ไม่พบผลการค้นหา
มติที่ประชุมรัฐสภาโหวตมาราธอนกว่า 6 ชั่วโมงรับหลักการร่างแก้ไข รธน. 1 ฉบับแก้ระบบเลือกตั้งใช้บัตร 2ใบด้วยมติ 552 เสียง ส.ว.โหวตรับ 210 เสียงทะลุเกิน 84 เสียง ส่วน 12 ฉบับคว่ำรวดหลัง ส.ว.ผนึกกำลังแน่นไม่ยอมให้ผ่านวาระแรก

เวลา 16.50 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2564 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ในวาระที่หนึ่ง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนููญ 13 ฉบับในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ

ทั้งนี้ ชวนได้อธิบายต่อที่ประชุมถึงวิธีการลงมติว่า สมาชิกรัฐสภา 1 คนจะออกเสียงทีเดียวทั้ง 13 ฉบับ โดยขอร้องว่าให้ใช้คำว่า รับหลักการ ไม่รับหลักการ งดออกเสียง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการออกเสียงลงคะแนนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา 

ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีจำนวน 733 คน คะแนนเสียงเห็นชอบในวาระที่หนึ่งจะต้องมีไม่น้อยกว่า 367 เสียง และจะต้องมีเสียงของ ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียง

ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  CE5F4BC1-BE20-4077-922E-7E4979534E93.jpeg

รัฐสภาคว่ำรวด 12 ฉบับ ส.ว.210 เสียงรับ 1 ฉบับสูตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบ

การลงมติแบบขานชื่อรายบุคคลในวาระด่วนพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับซึ่งใช้ลงมติขั้นรับหลักการเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 17.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2564 กินเวลาการลงมติประมาณ 6 ชั่วโมงกว่า จนลงมติเสร็จสิ้นเมื่อเวลาประมาณ 23.30 น.

จากนั้นเข้าสู่การนับคะแนนจนข้ามวันมาถึงเวลา 01.30 น. วันที่ 25 มิ.ย. 2564 ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งผลการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับในวาระที่ 1 ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในฉบับที่13 ของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล เพียงฉบับเดียว ที่เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยมีมติรับหลักการ 552 เสียง (ส.ส. 342 เสียง ส.ว.210 เสียง) ไม่รับหลักการ 24 เสียง งดออกเสียง 130 เสียง ซึ่งมีเสียงของ ส.ว.ลงมติรับหลักการเกิน 1ใน 3 คือ 84 เสียง

ส่วนอีก 12 ฉบับที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการทั้งหมด เนื่องจาก ส.ว.รับหลักการไม่เกิน 84 เสียง แม้บางฉบับจะมีเสียงรับหลักการเกินกึ่งหนึ่งของสองสภาก็ตาม

ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ 27E1ABD8-A922-4C5E-92DA-D5239E1549AA.jpeg

ส.ว.พร้อมใจโหวตคว่ำร่าง พปชร. - พท.-พปชร.ปชป.-ภท.โหวตรับ 13 ฉบับ

ส่วนร่างอื่นๆ ไม่ผ่านความเห็นชอบโดยเฉพาะร่างที่ 1 ที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ส.ว.ได้พร้อมใจกันลงมติ ไม่รับหลักการ เพราะเห็นว่า เนื่องจากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ 184 ที่ให้อำนาจ ส.ส. ส.ว.แปรญัติงบประมาณและสามารถแทรกแซงการทำงานของข้าราชการได้

สำหรับการโหวตของแต่ละพรรคนั้น พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย โหวตให้ผ่านทั้ง 13 ฉบับ 

'ก้าวไกล' คว่ำ พปชร.-บัตร 2 ใบ-รับปิดสวิตช์ ส.ว.

พรรคก้าวไกล ไม่รับหลักการของพรรคพลังประชารัฐ และฉบับที่แก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่รับหลักการการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ โหวตให้ร่างที่ 13 ของพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคการเมือง ที่แก้ไขให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เพียงร่างเดียว

วันชัย ประชุมรัฐสภา -A4CFA7E0596B.jpeg

เปิดชื่อ ส.ว.ปิดสวิตช์ตัวเอง

สำหรับ ส.ว.ที่รับหลักการร่างที่ 4 ของพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ประกอบด้วย 1.คำนูณ สิทธิสมาน 2. นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ 3.เฉลิมชัย เฟื่องคอน 4.เนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 5.ประภาศรี สุฉันทบุตร 6.ประมนต์ สุธีวงศ์ 7.พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 8.พิศาล มาณวพัฒน์ 9.มณเฑียร บุญตัน 10.วันชัย สอนศิริ 11.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ 12.สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย 13.นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล 14.นายอำพล จินดาวัฒนะ  

ส่วนในร่างที่ 11 ของสามพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้ปิดสวิตช์ ส.ว.ดังนี้ 1.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2.นายคำนูณ สิทธิสมาน 2.พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม 3.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน 4.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ 5.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 6.บรรชา พงศ์อายุกูล 7.ประภาศรี สุฉันทบุตร 8.ประมนต์ สุธีวงศ์ 9. พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 10.พิศาล มาณวพัฒน์ 11.มณเฑียร บุญตัน 12.วันชัย สอนศิริ 13. วัลลภ ตังคณานุรักษ์ 14.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ 15.สม จาตุศรีพิทักษ์ 16.สมชาย เสียงหลาย 17. สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย 18.สุวพันธุ์ ตัณยุวรรธนะ 19.อนุศาสตร์ สุวรรณมงคล 20.อำพล จินดาวัฒนะ  

สำหรับผลการลงมติในวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ผลมีดังนี้

ฉบับที่ 1 พลังประชารัฐ  (1) แก้หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ(2) แก้ไขระบบเลือกตั้ง (แบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ)(3) แก้การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ (4) แก้อุปสรรคหน้าที่ ส.ส. ส.ว. (5) แก้ ม.270 การปฏิรูปประเทศ

รับหลักการ 334 

ไม่รับ 199

งดออกเสียง 75

ส.ว. ไม่มีรับหลักการ

ฉบับที่ 2 เพื่อไทย - ฝ่ายค้าน (ไม่มีก้าวไกล) แก้หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพ (สิทธิการขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีอาญาย่อมได้รับความคุ้มครอง

รับหลักการ 399 

ไม่รับ 136 

งดออกเสียง 171 

ส.ว.รับหลักการ 6 

ฉบับที่ 3 เพื่อไทย (ไม่มี ก้าวไกล) แก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. (แบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ)

รับหลักการ 376 

ไม่รับ 89 

งดออกเสียง 241

ส.ว. รับหลักการ 36 

ฉบับที่ 4 เพื่อไทย-ก้าวไกล-ฝ่ายค้าน  แก้ที่มานายกฯ (มาจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง - ส.ส.ในพรรคที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5%) ยกเลิก ม.272 ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ

รับหลักการ 455 

ไม่รับ 101

งดอกเสียง 150

ส.ว.รับหลักการ 15

ฉบับที่ 5 เพื่อไทย-ฝ่ายค้าน ยกเลิก ม.65 จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ยกเลิก ม.279 ผลพวงรัฐประหาร

รับหลักการ 372

ไม่รับ 150 

งดออกเสียง 229

ส.ว.รับหลักการ 1

ฉบับที่ 6 ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา แก้ ม.65 ยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

รับหลักการ 454

ไม่รับ 86

งดออกเสียง 166 

ส.ว.รับหลักการ35

ฉบับที่ 7 ภูมิใจไทย -ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา แก้หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

รับหลักการ 476

ไม่รับ 78

งดออกเสียง 152 

ส.ว.รับหลักการ 55

ฉบับที่ 8 ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา-ภูมิใจไทย แก้ สิทธิขั้นพื้นฐานกระบวนการยุติธรรม

รับหลักการ 469

ไม่รับ 75

งดออกเสียง 162

ส.ว.รับหลักการ 48

ฉบับที่ 9 ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา -ภูมิใจไทยแก้ ม.256 หลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รับหลักการ 415

ไม่รับ 102

งดออกเสียง 189

ส.ว.รับหลักการ 15

ฉบับที่ 10 ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา -ภูมิใจไทย แก้ ม.236-237 ให้ ส.ส.- ส.ว.ร้องศาลฎีกา แผนกคดีอาญาฯ กล่าวหากรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ

รับหลักการ 431

ไม่รับ 97

งดออกเสียง 178 

ส.ว.รับหลักการ 33

ฉบับที่ 11 ประชาธิปัตย์ -ภูมิใจไทย แก้ ม.159 ที่มานายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง-ส.ส.ในสภาฯ ยกเลิก ม.272 อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

รับหลักการ 461

ไม่รับ 96

งดออกเสียง 149

ส.ว.รับหลักการ 21

ฉบับที่ 12 ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา แก้การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

รับหลักการ 457 

ไม่รับ 82

งดออกเสียง 149 

ส.ว.รับหลักการ 50

ฉบับที่ 13 ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา แก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. (แบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน) บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

รับหลักการ 552

ไม่รับ 24

งดออกเสียง 130

ส.ว.รับหลักการ 210

จากนั้น ที่ประชุมรัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 45 คน ดังนี้

ส.ว. 15 คน ประกอบด้วย 1.กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 2.กิตติ วะสีนนท์ 3.คำนูณ สิทธิสมาน 4.จเด็ด อินสว่าง 5.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ 6.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 7.ถวิล เปลี่ยนศรี 8.พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ 9.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 10.มหรรณพ เดชวิทักษ์ 11.ศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล 12.สมชาย แสวงการ 13.สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ 14.พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล 15.ประสิทธิ์ ปทุมารัตน์

พรรคเพื่อไทย 8 คน ประกอบด้วย 1.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม 2.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน่ 3.องอาจ วงษ์ประยูร ส.ส.สระบุรี 4.สมบัติ ศรีสุรินทร์ ส.ส.สุรินทร์ 5.นิรมิต สุจารี ส.ส.ร้อยเอ็ด 6.จตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น 7.สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี 8.สงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน

พรรรคพลังประชารัฐ 8 คน ประกอบด้วย 1.ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช 3.สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชือ 4.สมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 5.พรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย 6.พรชัย ตระกูลวรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.จักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 8.วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคภูมิใจไทย 4 คน ประกอบด้วย 1.ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.ฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น 3.ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา 4.คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกล 3 คน ประกอบด้วย 1.รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก 3.ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน 1.บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช 3.ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

พรรคเสรีรวมไทย 1 คน นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

พรรคประชาชาติ 1 คน กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส

พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ศุภดิศ อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ทั้งที่ประชุมรัฐสภา กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยนัดประชุม กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 29 มิ.ย. 2564 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภาฯ ชั้น 6 อาคารรัฐสภา

จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาสั่งปิดการประชุมเวลา 01.55 น. วันที่ 25 มิ.ย. 2564

รัฐธรรมนูญ วาระ1 13 ฉบับ บัตรเลือกตั้ง -1C14-4C63-923C-4FD11D1A234E.jpeg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง