ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มแคร์เสนอแบงก์ชาติออกโครงการ 'สินเชื่อผ่อนปรน' ดอกเบี้ยร้อยละ 2 วงเงินสูงถึง 2 ล้านล้านบาท แถมปลอดการคืนเงินต้นไปเลย 4 ปี ใช้เงินจากสภาพคล่อง ธปท. เหมือนซอฟต์โลน 5 แสนล้าน ผ่านกลไก ธปท. รับซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 100 ปี ชี้เป็นหนทางพา 'เศรษฐกิจไทย' ข้ามพ้นหุบเหวมหาวิกฤต

สำหรับผู้ได้ฟังเฟซบุ๊กไลฟ์ 'กลุ่มแคร์' ในบ่ายวันที่ 28 มิ.ย.2563 และได้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่มแคร์ ถึงข้อเสนอ 'ชุบชีวิตเศรษฐกิจไทย' หลังจากเมื่อวันเปิดตัวกลุ่มแคร์ ได้ฉายภาพความน่าสะพรึงกลัวของ 'มหาวิกฤตเศรษฐกิจไทยใน 150 วันอันตราย' ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือน ต.ค. นี้ ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาระยะที่ 1-2 ของรัฐบาล 'ประยุทธ์' สิ้นสุดลง โดยเฉพาะเงินเยียวยาแรงงานอิสระ 15 ล้านคน คนละ 15,000 บาท ที่จะสิ้นสุดในปลายเดือน มิ.ย. นี้ รวมถึงเงินเยียวยาเกษตรกร 10 ล้านคนๆ ละ 15,000 บาท ที่จะจบในสิ้นเดือน ก.ค.นี้

เฟซบุ๊กไลฟ์ 'กลุ่มแคร์' เมื่อบ่ายที่ผ่านมาจึงพูดถึง ข้อเสนอที่เขาและเธอบอกว่า 'ปัง และเปย์สุดๆ' เป็น 'แคร์สายเปย์' ผ่านการทำการบ้านทำการวิเคราะห์ของ 'ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ' ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ 


ซอฟต์โลนแบงก์ชาติ 5 แสนล้าน
ไม่พอสร้างสะพานพา 'ไทยรอด'

ดร.ศุภวุฒิ ยอมรับว่า เมื่อย้อนไปปลายเดือน มี.ค. ที่รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรคระบาด อันนั้นตอนนั้นพอรับได้ แต่ก็ได้บอกกันมาตั้งแต่ต้นว่า มาตรการจำกัดกิจการกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เหล่านั้น "มีต้นทุน" มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสิ่งที่จะให้ดูถึงผลกระทบที่รุนแรงที่เริ่มต้นขึ้น คือ ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2563 มีลูกหนี้ที่มาขอเข้าโครงการความช่วยเหลือตามมาตรการผ่อนปรนการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นกับสถาบันการเงินต่างๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 16.3 ล้านคน มูลค่าสินเชื่อ 6.84 ล้านล้านบาท และมูลหนี้จำนวนนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของสินเชื่อทั้งหมดในระบบ 

"แสดงว่าคน 1 ใน 3 กำลังมีปัญหา และถ้าแบ่งตรงนี้ออกมา จะเห็นว่า มีลูกหนี้ที่เป็นบริษัทใหญ่มีจำนวน 5,028 บริษัท มูลหนี้ประมาณ 7.7 แสนล้านบาท เอสเอ็มอี 1.14 ล้านราย หนี้ 2.21 ล้านล้านบาท และสินเชื่อบุคคลอีก 15 ล้านคน หนี้ 3.87 ล้านล้านบาท นี่คือกลุ่มคนที่อยู่ในสถานะขอไม่จ่ายหนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อทำมาถึงตรงนี้ เขาก็รู้ว่ามันไม่พอ จึงทำเฟส 2 ซึ่งจะเริ่มให้คนมาสมัครตั้งแต่ 1 ก.ค. นี้เป็นต้นไป และให้ต่อไปอีก 6 เดือน" ดร.ศุภวุฒิ กล่าว 

หรืออย่างซอฟต์โลน วงเงินทั้งโครงการ 5 แสนล้านบาทนั้น ตามเงื่อนไขคือให้กู้ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี แต่ให้วงเงินสินเชื่อเพียงร้อยละ 20 จากยอดสินเชื่อเดิมที่เคยได้รับจากสถาบันการเงิน ซึ่งนั่นอาจกล่าวได้ว่า ทางการตั้งใจจะช่วยเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น รวมถึงอาการล่าสุดที่ ธปท. ออกมาบอกว่า ห้ามแบงก์จ่ายปันผลระหว่างกาล ห้ามซื้อหุ้นตัวเองคืน และให้เก็บส่วนทุนตุนไว้เพราะ ธปท.ต้องการให้นำเงินส่วนนี้ไปช่วยลูกหนี้ของสถาบันการเงิน พร้อมกับกำชับว่า อย่าไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ อย่าไปยึดบ้านยึดรถโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย อาการเหล่านี้ คือสิ่งบ่งชี้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและจะมีผลกระทบถ้วนหน้า

"วิกฤตรอบนี้ เป็นวิกฤตคนจนและคนทั่วไป ไม่เหมือนวิกฤตตอนปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤตของคนค่อนข้างรวย เป็นวิกฤตของสถาบันการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ ตอนนั้นมีคนตกงาน 1.4 ล้านคน และเกือบทุกคนก็ย้ายไปภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการ ค่าเงินบาทตอนนั้นก็อ่อนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็น 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้อยู่ๆ ทุกอย่างที่เราขายไปต่างประเทศราคาถูกหมด และช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นได้ แต่ครั้งนี้ ข้างนอกยังระบาดยังมีผู้ป่วยรายใหม่วันละเป็นแสนคนทั่วโลก แล้วเศรษฐกิจข้างนอกก็กระท่อนกระแท่น

"ตอนนี้ข้างนอกเหมือนมีลมต้าน ล่าสุดตัวเลขส่งออก (เดือนพ.ค.2563) ติดลบร้อยละ 22.5 ดังนั้นตอนนี้จึงต้องกลับมาหาตัวฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่กลายเป็นว่า ตัวชี้วัดของกำลังซื้อภายในประเทศเมื่อดูจากยอดนำเข้าก็ติดลบมากถึงร้อยละ 30 ตรงนี้ก็ทำให้เกินดุลการค้า ทำค่าเงินบาทแข็งเข้าไปอีก

"ส่วนข้อเสนอที่พูดกันตอนนี้เรื่อง Travel Bubble (การจับคู่ประเทศให้คนระหว่างสองที่เดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันได้) ผมก็อยากให้เปิด เพราะภาคท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยตอนนี้ขาดหายไปถึงร้อยละ 18 ของจีดีพี แบ่งเป็นต่างชาติร้อยละ 12 คนในประเทศร้อยละ 6-8 จากเดิมรายได้จากการท่องเที่ยวมีเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวใส่เงินเข้ามา 2.2 หมื่นล้านบาทไปผสมกับที่ประชาชนจะใช้จ่ายท่องเที่ยวอีกคนละครึ่ง ก็ยังได้เพียง 4 หมื่นล้านบาท ยังขาดจาก 2.5 แสนล้านบาท อีกเยอะมากๆ" ดร.ศุภวุฒิ ฉายภาพ

ศุภวุฒิ สายเชื้อ กลุ่มแคร์ เปิดตัว
  • ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ 

พร้อมเปรียบเทียบว่า สถานการณ์การเกิดขึ้นของโควิด-19 เหมือนเราเดินกันมาแล้วเจอแผ่นดินแยกเป็นเหว และมันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยสร้างสะพานข้ามเหวเพื่อพากันไปอยู่อีกฟากหนึ่ง ซึ่งถ้าสร้างสะพานไม่ครบ ก็ไม่มีประโยชน์ ทำแล้วก็ตกลงไปได้ คนที่อ่อนแอก็จะตกลงไปตาย ส่วนคนตัวใหญ่แข็งแรงเขาอาจจะกระโดดข้ามเหวได้ แต่คนอื่นจะไม่รอด ดังนั้นเมื่อรัฐจะสร้างสะพานพาคนก้าวข้ามไปให้ได้ ก็ต้องพากันข้ามให้ครบจริงๆ 

ส่วนสะพานจะยาวแค่ไหน การช่วยเหลือจะทอดยาวออกไปนานเท่าไร ดร.ศุภวุฒิ อ้างอิงกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ว่ากว่าที่โลกจะมีวัคซีนรักษาโควิด-19 ก็ต้องใช้เวลาราวๆ 2 ปี ดังนั้นถ้าจะต้องสร้าง 'สะพาน' พาให้ทุกคนรอดให้ได้มากที่สุด สะพานนี้ก็ต้องยาวพอสำหรับเวลา 2 ปี หรือให้เวลาปรับตัวปรับเปลี่ยนมากกว่านั้นอีกเล็กน้อย

โรงงาน - เหล็ก - เอสเอ็มอี -แรงงาน

ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท
เอสเอ็มอีได้สินเชื่อแค่ 8.2 หมื่นล้านบาท

ดร.ศุภวุฒิ ย้ำว่า มาตรการที่จะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ให้รอดในมหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ คือการช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอี 1.14 ล้านราย และลูกหนี้รายย่อยอีก 15 ล้านคน ให้รอดช่วงเวลานี้ไปให้ได้ แต่สิ่งที่พบเวลานี้ตามข้อมูลของ ธปท. คือ ซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้เอสเอ็มอีไปได้จริงๆ เพียง 82,701 ล้านบาท หรือ 5.9 หมื่นราย (ข้อมูล ณ 15 มิ.ย.2563) เท่านั้น 

"แสดงว่าเงินมันยังเข้าไม่ถึงผู้ต้องการความช่วยเหลือ และการที่ ธปท.ส่งสัญญาณให้แบงก์ไม่ซื้อคืนหุ้น ไม่จ่ายปันผลระหว่างกาล เพื่อให้เก็บทุนไว้ ก็ทำให้แบงก์คิดว่าพวกเขาต้องประเมินความเสี่ยงการปล่อยกู้ เพื่อให้ทุนไม่ร่อยหรอจนเกิดเอ็นพีแอล"

ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อสิ้นเดือน มี.ค.2563 เอ็นพีแอล หรือ หนี้เสียในระบบมีจำนวน 5 แสนล้านบาท ซึ่งดร.ศุภวุฒิบอกว่า ไม่ได้เยอะไปหรอก แต่สิ่งที่น่าจับตาดูคือหนี้จัดชั้นเป็นพิเศษ หรือ Special Mention Loan ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้เดือนแรก ส่วนนี้มีมูลหนี้ถึง 1.2 ล้านล้านบาท และนี่คือตัวเลขตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยซ้ำ 

"เป็นไปได้ที่หนี้เหล่านี้จะหล่นชั้นทั้งหมดและแบงก์ก็รู้ จึงระวังตัวกันหมด" ดร.ศุภวุฒิ กล่าว 

ตลาดนัด จตุจักร reopen โควิด ธุรกิจ เศรษฐกิจ ท่องเที่ยว

ช่วยเอสเอ็มอี 1 ล้านราย
ป้องกันหนี้เสียเพิ่มอีก 15 ล้านคน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงนำมาสู่ขอเสนอของกลุ่มแคร์ ที่ออกแถลงการณ์ออกมาในบ่ายนี้ คือ การเสนอให้ ธปท. ออก "สินเชื่อผ่อนปรน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ให้แก่เอสเอ็มอี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และปลอดการชำระคืนเงินต้นนาน 4 ปี"

ข้อเสนอนี้ มีที่มาที่ไปมาจาก การคำนวณและวิเคราะห์แล้วว่า จะมีหนี้ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลมากถึง 1.7 ล้านล้านบาท และมีลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ขอรับความช่วยเหลือพักการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในช่วงที่ผ่านมาจำนวน 1.14 ล้านราย มูลหนี้ 2.2 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นที่มาของข้อเสนอออกสินเชื่อผ่อนปรน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่เพียง 5 แสนล้านบาท

พร้อมกันนี้ ยังต้องมีเงื่อนไขการให้สินเชื่อกับเอสเอ็มอีเพื่อให้มั่นใจว่าเงินที่ลงไปนั้นเอสเอ็มอีจะสามารถนำไปทำธุรกิจต่อเนื่องได้สัก 1 ปี และสามารถคืนหนี้ได้ภายในปีที่ 4 เหตุที่ต้องนานถึง 4 ปี ก็เพราะกว่าจะมีวัคซีนรักษาโรคก็ 2 ปี และเอสเอ็มอีถ้ารอดผ่าน 1 ปีแรกนี้ไปได้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป เอสเอ็มอีก็ยังต้องปรับตัว แต่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่ง ดร.ศุภวุฒิ บอกด้วยว่า รัฐบาลต้องทำใจว่าหนี้ก้อนหนี้อาจเสียหายได้สัก 4 แสนล้านบาท แต่ถ้าทำดี ทำเร็ว เศรษฐกิจฟื้นได้ มูลค่าความเสียหายก็อาจน้อยกว่านี้ได้ แต่ก็ต้องบอกให้ทำใจ เผื่อใจไว้ 

"เงิน 4 แสนล้านบาท ถ้าเทียบกับโครงการรัฐในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ไม่มีพลัง ไม่มีทิศทาง กับการมาช่วยเอสเอ็มอีที่มีปัญหาที่เขาทำธุรกิจอยู่แล้ว มีพนักงานอยู่แล้ว มีความสามารถศักยภาพของเขาอยู่แล้ว ถ้าทำให้เขารอด มันก็มีพลัง และถ้าคุณไม่ช่วยเอสเอ็มอี 1.14 ล้านราย วงเงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ คุณก็อาจจะไปเจอปัญหาหนี้เสียในกลุ่มรายย่อยอีก 15 ล้านคน มูลหนี้ 3.8 ล้านล้านบาทได้ เพราะคนเหล่านี้คือลูกจ้างคือพนักงานของเอสเอ็มอีที่ว่า ดังนั้นต้องตั้งเป้าหมายให้ถูก นั่นคือการช่วยเอสเอ็มอี เพื่อไม่ให้ปัญหาลามไปถึงคนทั่วไปอีก 15 ล้านคน' ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท ดอกเบี้ย การเงิน กนง

แนะดึงเงินทุนสำรองแบงก์ชาติออกมากอบกู้มหาวิกฤต

คราวนี้มาถึงแหล่งเงินที่มาปล่อยกู้ซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอี 2 ล้านล้านบาท จะมาจากไหน ดร.ศุภวุฒิ บอกว่า ก็เหมือนกับที่มาของซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทที่ธปท. ใส่เข้ามาช่วงนี้ และคิดว่าเงิน 5 แสนล้านบาท แปลงเป็น 2 ล้านล้านบาทได้เลย 

ส่วนที่คาดว่า รัฐบาลอาจจะสูญในอนาคต 4 แสนล้านบาท ก็เสนอให้ออกพันธบัตรรัฐบาลให้แบงก์ชาติซื้อเป็นกรณีพิเศษ โดยเป็นพันธบัตรอายุ 100 ปี คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ส่วนเหตุที่เป็น 100 ปี เพราะรัฐบาลก็จะได้มีเวลาและอาจไม่ต้องจ่ายคืน

แน่นอนอาจมีข้อสงสัยว่า ทำอย่างนี้จะไม่ผิดวินัยการเงินการคลังหรือ ?

ดร.ศุภวุฒิ ตอบว่า วินัยทางการเงินเราต้องการเวลาที่กลัวเงินเฟ้อสูง แต่ประเทศไทยเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้ามา 5 ปีแล้ว และประเทศไทยไม่ได้กลัวเงินเฟ้อ แต่กลัวเงินฝืด และความมีวินัยของเรา ที่ทำให้เงินเฟ้อมันต่ำ ก็ทำให้เงินบาทของเราแข็งค่าถึงร้อยละ 18 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่งออกบ่นมาตลอดเกือบจะปีเว้นปี และแบงก์ชาติก็พยายามจะจัดการเรื่องบาทแข็ง โดยไปขายเงินบาท แล้วซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ จนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นทุกวันนี้ นึกภาพว่า อยู่ๆ คุณไปซื้อกระดาษอเมริกามาเก็บไว้ตั้ง 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่ใช้ประโยชน์อะไรเลย แล้วอย่างนี้จะมีวินัยทางการเงินการคลังในสภาวการณ์แบบนี้ไปทำไม

"ผมไม่ได้เถียงว่าควรจะมีวินัยนะครับ แต่ถ้ามีวินัยจนเงินสำรองกองอยู่เฉยๆ ไม่ได้ใช้อะไร อยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าบวก forward อีก 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมเป็น 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มันก็เหมือนกับบอกว่า มีเงินสดกองอยู่ในลิ้นชักที่บ้าน 2.7 แสนบาท ขณะที่ประเทศมีรายได้ประมาณ 7 แสนบาท คำถามคือจะเก็บไว้ทำไม ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้" ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

พร้อมยกตัวอย่างโมเดลการอุ้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของหน่วยงานต่างๆ ในระดับนานาชาติว่า กรณีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็เสนอให้ใช้ SPV (Special Purpose Vehicle) คือให้แบงก์รัฐ หรือแบงก์ชาติอัดฉีดเงินเข้ามาอย่างที่แบงก์ชาติไทยทำปัจจุบัน แล้วให้รัฐบาลถือหุ้น ซึ่งก็หมายถึงรัฐบาลรับความเสียหาย โครงการนี้ไอเอ็มเอฟเสนอให้สินเชื่อ 3 ปี เป็นสินเชื่อสำหรับใช้หมุนเวียน 

ส่วนที่ไปไกลกว่ามากๆ คือของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า 'Paycheck Protection Program' คือให้เอสเอ็มอีเอาเงินจากรัฐบาลไปแล้วต้องทำให้แน่ใจว่า จำนวนเงินเพียงพอกับการจ้างงานพนักงานให้เหมือนเดิม 24 สัปดาห์ แล้วถ้าทำแล้วไปไม่ไหว รัฐบาลจะยกเงินกู้นี้ให้เลย ส่วนที่ต้องเป็น 24 สัปดาห์ เพราะประเมินระยะเวลาของบริษัทที่มีศักยภาพ และมีพนักงานมีศักยภาพทำกิจกรรมนั้นๆ อยู่แล้ว ถ้ารักษาไว้ จนถึงวันที่เศรษฐกิจฟื้นเมื่อกดปุ่มใหม่ก็ทำได้ทันที แต่ถ้าให้เขาปิด คนก็กระจัดกระจายออกไป เวลาจะรวบรวมใหม่กดปุ่มใหม่ย่อมช้ากว่าและและยากกว่า เพราะช่วงที่หยุดไปพนักงานก็ลดศักยภาพตัวเองไป ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย เกิดการสูญเสียทักษะงานไปด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :