ไม่พบผลการค้นหา
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะขอจบปมปัญหานำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 ไม่ครบถ้อยคำตาม มาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อไม่ให้บานปลาย ทั้งยืนยันว่าทำครบถ้วน

แต่ขณะเดียวกันก็ระบุว่า กำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ 

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูง ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 8 ส.ค.

เป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศต่อหน้ารัฐมนตรีว่า "ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวเรื่องประเด็นรัฐธรรมนูญ ผมเป็นห่วงกังวลอย่างเดียวทำยังไงถึงทำงานได้ ก็ขอให้ทุกคนทำงานต่อไป ยังไงก็ตาม ก็ต้องไปศึกษารัฐธรรมนูญดูว่ามีเขียนว่าอย่างไร เพราะฉะนั้นยังไงก็ยังมีรัฐบาลอยู่ ก็ขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่าผมได้ทำของผมเต็มที่แล้ว"

ในขณะที่ 7 พรรคฝ่ายค้านยังคงติดตามทวงถามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้ง สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้รัฐบาลเป็นโมฆะ เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด 

เดิมทีพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นกระทู้ถามสดถึงนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. แต่นายกรัฐมนตรีติดภารกิจตรวจราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทำให้การจองคิวยื่นกระทู้สดถามถึงนายกฯต้องเลื่อนออกไปก่อน

ประยุทธ์ คณะรัฐมนตรี

ย้อนกลับไปวันแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภา นับเป็นครั้งแรกที่มีการท้วงติงประเด็นดังกล่าว โดย 

'ปิยบุตร แสงกนกกุล' เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ หารือต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาว่า การปฏิญาณตนของพล.อ.ประยุทธ์ ถ้อยคำว่า "ทั้งจะรักษาไว้และจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" ขาดหายไป ซึ่งการปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2557 ครม. พล.อ.ประยุทธ์ 1 ได้กล่าวคำเหล่านี้ครบถ้วน 

'ปิยบุตร' ระบุว่า ความสำคัญ คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณตน ต้องกระทำก่อนเข้ารับหน้าที่ เช่น ส.ส. ส.ว. ผู้พิพากษา ตุลาการ องคมตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ต้องปฏิญาณตน สุดท้ายหากถวายสัตย์ไม่ครบแล้ว จะมีผลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากไม่สมบูรณ์การทำหน้าที่ต่อไปของ ครม.จะสมบูรณ์หรือไม่ 

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ยังโพสต์ข้อความเน้นย้ำถึงความสำคัญ 2 ประการคือ 1.การปฏิญาณตนคือเงื่อนไขบังคับก่อนเข้ารับหน้าที่ หากไม่มีการปฏิญาณ ก็ไม่มีการเข้ารับหน้าที่ 

2. การปฏิญาณตนคือการยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ถ้อยคำที่หายไปคือหัวใจของการปฏิญาณ เพื่อยืนยันว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต้องรักษารัฐธรรมนูญ และต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตรหารือ รังสิมันต์ โรม สภา อนาคตใหม่ เพื่อชาติ สงคราม

ทิศทางของแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงประสานเสียงชูปมปัญหา 'ถวายสัตย์ฯ' ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ อาจทำให้การทำหน้าที่ของ ครม. ชุดใหม่ส่อมีปัญหา พร้องส่งเสียงเตือนถึงการเปิดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีขึ้นมา 

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า หากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ชี้แจงและแก้ข้อผิดพลาดเหล่านี้ให้ถูกต้อง ฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏกับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย 

เช่นเดียวกับ 'ชูศักดิ์ ศิรินิล' รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้ชัดว่า เป็นเรื่องใหญ่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน ถ้อยคำที่ขาดหาย คือ สาระสำคัญการรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลก็ทำหน้าที่ไปโดยไม่สนใจข้อสังเกต 

'ชัยเกษม นิติสิริ' คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ย้ำว่า ทางจบของเรื่องนี้คือต้องหาทางแก้ไขการกระทำนั้นเสีย 

ส่วน 'ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย สรุปปมการเมืองว่า การถวายสัตย์ไม่ครบคือ 1 ใน 5 เรื่องของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ฝืนและขัดต่อความรู้สึกของสังคม 

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เรียกร้องว่า "พล.อ.ประยุทธ์ ควรเร่งแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทันที ไม่ใช่ออกมาบอกว่าผมรับผิดชอบเอง โดยไม่รีบดำเนินการแก้ไข ตามที่เป็นอยู่แบบนี้ค่ะ”

"เรื่องนี้ควรดำเนินการ ขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่เริ่มแรกที่รู้ตัวว่ามีความผิดพลาด การขอพระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นพระราชอำนาจ ซึ่งเมื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยอย่างไรแล้ว พสกนิกรทุกคนต้องน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอย้ำว่าเรื่องนี้ถือเป็นสามัญสำนึกของคนไทยทุกคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ ควรดำเนินการทันที โดยไม่ชักช้าประวิงเวลา" คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ

สุดารัตน์ สมพงษ์.jpg

ท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เตือนว่า ครม.ไม่มีอำนาจบริหารประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จงใจละเมิดถวายสัตย์ปฏิญาณไม่เป็นไปตามตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการดัดแปลงแก้ไขและตัดข้อความตอนท้ายออกโดยจงใจ 

"มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ชี้ถึงการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ที่การกระทำส่อขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

"ถ้าคำปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญคำปฏิญาณตนนั้นก็ใช้ไม่ได้"

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นลูกผู้ชายต้องยอมรับความจริง แม้ตนเองจะไม่ต้องการให้พลีชีพเหมือนพันท้ายนรสิงห์ แต่ขอให้ทำความจริงแล้วไปทำให้ถูก ถูกแล้วก็เดินหน้าต่อไปแม้จะเสียหน้าก็ตาม

"เมื่อคุณถวายสัตย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คุณก็แถลงนโยบายไม่ได้ คุณก็บริหารประเทศไม่ได้ แล้วคุณจะตื๊อมาบริหารประเทศทำไม อย่าลุยไปเลย มีแต่ตายกับตาย ถอยซะดีกว่า"

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุว่า "ถ้าอยากจะเป็นต่อก็ไปขอพระราชทานอภัยโทษซะ ขอถวายสัตย์ฯ ใหม่ให้มันถูกต้องแล้วก็เริ่มกระบวนการแถลงนโยบายใหม่"

"ผมพูดตั้งแต่หาเสียง คุณประยุทธ์คือปัญหาของประเทศ คุณประยุทธ์ลาออกไปคนเดียวบ้านเมืองสงบเรียบร้อย" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุ

เสรีพิศุทธ์ สภา

ขณะที่ 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถตอบปมปัญหาดังกล่าวถึงทางออกได้ชัดเจน แต่ระบุเพียงว่า "มันผ่านมาแล้ว จะหาเรื่องให้เขากลับมามาพูดอีกทำไม" 

เมื่อถูกจี้ถามและขยายความถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็ระบุได้เพียง "ไม่ตอบแล้ว ไม่ทราบ และไม่รู้ใครจะตอบเรื่องนี้ได้" ท่ามกลางความงุนงงสังสัย ทำไมเนติบริกร ผู้ถามได้-ตอบได้ทุกสารพันปัญหา จึงชี้แจงได้เท่านี้ 

ขณะที่ 'ปิยบุตร' แฟนตัวยงพลิกหนังสือ "หลังม่านการเมือง" ของสำนักพิมพ์มติชน โดยฝีมือวิษณุ ก็อ้างอิงชัด ถึงคำบรรยายการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไว้ระหว่างหน้า 25 - 53 ไว้หลายช่วงหลายตอน เช่น 

"...ตกคำว่าและคำว่าหรือไปสักตัวก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าได้ถวายสัตย์ ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเสียเปล่าๆ"

ยิ่งเมื่อสืบค้นในหนังสือ "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560" ของจัดพิมพ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และอธิบายโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุเป็นเจตนารมณ์ของแต่ละมาตราไว้อย่างละเอียด โดยตีความมาตรา 161 ในหน้า 279 ก็พบว่า 

ความมุ่งหมายคือ 

 "กำหนดให้รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ก่อนเข้ารับหน้าที่" 

 คำอธิบายประกอบคือ

"การกำหนดให้มีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์หรือต่อผู้แทนพระองค์ เป็นไปตามหลักการที่ว่าอำนาจทั้งปวงเป็นของปวงชนชาวไทย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นผ่านองค์กรต่างๆ เมื่อจะมีผู้เข้าบริหารอำนาจ จึงให้มีการถวายสัตย์เพื่อให้รับรู้ถึงที่มาแห่งอำนาจของผู้ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ และให้คำรับรองว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งเป็นการยืนยันเพื่อให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้นั้น" 

ถวายสัตย์ รัฐธรรมนูญ titled.png

ดังนั้นจึงต้องถามวิญญูชนทุกหมู่เหล่าว่า เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยขาดถ้อยคำว่า "ทั้งจะรักษาไว้และจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ" 

แล้วเราจะไว้วางใจในตัวพล.อ.ประยุทธ์ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดังคำอธิบายได้หรือไม่ 

ปิดท้ายด้วย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุว่า หากนายกฯยอมรับว่าบกพร่องก็ต้องดำเนินการแก้ไข แต่ถ้าไม่รับผิดชอบ คงต้องใช้มาตรการต่อไปคือการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีทำผิดตามมาตรา 161 ก่อนมีการพิจารณร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 เพื่อให้สถานภาพของรัฐบาลมีความชัดเจนก่อน

ในขณะที่ทางออกตามช่องทางรัฐธรรมนูญ 'ศรีสุวรรณ จรรยา' เลขาธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตีความการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่นำครม.ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ให้ดำเนินการส่งศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 230 และมาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

เช่นเดียวกับ 'เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ' อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ก็ยื่นคำร้องขอต่ออัยการสูงสุด ตาม 49 วรรคหนึ่ง การกระทำของ ครม. ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 5 และไม่เป็นไปตามาตรา 3 วรรคสอง เพื่อให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เมื่อจะเข้ารับหน้าที่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 เนื่องจากนโยบายจะต้องสอดคล้องกับหน้าที่แห่งรัฐ พร้อมต้องแสดงที่มางบที่จะนำใช้จ่าย แต่ก็เกิดปัญหาว่าคำแถลงนโยบาย 37 หน้านั้น ไม่มีตัวเลขงบประมาณเท่ากับการแถลงนโยบายของรัฐบาลโมฆะ

พรรคเล็ก

ปมปัญหาของการถวายสัตย์ฯ ยังบานปลายมาถึงเสียงของพรรคการเมืองเล็กในพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อพรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธรรมไทย พร้อมนำเสียงพรรคเล็ก 5 - 7 เสียง ขู่ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล

"แต่ถ้าเป็นผมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันนี้ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ผมลาออกแล้ว ผมลาออกทันทีไม่หน้าด้าน" มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ระบุเมื่อวันที่ 8 ส.ค.

สถานะของ ครม.ประยุทธ์ 2 ในตอนนี้ จึงไม่มีความแจ่มชัด

ไม่มีความแจ่มชัดว่า การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆของ รัฐบาลในตอนนี้ สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพราะด้วยการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 ซึ่งกระทบไปถึงความในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ

"มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" 

เมื่อสถานะ ครม.ไม่แจ่มชัด การเข้าปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ชุดใหม่จะเริ่มต้นได้หรือไม่

แล้วอำนาจมาตรา 44 ที่เป็นอาวุธพิเศษของ คสช. จะยังคงอยู่หรือไม่!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: