ไม่พบผลการค้นหา
มาตรการ "ลด-แลก-แจก-แถม" ทั้ง "กระตุ้น" ทั้ง "พยุง" เศรษฐกิจกลับมาอีกแล้ว เมื่อ 'ทีมสมคิด' ประเมินว่า ครึ่งแรกปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตปริ่มร้อยละ 3 ส่อสัญญาณชะลอตัว นักเศรษฐศาสตร์จี้เร่งกู้ผลกระทบภัยแล้ง สร้างงานในชนบท

"แจกเงิน อีกแล้วเหรอ" นี่เป็นคำถามที่ผุดเป็นดอกเห็ดขึ้นมาตามโซเชียลมีเดียในช่วงนี้ หลังมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังทำแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่ โดยหลายมาตรการใช้วิธี "แจกเงิน" ทั้งการแจกเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวเมืองรอง คนละ 1,500 บาท (ที่ยังต้องรอมติ ครม.และรายละเอียดที่จะออกมา) และ การแจกค่าซื้ออุปกรณ์การเรียนช่วงเปิดเทอมให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ อีกหลายมาตรการ

อีกทั้ง หลังเทศกาลสงกรานต์ไม่กี่วัน 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' กุนซือเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ได้ประชุมสั่งการให้กระทรวงการคลังออกแพ็กเกจ "มาตรการพยุงเศรษฐกิจ" ในช่วงรอยต่อก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่ โดยให้เวลาเตรียมการ 2 สัปดาห์ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในวันที่ 30 เมษายนนี้ เพื่อจะได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป

อ้างไตรมาส 2 /2562 เศรษฐกิจชะลอหนัก

'สมคิด' บอกว่า อีกราวเดือนเศษๆ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะหมดภารกิจ และจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา แต่เนื่องจากหลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง พบว่า มีการชะลอตัวของการลงทุน และ การบริโภค จึงเป็นห่วงว่า ช่วงรอยต่อก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ ในระยะ 2-3 เดือนนี้ เศรษฐกิจจะชะลอลงไปมากเกินไป จึงจำเป็นต้องหามาตรการมาพยุงเศรษฐกิจช่วงนี้ เพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโตเอาไว้

"ไตรมาส 2 เศรษฐกิจมีสัญญาณอ่อนตัวลง โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลัง เมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้ว สถานการณ์ก็จะดีขึ้น ฉะนั้นประเด็นสำคัญคือช่วงรอยต่อ ขณะนี้กับช่วงก่อนจะมีรัฐบาลใหม่ เราไม่อยากให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป" สมคิดกล่าว
สมคิดตรวจงานกระทรวงอุต

'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' ขุนคลังคู่ใจ "มือเสิร์ฟ" ก็รับลูก โดยระบุว่า ทาง สศค. ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสแรกกับไตรมาส 2 จะเติบโตน้อย อยู่แค่ระดับร้อยละ 3 ต้น ๆ เท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการพยุงการเติบโตไว้ เพราะหากปล่อยให้ชะลอลงไปมาก เวลาจะฟื้นให้กลับมาจะต้องใช้ทรัพยากรในการดำเนินการมาก

อัดงบกลาง 2 หมื่นล้าน "แจกเงิน" พร้อม "ลดหย่อนภาษี"

'อภิศักดิ์' บอกว่า มาตรการที่มีการเสนอกันมาเบื้องต้น จะมี 2-3 เรื่อง ใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากงบกลาง ในปีงบประมาณ 2562 โดยมาตรด้านการบริโภค จะมีเงินอุดหนุนให้ท่องเที่ยวเมืองรอง (เดิมมีเสนอ 1,000 บาท/ราย แต่อาจขยับขึ้นเป็น 1,500 บาท/ราย โดยต้องลงทะเบียนรับคูปองอิเล็กทรอนิกส์) พร้อมกับการให้หักลดหย่อนภาษีกรณีค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวทั่วประเทศ (หักได้ตามจริงไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท จนถึงสิ้นปี 2562)

"การลดหย่อนภาษีจะขยายจากแค่เมืองรองให้ครอบคลุมทุกเมือง เพราะว่ามีรายงานว่า ตอนนี้เมืองใหญ่ ๆ การท่องเที่ยวก็ตกลงไป" อภิศักดิ์กล่าว

ขณะเดียวกัน ก็จะนำแนวทางมาตรการภาษี "ช็อปช่วยชาติ" มาใช้สำหรับช่วยผู้ปกครองที่ต้องซื้ออุปกรณ์การเรียนให้บุตรหลานก่อนจะเปิดเทอม อาทิ เสื้อผ้านักเรียน เครื่องกีฬา เป็นต้น (หักได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท เป็นช่วงเวลาสั้นในเดือน พ.ค.) รวมถึงจะมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อหนังสือ เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านทุนมนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งจะทำเป็นมาตรการระยะยาว (หักได้ตามจริง ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท)

ด้านการลงทุน 'อภิศักดิ์' บอกว่า จะส่งเสริมให้มีการลงทุนปรับระบบรองรับธุรกรรมชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) สำหรับร้านค้าต่างๆ ที่ลงทุนติดตั้งเครื่องรับอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ระบบ POS (ระบบขายหน้าร้าน) และ ระบบออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) โดยจะให้นำรายจ่ายมาหักภาษีได้ 1.5-2 เท่า

เติมบัตรคนจน-กระตุ้นอสังหาฯ

ขณะที่ การช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (ผู้ถือบัตรสวัสดิการ) เพิ่มเติมนั้น 'อภิศักดิ์' บอกว่า จะมีการเติมเงินเพิ่มในบัตรสวัสดิการ เพื่อให้คนจนได้มีเงินไปซื้ออุปกรณ์การเรียนแก่บุตรหลานในช่วงเปิดเทอมนี้ (ตามกระแสข่าวว่าจะแจก 500 บาท/บุตร 1 คน)

ส่วนด้านอสังหาริมทรัพย์ รมว.คลัง กล่าวว่า จะให้ธนาคารออมสินและ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เข้าไปดูว่า จะเข้าไปทดแทนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ได้อย่างไรบ้าง เพราะมาตรการดังกล่าวทำให้คนกู้เงินได้ยากขึ้น ทั้งนี้ ยอมรับว่า ภาคอสังหาฯ มีความเกี่ยวเนื่องกับภาคอื่นๆ มาก หากกระตุ้นให้ดีขึ้นได้ ก็จะทำให้ภาพรวมดีขึ้นไปด้วย ดังนั้นจึงอาจจะมีมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาฯ ออกมาด้วย

นอกจากนี้ จะให้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดให้มีสิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ที่เรียนในหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต หรือ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์


"มาตรการที่ทำทั้งหมดนี้ จะใช้เงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คิดว่าน่าจะพยุงเศรษฐกิจได้ช่วงหนึ่ง ซึ่งผมว่า รัฐบาลไหนเข้ามา ก็ไม่อยากเริ่มจากเศรษฐกิจที่ทรุด" รมว.คลังกล่าว
สมคิด ประชุม PPP

ครองประเทศมาจะ 5 ปีเต็ม ใช้แต่สูตร "ลด-แลก-แจก-แถม"

ถึงขณะนี้ ต้องบอกว่า รัฐบาล คสช. บริหารประเทศมาจะครบ 5 ปีเต็มในเดือนพฤษภาคมนี้แล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อยู่ในห้วงอำนาจ รัฐบาลมักกล่าวอยู่ตลอดเวลา ว่าจากผลงานบริหารนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นมาก ไต่จากระดับที่ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1 ต่อปี มากระทั่งเติบโตได้ร้อยละ 4.1 ในปี 2561 ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ 'สมคิด' เข้ามานั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รับบทบาทขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อย่างเต็มที่ นับตั้งแต่นั้นมารัฐบาล คสช. ก็มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบ "ลด-แลก-แจก-แถม" ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ปีแรกที่ 'สมคิด' เข้ามา ก็จัด "แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ" โดยอัดฉีดเงินเข้าระบบ 1.36 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558

ส่วนปี 2559 ก็มีการ "แจกเงิน" ให้ผู้มีรายได้น้อย 1,500-3,000 บาท/ราย (ก่อนที่ปีต่อมาจะใช้วิธีการ "เติมเงิน" เข้า "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" และเติมมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน) รวมถึงมีมาตรการภาษีกระตุ้นการลงทุน มาตรการลดหย่อนภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ แถมปลายปียังมี "ช็อปช่วยชาติ" มากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลปีใหม่อีก

"มาตรการลดหย่อนภาษี" เหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทีมเศรษฐกิจยุค 'สมคิด' นิยมใช้เป็นอย่างมาก โดยงัดออกมาใช้อย่างต่อเนื่องทุกปี ถือได้ว่าเป็น "ยาสามัญประจำบ้าน" เลยทีเดียว

ทุ่งนา-อีสาน-ข้าว-ชนบท-เกษตร-เศรษฐกิจ

กระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหนถึงจำเป็น?

สำหรับปี 2562 ที่ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 1 ไตรมาส (ม.ค.-มี.ค.) หลายๆ สำนักด้านเศรษฐกิจ ต่างพาเหรดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้เหลือโตต่ำกว่าร้อยละ 4 โดยส่วนใหญ่มาจากผลกระทบจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ ขณะที่ในส่วนของ สศค. จะมีการปรับประมาณการปลายเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า สศค. ประเมินว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกจะขยายตัวที่ราวร้อยละ 3.1 ส่วนไตรมาส 2 มีโอกาสชะลอลงต่ำกว่าร้อยละ 3 จึงเป็นเหตุให้ 'สมคิด' และ 'อภิศักดิ์' ยกมาเป็นเหตุผลในการออกมาตรการ "พยุงเศรษฐกิจ" ในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ มีเสียงจาก 'อนุสรณ์ ธรรมใจ' คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เสนอแนะว่า เรื่องที่รัฐบาลควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือ การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลผลกระทบจากภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากในหลายพื้นที่ และ ทำให้พืชผลเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ มีผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ ประชาชนฐานรากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน


"รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของการลดรายจ่าย ช่วยเหลือเรื่องหนี้ครัวเรือน เพิ่มสวัสดิการ และ โครงการจ้างงานเพิ่มเติมในชนบทเพื่อให้ประชาชนฐานรากและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจ้างงานเนื่องจากในหลายพื้นที่ในชนทบไม่สามารถทำการเกษตรได้จากการขาดแคลนน้ำและสภาพอากาศไม่เหมาะสมในการทำงาน" อนุสรณ์ระบุ


อีกทั้ง 'อนุสรณ์' ยังเห็นว่า รัฐบาลควรชะลอในส่วนที่เป็นโครงการสัมปทานที่มีผลประโยชน์มหาศาลและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ไว้ก่อน เพื่อรอให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งจะมีการตรวจสอบถ่วงดุล และ รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :