ไม่พบผลการค้นหา
หนึ่งปีสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุครัฐบาลคสช.ปั๊มกฎหมายเก่งกว่า 100 ฉบับเทียบรัฐบาลเลือกตั้ง 6 ปีผลิตเพียงแค่ 119 ฉบับ นักการเมือง-นักวิชาการชี้ขาดความรอบคอบ ส่อสร้างปัญหาในอนาคต

วอยซ์ออนไลน์ ตรวจสอบการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่า สนช.ที่จัดตั้งขึ้นเป็นสภาเดียว ที่ตั้งโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ทำหน้าที่ เป็นทั้ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

การผลักดันกฎหมายของสนช.จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยหลายฉบับพิจารณาเพียง 3 วาระ หรืออย่างเร็วที่สุดไม่ถึงชั่วโมง เช่น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ในการแต่งตั้งสังฆราช





311217_MakeLaws-01.jpg


1 ปีที่ผ่านมาจึงไม่แปลกใจว่า สนช.พิจารณากฎหมายไปแล้วทั้งสิ้น 101 ฉบับ แบ่งตามสถานะของกฎหมายและประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว 74 ฉบับ รอประกาศราชกิจจานุเบกษา 6 ฉบับ พิจารณาเสร็จแล้ว 2 ฉบับ และกำลังพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ 19 ฉบับ

แบ่งตามประเภท ดังนี้คือ ด้านการเมือง 28 ฉบับ ด้านสังคม 13 ฉบับ ด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง 35 ฉบับ ด้านสิ่งแวดล้อม 7 ฉบับ ด้านสิทธิมนุษยชน 6 ฉบับ และด้านอื่นๆ 12 ฉบับ

หากเปรียบเทียบ ความแตกต่างในการพิจารณากฎหมายของ สนช.ที่เป็นสภาเดียว กับ สภาคู่ที่ต้องผ่านการพิจารณา 6 วาระ ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะออกกฎหมายได้หนึ่งฉบับพบว่า 3 ปีเศษ ตั้งแต่ 8 สิงหาคม 2557 จนถึงสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา สนช.สามารถพิจารณากฎหมายได้มากถึง 339 ฉบับ หรือเกือบ 3 เท่าของการออกกฎหมายในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

โดยจะเห็นว่าการพิจารณากฎหมายตั้งแต่ นายสมัคร สุนทรเวช ในปี 2551 จนถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 รวม 6 ปี มีเพียงแค่ 119 ฉบับเท่านั้น





พีระศักดิ์.jpg


การพิจารณากฎหมายที่ใช้เวลาอย่างรวดเร็วของ สนช. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้แจงว่าเพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาล คสช. และพิจารณากฎหมายตามมติ สปท.พร้อมทั้งกฎหมายที่ค้างจากกระทรวงต่างๆในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว

นอกจากนี้การพิจารณากฎหมายได้จำนวนมากอาจเกิดจาก สมาชิก สนช. ที่ทำงานมากว่า 3 ปี ทำให้มีประสบการณ์จนสามารถพิจารณากฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนได้มากขึ้น

อย่างไรกฏหมายที่ออกมาในปริมาณมากไม่ได้ก่อให้เกิดความสับสนต่อประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นกฎหมายที่แก้ปัญหาความทับซ้อนของกฎหมายเก่าและเน้นการบูรณาการเพื่อให้นำไปใช้ได้ง่าย อาทิ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ โดยควบรวม กฎหมายการผังเมือง และกฎหมายการชลประทานหลวงเข้าด้วยกัน , พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ, หรือร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือทับซ้อนกับกฎหมายอื่น เป็นต้น 

ทั้งนี้ นายพีระศักดิ์ ยอมรับว่า การออกกฎหมายของ สนช. ซึ่งเป็นสภาเดียวจะมีความรวดเร็วกว่าสภาคู่ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อาจจะขาดความรอบคอบ หรือขาดความเห็นที่รอบด้าน เพราะไม่มีฝ่ายค้าน

แต่แก้ไขด้วยวิธีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ และมีคณะกรรมการติดตามผลกฎหมาย โดยจะนำกฎหมายที่มีปัญหาในการบังคับใช้กับมาให้ สนช. แก้ไข


นิพิฏฐ์ โวยสังคมเผด็จการห้ามนักการเมืองคุยกัน


ในมุมมองของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การออกกฎหมายจำนวนมากไม่ใช่เรื่องที่ดี สังคมที่มีกฎหมายจำนวนมากคือสังคมที่อ่อนแอ ประชาชนมีโอกาสทำผิดกฎหมายได้เยอะตามไปด้วย

"ผมเห็นด้วยหาก สนช. ออกกฎหมายที่สอดรับกับนโยบายปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำได้ยากในระบบสภาที่มีฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของประเทศจำนวนมาก กฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีของประชาชน สภาที่ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชนไม่มีสิทธิ" นิพิฏฐ์กล่าว

นอกจากนี้นายนิพิฏฐ์ยังกังวลว่าการออกกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มีระยะเวลานานเกินไปอาจตีกรอบพรรคการเมืองในการวางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาประชาชนอย่างแท้จริง และหากจะแก้ไขก็ต้องใช้เวลานานซึ่งจะเป็นเหตุให้กฎหมายล้าหลังไม่ทันต่อสถานการณ์


G83A8402.JPG

ขณะที่นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และแกนนำพรรคเพื่อไทย ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของสภาเดี่ยวว่า ขาดความรอบคอบและส่วนใหญ่ไปตอบโจทย์ของประชาชนหรือว่าไปริดรอนสิทธิ์เสรีภาพของประชาชน หรือว่าไปตอบโจทย์ผู้บริหารประเทศ และ สนช. ต้องการโดยที่ประชาชนไม่ได้ต้องการหรือไม่

เช่นที่ผ่านมา กฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่รัฐบาลต้องใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งมาเพื่อแก้ไขปัญหาจากกฎหมาย หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

อย่างไรก็ตามจะเป็นเรื่องดี หาก สนช.ที่มาจากรัฐประหารจะใช้โอกาสนี้ ในการสังคายนากฎหมายที่มีเกือบแสนฉบับที่ซ้ำซ้อนกัน และสร้างความสับสนให้ประชาชน และให้อำนาหรือดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่จนกลายเป็นบ่อเกิดของการคอร์รัปชั่น





นันทวัฒน์.JPG


ขณะที่ ศ.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมีกฎหมายดี กับกฎหมายเยอะต่างกัน ความลำบากไม่ได้อยู่ที่มีกฎหมายเยอะ แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย

ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้อยู่มาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากการสร้างความเข้าใจเรื่องเสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งรัฐบาลต้องหาทางแก้ไขปัญหาตรงนี้ ขณะเดียวกันการออกกฎหมายจำนวนมากที่เกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกันก็เป็นปัญหาให้การดำเนินการต่างๆ ล่าช้า ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกำลังดำเนินการแก้ไข 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน อยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ รัฐบาล คือ รัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้น สนช. จึงเป็นเพียงเครื่องมือในการออกกฎหมายของรัฐบาล เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ดังนั้นกระบวนการออกกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน แม้จะมีการรับฟังความคิดเห็นในมาตรา 77 ก็ยังไม่เกิดผลที่ชัดเจน ซึ่งจะนำมาสู่การยกเลิกหรือแก้กฎหมายบางฉบับที่สร้างภาระให้กับหน่วยงานภาครัฐ หรือประชาชนมากเกินไป หลังการเลือกตั้ง