ไม่พบผลการค้นหา
‘พรรคอนาคตใหม่’ จะถึงขั้นล้มทั้งพรรคด้วยการถูกยุบพรรคหรือไม่? นี่คือประเด็นที่ต้องลุ้นและติดตามคำร้องที่กำลังเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งเทียบกับคดีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเคยวางบรรทัดฐานตีความเหตุแห่งการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้อย่างน่าสนใจ

ประเด็นร้อนถูกสื่อขยายข่าวขึ้นหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ในรุ่งเช้าวันที่ 20 ก.ค. 2562 หนีไม่พ้นกับคำถามที่ว่า ‘พรรคอนาคตใหม่’ จะถูกยุบพรรคหรือไม่ เมื่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 มีมติ 5 ต่อ 4 เสียง รับคำร้องกรณีที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1-4 ตามลำดับเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 หรือไม่

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญชุดที่มี ‘นุรักษ์ มาประณีต’ เป็นประธานได้รับคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง 

ท่ามกลางสังคมกำลังตั้งข้อสังเกตและกังวลว่าการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจนำมาซึ่งการยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่?

ทษช.-ไทยรักษาชาติ-ยุบพรรค-ศาลรัฐธรรมนูญ

ยิ่งดูถ้อยคำตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยการใช้สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และไม่ได้มีการระบุถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง 

โดยมาตราดังกล่าวบัญญัติเพียงว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ 

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ

ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง”

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าตนเอง พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ 

“ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาว่าผู้ถูกร้องได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจเพียงการสั่งการให้เลิกการกระทำเท่านั้น มิใช่กรณีร้องขอให้ยุบพรรคหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด พูดง่ายๆ ก็คือ ในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้เพียงสั่งยกคำร้องหรือสั่งให้เลิกการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น” นายปิยบุตร กล่าว 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ย้อนคำวินิจฉัย ศาล รธน. ชี้แก้ไข รธน. ที่มา ส.ว. ล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เพิ่งตีความการกระทำของบุคคล หรือพรรคการเมืองล้มล้างการปกครองเป็นครั้งแรก แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างเช่นการแก้ไขคุณสมบัติ และให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กระทั่งเรื่องการแก้ไขที่มา ส.ว. ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าประธานรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ส.ว. ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขที่มา ส.ว. ในขณะนั้นใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมทั้งขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ด้วยเหตุว่าที่มาของ ส.ว. ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการทำลายระบบตรวจสอบและถ่วงดุลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 จึงอาจจะเป็นการกระทําเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ด้วยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยว่าการแก้ไขที่มา ส.ว. มีเนื้อความที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ส่วนในกรณียุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไข จึงให้ยกเลิกคำร้องในส่วนนี้

รัฐสภา ประท้วง ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย สมศักดิ์ 00_Hkg7382696.jpg

ทั้งนี้ มาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้กำหนดบทบัญญัติให้ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวสามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ และศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ

ชี้ กปปส.ชุมนุมใช้เสรีภาพไม่ถึงขั้นล้มล้างการปกครอง

ในขณะที่คำร้องที่นายวิชาญ นุ่มมาก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นายสิงห์ทอง บัวชุม นายกิตติ อธินันท์ ในฐานะผู้ร้องได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ถูกร้องได้ใช้สิทธิและเสรีภาพกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญกรณีร่วมชุมนุมบุกยึดสถานที่ราชการปลุกระดมมวลชนปิดถนนหลายเส้นทางในกรุงเทพฯ และเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากรักษาการนายกฯ เพื่อเปิดทางให้จัดตั้งสภาประชาชนและมีนายกรัฐมตรีพระราชทาน

โดยศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณา คำร้องดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2556 ด้วยมติ 6 ต่อ 1 เสียงเห็นว่า

“การชุมนุมของประชาชนตามคำร้อง เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว ไม่มีมูลตามคำร้องดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา68”

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

สุเทพ เทือกสุบรรณ กปปส Cover Template.jpg

ยุบ ทษช. เหตุอาจเป็นปฏิปักษ์การปกครอง

ในประเด็นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลยุบพรรคไทษรักษาชาติ (ทษช.) ในฐานะผู้ถูกร้อง ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2562 จากกรณีที่เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค 

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 เสียง วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (2) กรณีกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญยังอธิบายการกระทำการ ‘ล้มล้างการปกครอง’ และนิยามของคำว่า ‘อันอาจเป็นปฏิปักษ์’ ซึ่งน่าจะเป็นบรรทัดฐานในคดีที่ถูกร้องในข้อกล่าวหาเดียวกัน

ปรีชาพล-ทษช.-ไทยรักษาชาติ-ยุบพรรค-ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยยุบพรรค ทษช. ระบุว่า

“ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า ‘ล้มล้าง’ และ ‘ปฏิปักษ์’ ไว้ แต่ทั้งสองคำนั้นก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ได้เองด้วยว่า ‘ล้มล้าง’ หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป”

“ส่วนคำว่า ‘ปฏิปักษ์’ ไม่จำต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว”

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบ ทษช. ยังชี้ว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง เป็นการกระทำที่วิญญูชนคนทั่วไป ย่อมรู้สึกได้ว่าสามารถทำให้พระมหากษัตริย์ของไทยที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติต้องถูกนำไปใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยลให้ปรากฏผลเสมือนเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง และมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางทางการเมือง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ล้มล้างการปกครอง รัฐธรรมนูญ E309C-8209-4610-85D0-50FD6F52DC14.jpeg

(ตาราง เปรียบเทียบ มาตรา 49 รธน. 2560 กับ มาตรา 68 รธน. 2550 หนังสือ เปรียบเทียบ รธน. 2540-2550 และ รธน. ปี2560 โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)

อย่างไรก็ดี เหตุแห่งการนำเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 ที่ระบุว่า หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคการเมืองกระทําการใดที่ระบุในมาตรานี้ ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย���ห้ยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้

โดยมาตรา 92 ยังบัญญัติถึงการกระทำที่เป็นผลให้ยุบพรรคการเมืองได้ ใน (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ซึ่งเป็นมูลเหตุเดียวกันกับคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เพื่อขอให้วินิจฉัยการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ว่ากระทำการล้มล้างการปกครองหรือไม่ 

เพียงแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 49 ไม่มีถ้อยคำใดให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองได้ มีเพียงให้สิทธิดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่กระทำการใช้สิทธิและเสรีภาพล้มล้างการปกครองเท่านั้น

ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 68 ที่กำหนดให้กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองใดเลิกการกระทำล้มล้างการปกครองแล้ว ศาลอาจสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้

และศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันก็เคยชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. เป็นการขัดต่อมาตรา 68 และตีความมาตรา68 ด้วยว่าการชุมนุมของ กปปส.ไม่ใช่การกระทำล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68

ข่าวที่เกี่ยวข้อง