ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการ กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.5 ครั้งแรกรอบ 6 เดือน เพื่อพยุงเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เตรียมปรับลดเป้าจีดีพีและส่งออก หลังประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำ

นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2562 วันนี้ (7ส.ค.62) ที่ประชุมมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.75 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปีโดยให้มีผลทันที นับเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนช่วง ธ.ค. 2561 จากร้อยละ 1.5 เป็น 1.75  

โดยปัจจัยที่คณะกรรมการ กนง. ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการประเมินเเล้วว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสงครามการค้า ซึ่ง กนง.จะมีการทบทวนตัวเลข GDP และส่งออกอีกครั้ง 

“คณะกรรมการฯ ทุกท่านยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ในการประชุมกรอบเป้าหมาย ด้านหนึ่งมีระบบเสถียรภาพการเงิน อีกด้านคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่ว่ากรรมการแต่ละท่านชั่งน้ำหนักแต่ละประเด็นอย่างไร” นายทิตนันท์ กล่าว

นายทิตนันท์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการดูแลค่าเงินบาท คณะกรรมการ กนง.ให้ดำเนินการประเมินความเหมาะสมเพิ่มเติม อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการดูแลเรื่องค่าเงินบาท แต่ต้องประเมินถึงปัจจัยที่อาจจะทำให้สหรัฐฯ มองว่าประเทศไทยเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Macroprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (Microprudential) ยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :