใครให้ แต่วันนี้สิ่งที่เขาให้เพราะนำประชาชนพี่น้องกว่า 65 ล้านคนไปเป็นผู้ค้ำประกัน 

ณัฐชา อภิปรายแสดงจุดยืนการคัดค้านด้วยเหตุผล 2 ข้อ โดยข้อแรกคือ การหมดความไว้วางใจต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมในฐานะผู้กู้เงินและผู้ใช้เงินงบประมาณ เพราะที่ผ่านมากรณีเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก็มองไม่เห็นมาตรการจากรัฐบาลเท่าที่ควร พร้อมยกตัวอย่างมาตรการแจกเงินเยียวยา แค่กู้มาจ่ายไปก็ยังมีปัญหามากมาย รวมถึงมาตรการเราชนะ เราไม่ทิ้งกัน แม้กระทั่งโครงการต่างๆที่จะช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน แค่แจกให้ดี ให้ทั่วหน้า ทั่วถึง ทันการณ์ ก็ยังทำไม่ได้ ส่วนเงินเยียวยาที่จะช่วยประชาชนในยามเดือดร้อนประชาชนกว่าจะได้เงินช่วยเหลือก็เลยช่วงจัดงานศพไปแล้ว ซึ่งครั้งนี้รัฐบาลก็อ้างขอแก้ตัวเพื่อกู้เงินอีก 5 แสนล้าน แต่เมื่อเปิดไปดูงบประมาณการกู้เงินก็สะท้อนว่ารัฐบาลยังไม่เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน

ณัฐชา ยังท้วงยังติงการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านบาทที่ผ่านมา ว่า โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข กลับนำไปใช้เพื่อโครงการ ปรับปรุงห้องไอซียูปรับปรุงห้องฉุกเฉินปรับปรุงห้องความดันลบซึ่งจนบัดนี้ยังไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว ส่วนแผนฟื้นฟูยิ่งเลวร้ายโดยมีแผนงานว่าภาคเกษตรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น 1หมื่น1พันล้านบาทต่อปี เกษตรทันสมัยเพิ่มขึ้น 50 ล้านไร่ มีพื้นที่เก็บน้ำ 7,900 ล้านลูกบาศก์เมตร กู้มาแล้ว 1 ปีก็ยังไม่มีอะไรเพิ่ม ส่วนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่วงเงินกว่า 3 พันล้านบาท ผ่านไป 1 ปี เพิ่งเบิกเงินได้ 15% ยังไม่นับรวมโครงการโคกหนองนาโมเดล งบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท เบิกจ่ายไปได้ 17 เปอร์เซ็นต์ แต่รายละเอียดเป็นการตั้งศูนย์การเรียนรู้ในค่ายทหารกว่า 157 แห่ง เช่นนี้จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไร 

ณัฐชา ยังฝากเตือนถึงการใช้เงินกู้ 5แสนล้านบาทในโครงการต่างๆ แต่ช่วยเหลือประชาชน 3แสนล้านบาท ด้านสาธารณสุขช่วย 3หมื่นล้านบาท และยังนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 1แสน7หมื่นล้านบาท แต่ก็ไม่รู้ว่ามีโครงการอะไรบ้าง 

เหตุผลข้อที่ 2 ที่ต้องคัดค้าน เพราะรัฐบาลเสนอเอกสารความจำเป็นต้องการกู้เงินต่อสภาเพียง 5 แผ่น ไม่มีรายละเอียดใดๆ หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาจริงจะต้องชัดเจนและประกันได้ว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร ซึ่งสะท้อนว่าพ.ร.ก.ฉบับนี้กระทำลับๆล่อๆ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็ไม่เดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง ทั้งที่ควรเคารพสภาแห่งนี้ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ แต่ส่งองคาพยพมาแทนจึงไม่เหลือความไว้วางใจอะไรในรัฐบาลชุดนี้ให้ผ่านต่อไปสำหรับพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท 

สภา พระราชกำหนด BC7A836A-9BC1-4F01-A764-1396679CF041.jpeg

แนะถอน พ.ร.ก.ออกสภาฯ เปลี่ยนเป็นเสนอ พ.ร.บ.แทน

ณัฐชายังย้ำถึงปัญหาการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโควิคยังมีจำนวนมากแต่เงินเยียวยากลับลดลง ซึ่งมีรายงานล่าสุดว่ารัฐบาล เตรียมแจกเงินรอบใหม่น้อยลงกว่าเดิม ซึ่งมีจำนวนเงิน 1,200 บาทและยังขอแบ่งจ่ายให้กับประชาชนรอบละ 200 บาท ซึ่งเป็นการดูถูกประชาชนผู้ค้ำประกันวงเงินกู้นี้หรือไม่ 

ณัฐชา ยังอภิปรายทิ้งท้ายเสนอทางออกแก่รัฐบาล โดยขอให้ถอนการประกาศใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยนำกลับไปปรับแก้ไขใหม่ เปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.งบประมาณกลางปีผ่านสภา พร้อมกับแสดงรายละเอียดโครงการต่างๆที่จำเป็นต้องใช้เพื่อความชัดเจนในการช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกันต้องเปลี่ยนคนกู้เงิน โดยวิธีลาออกหรือการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินผ่านคูหาเลือกตั้งว่าใครเหมาะสมที่จะมาบริหารเงินในการแก้วิกฤตโควิดครั้งนี้

จุลพันธ์ สภา 1FF8D374-0D30-48A8-98A0-EFAF25D457EC.jpeg


พท.ชี้ถ้าบริหารงบฯ ดีไม่ต้องกู้ 5 แสนล้าน

ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รัฐบาลไม่พร้อมในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 เห็นได้จากโรงพยาบาลต้องเรียกขอเงินบริจาคทั้งที่รัฐบาลมีเงินพอที่จะช่วย เหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นก็เพราะความไร้ประสิทธิภาพของท่านใช่หรือไม่ หากรัฐบาลบริหารจัดการงบประมาณให้ดีก็จะสามารถช่วยชีวิตคนจากโควิด-19 ไปได้อีกมาก

ทั้งนี้ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา รัฐบาลมีการดีเดย์ฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศรัฐบาลทำการฉลองกันใหญ่โต แต่แท้จริงแล้งตัว D ย่อมาจากดีเลย์คือการมาช้า หากการบริหารจัดการวัคซีนถูกต้อง มีวัคซีนอย่างหลากหลายและเพียงพอก็จะสามารถฉีดให้ประชาชนได้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ก็จะไม่มีคนล้มตายเพราะโควิด-19

ขณะเดียว กันหากรัฐบาลบริหารจัดการงบประมาณให้ดี เงิน 500,000 ล้านบาท ก็ไม่จำเป็นต้องกู้ เพราะประชาชนจะมีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนและการแพร่ระบาดก็จะไม่หนักเท่านี้ ซึ่ง

รัฐบาลก่อนคือทักษิณ ชินวัตรมีนโยบาย 4 ปี ซ่อม 4 ปีสร้าง แต่รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาล 7 ปีจน 7 ปีเจ๊ง หากให้บริหารต่ออีก 7 ปีประเทศนี้ก็ถึงจะจุดจบทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน และไม่เห็นว่าเงิน 500,000 ล้านบาทนี้ จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้

"ผมไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพราะไม่เชื่อรัฐบาลจะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้" จุลพันธ์ ระบุ

มงคลกิตติ์ สภา 72-9032-484870C1100C.jpeg

'มงคลกิตติ์'เสียใจเคยเลือก 'ประยุทธ์'เป็นนายกฯ

ด้าน  มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเสถียรภาพทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 8.767 ล้านล้านบาท และ มีหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ที่ 8.593 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.91 % ต่อ GDP และปัจจุบันมีกรอบวินัยการเงินการคลังอยู่ที่60 % ต่อ GDP ซึ่งจากสถานการณ์การแพทยระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทั้ง 3 รอบ ในรอบแรกรัฐบาลผิดไม่ค่อยมาก การแพร่ระบาดรอบที่ 2 รัฐบาลผิดเต็มๆ ทั้งการเปิดบ่อน และนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยไม่กักตัว รัฐบาลผิด 100% และ การระบาดรอบที่ 3 รัฐบาลผิดหนักเข้าไปอีก จากคลัชเตอร์ทองหล่อ แรงงานต่างด้าวโดยไม่กักตัวถือว่ารัฐบาลผิดเป็น 200% 

ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาที่หนี้ภาคครัวเรือน ประเทศไทยมีหนี้อยู่ที่ 14.02 ล้านล้านบาท เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 211,824 บาท คือเกิดมาประชาชนต้องเป็นหนี้เลย / และในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นรัฐบาลได้จัดทำงบประมาณขาดดุลเป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี ซึ่งเบ็ดเสร็จ คสช.มีงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 2.192 ล้านล้านบาท 

และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในการเลือกตั้งของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะทำงบประมาณทั้งหมด 3 ปีด้วยกัน คือตั้งแต่ปี 2563-2565 มีงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 2.738 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่รวม พ.ร.ก.กู้เงินอีก 2 ฉบับ ทั้ง 1 ล้านล้าน และ ฉบับปัจจุบัน 5 แสนล้านบาท 

ในวันนี้ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างพระราชกำหนดกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ส่วนตัวคิดว่าอีกภายใน 3 เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 1 แสน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านพ.ร.ก.กู้เงินในครั้งนี้อาจจะขัดต่อพระราชบัญญัติวินัยทางการเงินการคลัง พุทธศักราช 2561 ที่กำหนดให้ประเทศมีที่สาธารณะไม่เกิน GDP ที่ 60 % 

อย่างไรก็ตามจากการที่เป็นผู้แทนราษฎรในช่วง2 ปีที่ผ่านมา มีรู้สึกมีความเสียใจที่สุดในการเป็นสภาผู้แทนราษฎร คือการที่ตนได้ตัดสินใจเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 เพราะถ้าไม่เลือกเขาวันนั้นเชื่อว่าเขายกเลิกการเลือกตั้งแน่นอนเพราะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เลือกไปแล้วอย่างน้อยมาตรา 44 รักษาความสงบจะหายไป แต่ไม่คิดว่าคนที่เป็น ผบ.ทบ.มา 4 ปี นายกรัฐมนตรีมา 5 ปี ทั้งทั้งที่รู้ทุกเรื่องน่าจะมีความสามารถและมีความสุจริตมากกว่ารัฐบาลที่มาจากพลเรือน แต่พอมาประเมินความสามารถทุกด้านของท่านนายกรัฐมนตรีแล้วสุดท้ายท่านแก้ไม่ได้ แก้แบบถ้วงเวลาแก้แบบเลี้ยงไข้ปล่อยให้ผู้ป่วยจำนวนมากตายอย่างไร้ญาติขาดมิตร ตายอย่างทรมาน เพราะไม่มีรัฐบาลมารับ 

มงคลกิตติ์ ระบุว่า จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้หากประเทศไทยยังมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศชาติ ประชาชนคงสิ้นหวัง เพราะพวกเราได้เห็นสิ่งที่ผ่านไปในอดีต และกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันซึ่งเมื่อท่านอยู่มันไปต่อไม่ได้จริงๆ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านฉบับดังกล่าว แม้จะผ่านไปก็จะผิดกฎหมายไม่ผ่านประชาชนก็จะเดือดร้อน ดูแล้วไร้ซึ่งอนาคตถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ต่อก็จะขอกู้ต่อไปอีกหลายฉบับ จึงขอถามท่านนายกฯว่า หนี้เยอะขนาดนี้ท่านมีปัญญาใช้หนี้ไหม 

'ประยุทธ์'เก็บตัวทำเนียบฯ เกาะติดสภาฯ ถก พ.ร.ก.

ส่วนความเคลื่อนไหวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมในวันเดียวกันนี้ เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจภายในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ ตั้งแต่ในช่วงเช้า โดยนายกรัฐมนตรีได้เรียกนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เข้าพบ โดยคาดว่าหารือถึงรายละเอียดการปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนในพื้นที่เองได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)

อย่างไรก็ตามตลอดทั้งวันนี้นายกรัฐมนตรี ไม่มีวาระงานหรือกำหนดการ ทั้งการประชุมหรือการหารืออย่างเป็นทางการแต่อย่างใด โดยคาดว่าจะใช้เวลาติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง