ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มแคร์ ระดมสมองผ่านเสวนาฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว โดยภาคธุรกิจท่องเที่ยว สะท้อนปัญหาหลังโควิด-19 กระทบธุรกิจโรงแรมหลายแห่งในกรุงเทพฯอาจปิดตัวถาวร วอนรัฐยื่นมือช่วย ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมโรคแนะต้องเน้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในประเทศต้องไร้โควิด-19 จนกว่าจะผลิตวัคซีนได้

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ห้องประชุมข่าวสด อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มติชน ข่าวสด และกลุ่ม CARE ร่วมจัดเสวนา ‘ระดมสมอง ฟื้นเศรษฐกิจ ชุบชีวิตท่องเที่ยว’ ดำเนินรายการโดย นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายสมปรารถนา คล้ายวิเชียร โดยเวทีเสวนาครั้งนี้เชิญบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจท่องเที่ยว มาร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา อาทิ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กลุ่ม CARE นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน ไทยแอร์เอเชีย น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย น.ส.ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ดร.สุมาลี ว่องเจริญกุล เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว นายเด่น มหาวงศนันท์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ

โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า วันนี้เป็นการระดมสมองภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปเพื่อนำเสนอผู้รับผิดชอบและสังคมส่วนรวม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้แต่ยังต้องเข้มงวดต่อไป ในขณะที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด สิ่งสำคัญในวันนี้คือการจัดสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจกับการสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นอาจไม่สมารถฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปได้

สุรพงษ์ กลุ่มแคร์ เสวนา 93-9692-5653836FAD64.png

รองอธิบดีควบคุมโรค แนะท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเดินทางเข้าประเทศไทยมีความเป็นไปได้ หากจัดการระบบที่ดี และคิดว่าการท่องเที่ยวต่อไปไม่ได้เป็นรูปแบบเดิม แต่ต้องเป็นวิธีใหม่ เน้นท่องเที่ยวปลอดภัยส่งเสริมสุขภาพ ไม่เพียงแต่เรื่องภาคการท่องเที่ยวที่จะคิดในแนวนี้ ทุกภาคส่วนต้องคิดเหมือนกัน เพราะจะอยู่แบบนี้อีกนานแค่ไหนยังไม่มีใครรู้ ต้องสร้างมิติที่สมดุล โรคโควิด-19 ไม่ได้รุนแรงมาก ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปีเสียชีวิตเพียง 1 หรือ 2 ต่อ 1,000 ราย แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุมีโอกาสเสียชีวิต 3-8 เปอร์เซ็นต์ แต่ถามว่าทำไมต้องกลัว นั่นเพราะหากระบาดอย่างกว้างขวาง จะมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์มาก

สำหรับประเทศไทย ถือว่ามีทรัพยากรทางการแพทย์ในระดับที่พอดี ไม่ได้เตรียมเผื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสูงมาก เพราะฉะนั้นเป้าหมายสูงสุดคือการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งจากความสำเร็จของไทยจะเห็นว่ามีการแพร่ระบาดน้อยมาก บางคนเชื่อว่าได้กำจัดโรคไปได้แล้ว แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะหลายประเทศที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เป็นเวลานาน ในภายหลังก็กลับมาพบใหม่อีก 

ตั้งเป้าไทยต้องไร้ผู้ป่วยในประเทศจนกว่ามีวัคซีน

นพ.ธนรักษ์ ระบุว่า สำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ไม่ให้มีผู้ป่วยในประเทศอีกเลยจนกว่าจะมีวัคซีน หรือมีบ้างแต่คุมได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้มากกว่า มองว่าที่เหมาะสมคือการป้องกันการระบาด และถ้ามาใหม่ก็ไม่ตระหนก เชื่อว่าจะคุมได้ จากวันนี้จนถึงวันที่มีวัคซีน เชื่อว่าจะยังมีผู้ป่วยกลับมาอีก แม้มีวัคซีนแล้ว โอกาสกลับมาระบาดก็ยังมี ยังต้องระวังในระดับหนึ่ง ไม่ให้เจ็บปวดซ้ำอีก

หวั่นเปิดการบินระห่างประเทศไม่ได้กระทบธุรกิจสายการบิน

นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า สายการบินเหมือนเป็นต้นน้ำ ที่พาคนจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยแอร์เอเชียมีเครื่องบินทั้งหมด 60 ลำ วันที่ปิดประเทศหยุดบินทั้งหมด เมื่อไม่นานมานี้เครื่องบินได้ 25 ลำ แต่เป็นการบินภายในประเทศ อย่างที่ทราบส่วนใหญ่รายได้ที่เข้าประเทศเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ถ้ายังไม่สามารถเปิดบินระหว่างประเทศได้ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบ 

ที่สำคัญในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้คุยกับผู้ประกอบการหลายส่วน มองว่าตราบใดที่รัฐบาล ยังใช้กติกาก่อนเกิดโควิด นำมาใช้ในปัจจุบัน จะทำให้ธุรกิจเดินไปไม่ได้ เพราะไปกู้ไม่ผ่าน ไม่มีเงินหมุนเวียนมาทำธุรกิจ อยากให้พิจารณาเปิดประเทศในส่วนที่สามารถไปได้ อย่ากล้าๆ กลัวๆ หลายประเทศทั่วโลกสนามบินเปิด แต่มีมาตรการที่ชัดเจน ไทยยังไม่มีเรื่องตรงนี้ สัปดาห์ที่แล้วได้เดินสายคุยกับทูตประจำประเทศไทยหลายประเทศ ทุกคนพูดตรงกันว่า ไทยจะมีมาตรการอย่างไรกับนักท่องเที่ยว ถ้าเขาทำได้ เขายินดีเปิด แต่เรายังไม่มีมาตรการชัด หากดำเนินการเป็นขั้นตอนโดยพิจารณาผู้เดินทางที่มีความจำเป็น เช่น ผู้ป่วยต่างประเทศ ที่ต้องการเดินทางมารักษาตัวก่อน ต่อด้วยนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ค่อยๆ ทำเป็นเฟส เชื่อว่าจะเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบธุรกิจได้ 

นายกสมาคมโรงแรม คาดหลายโรงแรมในกรุงเทพฯ จะปิดถาวรเหตุขาดทุน

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงแรม ที่ขึ้นทะเบียนมีใบอนุญาตถูกต้อง 16,282 แห่ง และอีก 4,000 กว่าแห่งไม่ถูกต้อง ในช่วงเกิดโควิด-19 ทั้งหมดได้รับผลกระทบ เพราะต้องปิดให้บริการชั่วคราว ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เรื่องค่าใช้จ่ายค่าแรงพนักงาน แม้จะคลายล็อกเดินทางข้ามจังหวัดได้แล้ว มีการจองโรงแรมเต็มในที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่เป็นการเที่ยวแบบอัดอั้น และเป็นโรงแรมที่เดินทางได้ใกล้ๆ ซึ่งไม่ใช่ความต้องการท่องเที่ยวที่แท้จริง เช่น ที่กรุงเทพฯ หลายโรงแรมยังไม่มีคนเข้าพักเลย เพราะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ไม่ได้รับคนต่างจังหวัดเดินทางมาเที่ยวที่กรุงเทพฯ ภาพรวมขณะนี้แม้โรงแรมต่างๆ จะเริ่มมีรายได้บ้าง แต่ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย ถ้ายังไม่ผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้าง เชื่อโรงแรมอาจจะปิดถาวรในจำนวนหนึ่ง เพราะจะขาดทุน จะทนขาดทุนได้สักกี่เดือน 

นางศุภวรรณ ระบุว่า สิ่งที่เราเผชิญคือปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายแรงงาน คือพนักงานที่มีอยู่ ซึ่งตามกฎหมายแรงงานถ้ามีการปิดกิจการชั่วคราว ต้องจ่าย 75 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ซึ่งไม่สามารถจ่ายได้ในขณะนั้น สิ่งที่ทำได้คือสิ่งที่เรียกว่าแรงงานสัมพันธ์ คือการไปพูดคุยกับพนักงานว่าเราคงจ่ายให้แค่บางส่วน ให้พนักงานอยู่บ้าน เพราะตอนนั้นมีการล็อกดาวน์ สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ โรงแรมหลายแห่งเริ่มเปิด แต่หลายแห่งไม่ได้เปิด เมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ จะเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมียอดจองโรงแรมเต็ม เช่น บางแสน อย่างไรก็ตาม มองว่ามีสาเหตุมาจากความอัดอั้นจากการล็อกดาวน์มานาน ซึ่งโรงแรมที่มียอดจองมาก มักอยู่ระหว่างการขับรถยนต์ราว 2-3 ชั่วโมง เช่น พัทยาและหัวหิน แต่ในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ คนคงไม่ไป และขณะนี้โรงแรมก็ยังไม่เปิด 100 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มแคร์ เสวนา 466F-AE7D-07E449D7AA97.jpeg

นางศุภวรรณ ระบุว่า โรงแรมในกรุงเทพ มีจำนวน 900 กว่าแห่งซึ่งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ไม่ได้มีผู้เดินทางจากต่างจังหวัดมาเที่ยวกรุงเทพฯ รายได้ในขณะนี้มาจากการจัดประชุม สัมมนา แต่ก็น้อยลงกว่าเดิมมาก หากยังไม่ผ่อนคลายหรือมีมาตรการที่ชัดเจน เชื่อว่าโรงแรมต้องปิดอย่างถาวรไปอีกจำนวนหนึ่ง เพราะเปิดมาก็มาครอบคลุมรายจ่าย ไม่แน่ใจว่าจะทนขาดทุนไปได้กี่เดือน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ หากเป็นรายใหม่ที่ไม่ได้มีเงินเก็บมากพอ จะอยู่ได้ไม่ยาว และเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป จะมีโรงแรมที่ปิดถาวรเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ หากรัฐยังไม่มีโอกาสมาช่วยเหลือ การท่องเที่ยวอาจไม่ได้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศอีกต่อไป เพราะการกลับมาอีกครั้งไม่เต็มร้อย ไม่สามารถรองรับการกลับมาใหม่ การลงทุนด้านการโรงแรม มองไม่เห็นอนาคต

น.ส.ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ไทยมีผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดประมาณ 4.2 แสนราย แต่อย่างที่ทราบบ้างร้านไม่ได้ทำบัญชี เมื่อประสบปัญหาจึงไม่สามารถหากู้เงินได้ตามระบบและเข้าไม่ถึงการกู้เงินของภาครัฐ รวมถึงเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยมาก จึงอยากให้ใช้โอกาสนี้ปรับปรุงเงื่อนไข และกติกา ที่สำคัญคือเรื่องผลผลิตทางการเกษตร เมื่อส่งออกไม่ได้ ก็ตกค้างในประเทศ 

นายธนวัฒน์ ศรีสุข ตัวแทนศิลปินบันเทิง คนกลางคืน กล่าวว่า ทุกคนมองว่าเป็นธุรกิจสีเทา ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง มีคนอยู่ในกลุ่มนี้ไม่รวมครอบครัวประมาณ 7 ล้านคน ไม่ใช่คนกลุ่มเล็ก สถานบันเทิงปิดให้บริการก่อนใคร และเปิดหลังใคร และหลังเปิดให้บริการแล้วมีผู้มาใช้บริการลดลงอย่างมาก และมาตรการเข้มงวดมาก เช่น เวลาการเปิด-ปิด ที่นักท่องเที่ยวกว่าจะมาถึงร้าน อยู่เที่ยวได้ไม่นานก็กลับ ทั้งนี้การยื่นกู้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถูกมองว่าไม่มีความมั่นคง เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยง จึงอยากเรียกร้องถึงรัฐบาลให้พิจารณาด้วย 

นายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น นักธุรกิจและผู้บริหารสถานบันเทิงหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต สร้างรายได้อย่างมากให้กลับประเทศ และเมื่อมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับไม่ได้รับการดูแล ทำเหมือนคนน่ารังเกียจ มาตรการช่วยเหลือไม่มีมาตรการใดที่เป็นประโยชน์กับชาวภูเก็ตเลย ทั้งที่ชาวภูเก็ตเสียสละอย่างมากในหลายเรื่อง ทั้งนี้จึงอยากเสนอให้ภูเก็ตอยู่ในรูปแบบการปกครองพิเศษ เพื่อนำเงินที่หาได้มาใช้บริหารจัดการช่วยเหลือตัวเอง 

สภาอุตฯครวญไร้นักท่องเที่ยว ทำบริษัทคนไทยอยู่ไม่ได้

นายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการคนไทยไม่เข้มแข็งจากหลายสาเหตุ ผู้ประกอบการคนไทย ขายตั๋วสู้คนอื่นไม่ได้ ที่เชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี ชัดที่สุด ขายตั๋วให้บริษัทหนึ่ง ราคา 300 บาท แต่บริษัททัวร์ไปซื้อในราคา 450 บาท สุดท้ายต้องซื้อกับบริษัทนี้ทั้งหมด รวมทั้งไกด์ต้องวิ่งไปหาบริษัทเดียว สิ่งสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้มาลงทุนท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งระบบ เดี๋ยวนี้มีอีกเยอะที่ไม่ใช่คนไทย ขออนุญาตใช้ว่านอมินี เมื่อ พ.ศ. 2559 เคยพบปัญหาว่าจากการที่ทางรัฐบาลจัดการเรื่องทัวร์จีน โดยระบุว่าเรียบร้อยแล้ว แต่ถามว่าไม่มีทัวร์ศูนย์เหรียญแล้วใช่หรือไม่ จริงๆแล้วเป็นเพราะเราไม่อยากพูดคำว่าทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้น ยังคงอยู่ ขอยืนยันว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงไม่เจอโควิด บริษัทคนไทยก็แทบจะอยู่ไม่ได้แล้ว บริษัทที่นำทัวร์จากจีนเข้ามา เดิมที่เป็นคนไทยหายหมด ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำไมไม่หาวิธีแก้ไขให้ชัดเจน อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่เข้มแข็งของผู้ประกอบการคนไทย คือเรื่องระบบภาษี

“ภาครัฐคิดว่าให้กับเราตอนนี้ จากงบประมาณ จากงบ 22,400 ล้านบาทที่จะถึงเร็วๆนี้ มีงบให้กำลังใจสำหรับ อสม. 1 ล้าน 2 แสนคน รวมเงิน 2,400 ล้านบาท ซึ่งดีมาก คนที่จะได้รับประโยชน์คือบริษัททัวร์ 13,000 ราย อย่างไรก็ตาม อย่าบอกว่าเราได้รับแล้ว เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่าง คุณให้คนละ 2, 000 บาท พัก 1 คืน รวมไกด์ ค่ารถ และทุกอย่าง ขณะนี้มีประเด็นสำคัญคือต้องให้บริษัททัวร์ที่สนใจรับ อสม. มาขึ้นทะเบียนให้เสร็จในวันที่กำหนด ซึ่งยังพอทำได้ แต่กลับต้องให้ใส่โปรแกรมทัวร์ให้เรียบร้อยเหมือนกัน ซึ่งจะเกิดปัญหาจากการล็อคโปรแกรมที่กำหนดด้วยว่าห้ามเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปไมได้” นายสุรวัชกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง