ไม่พบผลการค้นหา
หากนับจากวันที่ 31 ก.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างเป็นทางการ หากนับจากวันเปิดประชุม สนช.นัดแรกเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2557 ถือเป็นปีที่ 4 ที่ สนช. ยังอยู่ในอำนาจเทียบเท่า 1 เทอม ของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

เป็นปีที่ 4 ที่อยู่อย่างต่อเนื่องของ สนช. เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ สนช.ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

โดย สนช. ชุดปัจจุบัน จะสิ้นสุดการทำหน้าที่ลงในวันก่อนมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก

ดังนั้น หากยังไม่มีสัญญาณการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก ก็เท่ากับ สนช.ชุดลายพรางนี้จะอยู่ในอำนาจต่อไปตราบนานเท่านาน

ในส่วนมุมมองของนักการเมืองที่ผ่านการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติมาหลายสมัย สะท้อนการทำงานของ สนช. ชุดที่ทำคลอดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาจากการรัฐประหารอย่างน่าสนใจ

เริ่มที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ผ่านการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรมา 4 สมัย และยังถูกยกย่องจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาให้เป็นดาวเด่นสภา ประจำปี 2552 เพราะทำหน้าที่ขณะเป็นฝ่ายค้านได้อย่างโดดเด่น รวมทั้งถูกยกย่องว่าแม่นข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาตลอด

โดย นพ.ชลน่าน มองว่า สนช.ชุดปัจจุบัน ได้อำนาจมาจาก คสช. ดังนั้นการทำงานจะไม่เหมือนสภาที่มาจากประชาธิปไตย

"สิ่งที่ สนช.ได้มาคือสภาเดียว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำตามหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายนั้นออกโดยผู้มีอำนาจที่ไม่ได้จากประชาชน เป็นกลุ่มบุคคล เป็นกลุ่มเฉพาะ ดังนั้นอำนาจที่ออกให้ สนช.เป็นอำนาจของกลุ่มคน ที่ได้มาจากการยึดอำนาจพี่น้องประชาชน" นพ.ชลน่าน ระบุ
ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย น่าน MG_0835.JPG

(นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย)

เช่นเดียวกับ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' อดีต ส.ส. 10 สมัย จากพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งมีประสบการณ์ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มองว่า สนช.จะไม่เทียบสภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะมีที่มาไม่เหมือนกัน

"สนช.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ส่วนสภาผู้แทนราษฎรปกติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะฉะนั้นที่มามาอย่างไร ก็คงต้องไปสนองตอบความต้องการของผู้ที่แต่งตั้งมา ถ้า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คงต้องยึดประชาชนที่ลงคะแนนเลือกมาเป็นหลัก ส่วน สนช. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เมื่อที่มาเป็นอย่างนี้คงต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ คสช. หรือเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายต่างๆ" อดีตประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุ

ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ผู้ผ่านการแต่งตั้งจากรัฐประหารถึง 2 สมัย และผ่านการสรรหามาเป็น ส.ว. อีก 2 สมัย หรืออยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติมา 10 ปีโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ชี้แจงบทบาทของ สนช. ว่า สนช.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดตัวเอง แต่อยู่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพราะหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 คสช.เข้ามาปกครองบ้าเนมือง เพื่อประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย จึงต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อมีบทว่าด้วยการปฏิรูปประเทศและการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง

นพ.เจตน์ ซึ่งควบเก้าอี้โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) ยังยกผลงานของ สนช.ชุดปัจจุบัน ว่า ตลอด 4 ปี สนช. ได้ผ่านกฎหมายจนประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้แล้ว 288 ฉบับ จาก 300 กว่าฉบับ

"สนช. ไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง ดังนั้น เรื่องวาระซ่อนเร้นจึงไม่มี เพราะ สนช.ผ่านกฎหมายด้วยความบริสุทธิ์ใจ" นพ.เจตน์ ย้ำ

เมื่อถามถึงผลงานชิ้นโบว์แดงของ สนช. นพ.เจตน์ บอกว่า สนช.มีส่วนสำคัญในการเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อให้นำข้อเสนอไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังมีผลงานสำคัญคือการผลักดันให้เกิดการออกเสียงประชามติในคำถามพ่วงที่กำหนดให้ ส.ว.มีส่วนรวมในการติดตามการปฏิรูปประเทศและเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก

ประยุทธ์ สภา นิติบัญญัติ 000_Hkg10090282.jpg

แต่เมื่อถามไปถึงนักการเมืองจาก 2 พรรคใหญ่แล้ว นพ.ชลน่าน จากพรรคเพื่อไทย ชำแหละผลงานของ สนช. ชุด คสช.ว่า สนช.ชุดนี้มีหน้าที่ออกกฎหมายเป็นไป 4 เป้าหมายหลักคือ 1.ให้มีการสืบทอดอำนาจ 2.ออกกฎหมายมารองรับเพื่อยื้อการเลือกตั้งไปให้นานที่สุด อยู่ให้นานที่สุด 3.ออกกฎหมายเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน และ 4.เป็นกฎหมายที่มุ่งทำลายกำจัดฝ่ายตรงข้าม  ตรากฎหมายเพื่อตอบสนองคนมีอำนาจ

"สนช. มาเป็นผู้ช่วย คสช. ให้อยู่ในอำนาจนานที่สุด ยังไงก็ 4-5 ปี ยื้อนานที่สุด" นพ.ชลน่าน ย้ำ

ด้าน 'จุรินทร์' จากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ถ้ามองความรวดเร็วของการผ่านกฎหมายของ สนช. ก็จะรวดเร็วกว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล การผ่านกฎหมายจึงเป็นลักษณะคือถ้อยทีถ้อยอาศัย

"สนช. มีต้นกำเนิดมาจากต้นน้ำสายเดียวกัน เพียงแต่มันเป็นรูปแบบมีฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติในยุคที่การเมืองไม่ปกติ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ถ้าจะไปหวังในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล คงเป็นเรื่องยาก เพราะว่า แม่น้ำสายเดียวกัน มีต้นน้ำต้นกำเนิดเดียวกัน จะไปตรวจสอบถ่วงดุลกันคงเป็นไปได้ยาก" จุรินทร์ ระบุ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ 222.JPG

(จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์)

แม้ปริมาณการออกฎหมายของ สนช.ชุดนี้จะทำลายสถิติสภาที่มาจากการเลือกตั้งนับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา แต่การตรวจสอบควบคุมการบริหาราชการแผ่นดินกลับทำไม่ได้ตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้

ซึ่ง นพ.เจตน์ ก็ยอมรับว่า การกำกับติดตามการทำงานของรัฐบาลทาง สนช.มีตั้งกระทู้ แต่ไม่เทียบเท่าตอนมี ส.ส. และ ส.ว. เพราะสภาผู้แทนราษฎรจะมีฝ่ายค้านตรวจสอบ ดังนั้น การเข้มข้นตรวจสอบจะไม่เท่าสมัยก่อน แต่เราพยายามทำหน้าที่ตามอำนาจที่มี การตรวจสอบก็มี แต่ความเข้มข้นจะแตกต่างกัน

ประยุทธ์ รัฐสภา 0180607115227.JPG

ถามต่อว่า ทำไมถึงเกิดการตรวจสอบหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คสช.ไม่ได้ นพ.เจตน์ บอกว่า สนช.ถูกตั้งมาโดย คสช. แต่ทีนี้หน้าที่หลักของ สนช. คือการออกกฎหมาย เรื่องการตรวจสอบรัฐบาลต้องเป็นเรื่องที่ประชาชน และสื่อมวลชนจะทำหน้าที่ประสานกับ สนช.ในบางประเด็น

ตรงนี้จึงทำให้ถูกฝ่ายการเมืองมองว่าการตรวจสอบรัฐบาลของ สนช. ไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร

"หน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการตั้งกระทู้ถาม เป็นลักษณะของการทำหน้าที่ในสภาเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรี บทบาทกรรมาธิการที่ทำหน้าที่พิจารณาสืบสวน สอบสวนที่ตัวเองมีอำนาจหน้าที่เคยเป็นข่าวหรือไม่ ตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำมีกรรมาธิการชุดนี้ดูแลไหม บริสุทธิ์โปร่งใสไหม" นพ.ชลน่าน ระบุ

ส่วน จุรินทร์ ก็บอกว่า ต้องถามว่าใครคาดหวัง ถ้าประชาชนคาดหวัง คิดว่าคงยาก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการอภิปรายในสภา ไม่ได้ตำหนิ สนช. แต่เป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่าจะตรวจสอบอย่างจริงจัง

หากให้ประเมินเป็นคะแนนต่อการทำงานของ สนช. ในรอบ 4 ปี นพ.ชลน่าน ชี้ว่า ผลงานเด่นแง่ปริมาณคือกฎหมาย แต่คุณภาพสำหรับผู้มีอำนาจ

"ถ้า 10 นะ เฉพาะเรื่องออกกฎหมายให้ 3 คะแนน ดูผลสัมฤทธิ์ ไม่ได้มาที่ประชาชน ประเทศชาติ มันมาหนุนนำให้เขาอยู่ในอำนาจต่อตามที่เขาต้องการ คะแนนที่จะให้การตรวจสอบควบคุมยิ่งต่ำกว่า 3 คะแนน เพราะไม่มีบทบาท" นพ.ชลน่าน ให้คะแนนพร้อมกับส่ายมือไปมา

ด้าน ประธานวิปฝ่ายค้าน ไม่ขอให้คะแนน เพียงแต่สรุปว่า สนช.มาจาก คสช. มาอย่างไรก็ต้องสนองตอบที่มาหรือต้นกำเนิดของแม่น้ำห้าสาย

เจตน์ ศิรธรานนท์ วิป สนช สภานิติบัญญัติแห่งชาติ G83A8378.JPG

(นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช.)

นพ.เจตน์ ซึ่งถือเป็น 1 ในสมาชิก สนช.ที่อยู่กับสภามานานถึง 10 ปี ยังให้คำตอบถึงคุณสมบัติของสมาชิก สนช. กลุ่มหนึ่ง ที่มักจะได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาสภาอยู่บ่อยครั้งและลากยาวนับแต่ปี 2550 จนถึงวันนี้ด้วยว่า การแต่งตั้งขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ สาเหตุที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาทำงานในสภา มาจากผลงานเป็นหลัก และมีส่วนร่วมในสภามากน้อยแค่ไหน

"ต้องไปดูแต่ละท่านที่ผ่านยุคสมัยต่างๆ แต่การใช้เวลาในการทำงานในสภาหลายๆปี มันสั่งสมประสบการณ์ สั่งสมความรู้ ความชำนาญ ซึ่งอาจจะมุมมองผู้แต่งตั้ง ถ้าเสนอคนใหม่เข้ามาอาจใช้เวลาในการเรียนรู้"

"แต่ถ้าตั้งคนที่มีประสบการณ์ มีผลงาน มีทัศนคติที่เป็นบวก ก็อาจจะทำให้มีประโยชน์ต่อการทำงานของสภาก็ได้ โฆษก วิป สนช. ระบุถึงเหตุผลที่ สมาชิก สนช.ได้รับแต่งตั้งอยู่บ่อยครั้ง

ตลอด 4 ปีของ สนช.ยุคลายพราง ฉบับคืนความสุข จะอยู่ยาวเป็นพิเศษ แถมสมาชิกที่มีจำนวนราวกว่า 200 คนจะทำหน้าที่ในสภาต่อไปเรื่อยๆ

เม็ดเงินจำนวนกว่า 1.2 พันล้านบาทที่จ่ายให้กับสมาชิก สนช.เหล่านี้มาตลอด 4 ปีเต็มจะคุ้มค่าเพียงใด

ประชาชนคงเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด

เมื่อ สนช.กำลังเข้าสู่ปีที่ 5 ก็จงอย่าแปลกใจหากจะมีสมาชิก สนช. ได้รับคัดเลือกให้มาเป็น ส.ว.อีกครั้งในช่วง 5 ปีแรกของรัฐธรรมนูญ เพราะผู้คัดเลือกก็คือ คสช. ต้นกำเนิดผู้ทำคลอด สนช.นั่นเอง!

ภาพ - สุรศักดิ์ บงกชขจร / ฐานันด์ อิ่มแก้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง