ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมรัฐสภา 472 เสียง ส.ว.เห็นชอบ 149 เสียงโหวตฉลุยร่าง รธน.วาระ 3 ใช้บัตร 2 ใบ 'เพื่อไทย-พปชร.-ปชป.'โหวตหนุน เผย ส.ว.สายทหารร่วมเห็นชอบเกิน 1ใน3 ของ ส.ว. ด้านก๊วนธรรมนัส ล่องหนไม่เข้าร่วมโหวต

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 ก.ย. 2564 ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ซึ่งเป็นการแก้ไขให้มีการบัตรเลือกตั้ง 2 ใบโดย มีส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งเป็นการลงมติในวาระที่สาม ขั้นสุดท้ายเพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ โดยชวน ชี้แจงถึงเงื่อนไขการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยมติเห็นชอบด้วยให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ต้องมีเงื่อนไข ดังนี้ 1. ที่ประชุมรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ต้องมากกว่า 365 คน ปัจจุบันสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มี 730 คน ส.ว. 250 ส.ส. 480 คน

2.ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน คือ 242 คน หรือไม่น้อยกว่า 49 คน และ 3.มี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า1 ใน 3 ของจำนวน ไม่น้อยกว่า 84 คน จากทั้งหมด 250 คน ถ้าคะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์ถือว่าที่ประชุมไม่เห็นชอบให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ

แก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลคะแนน วาระ 3 -2E16-45D4-A945-4D470A2AB84F.jpegปรีชา รัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ 7DC4DFCD-34D7-45BD-BE7C-2C66BAE06853.jpegอนุทิน วราวุธ รัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ 8FA685A493C7.jpegบัญญัติ จุรินทร์ ประชาธิปัตย์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา 9E61-2F748C961EC1.jpeg

149 ส.ว. พท.-พปชร.-ปชป. ร่วมโหวตเห็นชอบผ่านฉลุยร่างแก้ รธน.วาระ 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลาในการลงมติกว่า 2 ชั่วโมง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ด้วยมติเห็นชอบ 472 เสียง (เป็นคะแนนของ ส.ส. 323 เสียง ส.ว. 149 เสียง คะแนนจากพรรรคที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภาฯ 142 เสียง)

ไม่เห็นชอบ 33 เสียง (แบ่งเป็นเสียง ส.ส.23 เสียง ส.ว.10 เสียง คะแนน ส.ส.จากพรรคการเมืองที่มิได้ดำรงตำแหน่งฯ 10 เสียง) งดออกเสียง 187 เสียง (เป็นเสียงของ ส.ส. 121 เสียง ส.ว. 66 เสียง คะแนน ส.ส.จากพรรคการเมืองที่มิได้ดำรงตำแหน่งฯ 54 เสียง)

ทั้งนี้ คะแนนเห็นชอบส่วนใหญ่มาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และ ส.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และ มาตรา 91 ได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามากกว่า 365 เสียง และมีพรรคการเมืองที่ไม่ได้มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภาฯ มากกว่าร้อยละ 20 รวมทั้ง ส.ว.เห็นชอบด้วยเกิน 84 เสียง

'เพื่อไทย-พปชร.-ปชป.-ส.ว.' หนุนท่วม 'ธรรมนัส' ล่องหน

สำหรับพรรคการเมืองที่ลงมติเห็นชอบ อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ลงมติเห็นชอบ

ในการลงมติครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เดินทางมาลงมติด้วย ภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรี เช่นเดียวกับ ส.ส.สาย ร.อ.ธรรมนัส บางคนก็ไม่ได้ร่วมลงมติด้วย

ส่วนพรรคการเมืองที่ประกาศงดออกเสียง คือ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังปวงชนไทย

ส่วนพรรคการเมืองที่ฟรีโหวต คือ พรรคชาติไทยพัฒนา โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี เห็นชอบ

พรรคที่ไม่เห็นชอบ คือพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคการเมืองขนาดเล็ก

ขณะที่ ส.ว.บางส่วนใช้สิทธิงดออกเสียง อาทิ สมชาย แสวงการ ตวง อันทะไชย ประมนต์ สุธีวงศ์ พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล พิศาล มาณวพัฒน์ วัลลภ ตังคณานุรักษ์

ส.ว.ที่เห็นชอบ ส่วนใหญ่เป็น ส.ว.สายทหาร อาทิ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ร.อ.ประยุทธ์ เสาวคนธ์ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประยูร เหล่าสายเชื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สามแล้ว ประธานรัฐสภาจะส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องเว้นระยะไว้ 15 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ ส.ส. และ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ สามารถเข้าชื่อเพื่อขอให้ประธานรัฐสภาส่งความเห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่ามีประเด็นที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จใน 30 วันนับแต่วันที่รับเรื่อง โดยระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ มิได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง