ไม่พบผลการค้นหา
รมว.คลัง แจงออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ภาระหนี้ไม่เกินเพดานสากล ชี้จำเป็นเร่งด่วน มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล

วันที่ 9 มิ.ย. 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรื่องด่วน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดย อาคม เติมวิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงเหตุผลว่า ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 มาต่อเนื่อง ผ่านแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ แต่พบว่ายังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการระบาดในระลอกใหม่ได้ อีกทั้งเงินทุนสำรองจ่ายที่เหลืออยู่ มีไม่เพียงพอ ขณะที่การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2564 นั้น รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ปี 2564 มีข้อจำกัดและได้รับผลกระทบจากการระบาดจากโควิด-19

หากจะรอแหล่งเงินจากงบประมาณปี 2565 จะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งงบประมาณดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีงบประมาณปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีจำเป็นเร่งด่วน มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาลในการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้


โปร่งใส-รัดกุม-พาประเทศพ้นวิกฤต

อาคม กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงินฉบับนี้ มีสาระสำคัญคือ การให้อำนาจกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2565 เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายใน 3แผนงานคือ 1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน วงเงิน3หมื่นล้านบาท 2.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 3แสนล้านบาท และ 3.แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1.7แสนล้านบาท

“การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า ความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ มีการกำหนดกรอบการใช้เงินที่สอดคล้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบรัดกุม รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลกได้กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้สิ้นปี 2564 ระดับหนี้ภาครัฐบาลของโลกคาดจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ2,760 ล้านล้านบาท“ อาคมกล่าว

ส่วนตัวเลขหนี้ของไทย สิ้นเดือนเม.ย.2564 อยู่ที่ร้อยละ 50.69 ต่อจีดีพี ยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สากล โดยระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ ไม่มีระดับตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลมีเจตนาเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะทำด้วยความรอบคอบ อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง