ไม่พบผลการค้นหา
TMB Analytics ประเมินผลประชุมคณะกรรมการนโบายการเงิน 8 พ.ค. นี้ คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 1.75 ยาวตลอดปี ชี้ปัจจัยต่างประเทศยังสุ่มเสี่ยง สะเทือนการส่งออก ขณะที่หนี้เสียภาคครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น กดดันสถานการณ์เศรษฐกิจขึ้นดอกเบี้ยก็ยาก ลดดอกเบี้ยก็เสี่ยง

วันที่ 8 พ.ค. นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมครั้งที่ 3/2562 เพื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจและพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ขณะที่ กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากคราวก่อนหน้าที่เคยให้ไว้ที่ร้อยละ 4.0 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics ออกบทวิเคราะห์ประเมินการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบ 3/2562 ที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 8 พ.ค. นี้ โดยคาดว่า ธปท. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับร้อยละ 1.75 ยาวตลอดทั้งปีนี้ เหตุจากยังมีความเสี่ยงต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้แรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังไม่มากพอที่จะทำให้ ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกัน การจะลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะชะลอลง ก็มีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ 

พร้อมกันนี้ TMB Analytics ยังระบุว่า มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลง ซึ่งคงไม่สามารถสนับสนุนให้ ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ ทั้งตัวเลขการส่งออกที่หดตัว และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงจนธนาคารกลางหลักของโลกอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด กลับไปใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น 

นอกจากนี้ ธปท. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีนโยบาย macro-prudential (มาตรการกำกับสถาบันการเงิน) และการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ

แต่โอกาสที่ ธปท. จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็ยังจำกัดเช่นกัน เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องทางหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดดอกเบี้ยนโยบายก็คือช่องทางสินเชื่อ โดย ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนรวมถึงภาคธุกิจไปใช้จ่ายและลงทุนเพิ่มขึ้นนั้น เมื่อพิจารณาการโตของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าสินเชื่อภาคธุรกิจยังขยายตัวเพียงร้อยละ 4.4 และ 3.6 ในปี 2561 และ 2560 ตามลำดับ 

แต่ส่วนที่ขยายตัวสูงกลับเป็นสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยขยายตัวกว่าร้อยละ 9.4 ในปี 2561 ขยายตัวต่อเนื่องมาจากปี 2560 ที่ร้อยละ 6.1 ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อภาคครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์รวมแล้วกว่า 4.5 ล้านล้านบาท 

นอกจากปริมาณหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น คุณภาพสินเชื่อก็เริ่มด้อยลง โดยหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือ NPL ของสินเชื่อภาคครัวเรือนอย่างสินเชื่อที่อยู่อาศัย ล่าสุดเพิ่มขึ้นแตะระดับ 7.3 หมื่นล้านบาทแล้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 3.25 ของสินเชื่อทั้งหมด ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ก็เริ่มเห็นทั้งหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL) และหนี้ค้างชำระเกิน 30 วันแต่ไม่เกิน 90 วัน (SM) เพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน โดย NPL อยู่ที่ระดับ 1.8 หมื่นล้าน ขยายตัวถึงร้อยละ 17 ขณะที่ SM ขยายตัวกว่าร้อยละ 12 แตะระดับ 7.6 หมื่นล้าน เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความสามารถในการจ่ายหนี้ที่ด้อยลงของประชาชน

ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายในช่วงที่หนี้ครัวเรือนกำลังเพิ่มขึ้นร้อนแรง อาจยิ่งเพิ่มความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และกระทบต่อความสามารถในการซื้อในอนาคตของประชาชน แม้ว่าการลดดอกเบี้ยอาจทำให้ภาระการผ่อนของประชาชนลดลง แต่สินเชื่อภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ ธนาคารพาณิชย์มักใช้การชำระคืนเงินต้นแบบคงที่อยู่แล้ว การลดดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจไม่ช่วยมากนัก ดังนั้น TMB Analytics มองว่า ธปท. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ยาวตลอดปี 2019

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงิน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 มีโอกาสเติบโตไม่ถึงร้อยละ 3.8 และต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/2562 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศออกมาในวันที่ 21 พ.ค. นี้อีกครั้ง 

"เศรษฐกิจในเวลานี้ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องฝากไว้กับครึ่งปีหลัง ที่คาดว่าการค้าระหว่างประเทศจะดีขึ้น การลงทุนจะกลับมาเป็นปกติ" นายดอน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :