ไม่พบผลการค้นหา
มองมุมร้ายที่สุด เมื่อพรรคอนาคตใหม่กำลังถูกกล่าวหาว่าทำผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ตอนที่ สนช.แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ช่วงปลายปี 2559 ได้อ้างเหตุผลว่า เพื่อไม่ให้มาตรานี้ถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์อีก เพราะตลอดสิบปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.คอมฯ ถูกใช้ฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟู

แต่หลังจาก พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ประกาศใช้ แทนที่คดีหมิ่นประมาทซึ่งฟ้องกันด้วย พ.ร.บ.คอมฯ กว่า 50,000 คดีจะหายไป ตามที่ผู้ร่วมยกร่างกฎหมายนี้กล่าวอ้าง กลับยังมีการใช้มาตรา 14(1) ฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทกันต่อไป คดีเดิมก็ยังอยู่ คดีใหม่ๆ ก็เพิ่มเข้ามา โดยบางคดีมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ฟ้องเองซะด้วยซ้ำ

เมื่อมาตรา 14(1) ที่บอกว่าแก้ไขแล้วจะดีขึ้น ก็ไม่ดีขึ้นจริง จึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่มาตรา 14(2) ซึ่งมีเนื้อหาคลุมเครือ เปิดโอกาสให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง ที่ สนช.ไม่ได้แก้ไขอะไรเท่าไร จะถูกใช้เพื่อฟ้องร้องกันเช่นเดิม โดยเฉพาะการฟ้องปิดปากผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐ เช่นเดียวกับคดีล่าสุดที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับพวก ถูก ปอท.เรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา ในคดีที่ทีมกฎหมาย คสช.ฟ้อง เพราะไปวิพากษ์วิจารณ์การเดินหน้าดูดอดีต ส.ส. ผ่านการเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.

สำหรับเนื้อหาของ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(2) มีอยู่ว่า..

ผู้ใด “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับเนื้อหาของคดีก็ต้องไปว่ากันต่อไป ว่าข้อมูลดังกล่าว “เป็นเท็จ” หรือไม่ และทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก หรือเปล่า

แต่พลันที่เรื่องนี้กลายเป็นข่าว ก็มีการคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่านี่เป็นกระบวนการขัดขวางไม่ให้ธนาธรกับพวกได้เดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ?

ขณะที่หลายคนอาจคิดถึงคำพูดของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เปรยว่า ในวันเลือกตั้งจะยังมีพรรคเพื่อไทย (ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นขั้งตรงข้ามกับ คสช. เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่) อยู่หรือ ?

อย่างที่ผู้ติดตามข่าวการเมืองอย่างใกล้ชิดจะรู้กันว่า ใครประกาศตัวว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจชุดปัจจุบัน จะเผชิญสารพัดความยากลำบาก ขยับตัวทำอะไรเพียงเล็กน้อยก็ถูกขู่ว่าอาจผิดกฎหมาย ต่างกับผู้สนับสุนนให้ใครบางคนได้เป็นนายกฯ ต่อไป ที่สามารถเคลื่อนไหวจับกลุ่ม พูดคุย เจรจา ต่อรอง หรือพูดง่ายๆ คือ “ดูด” อดีต ส.ส. ได้อย่างสบายใจ โดยมีผู้ใหญ่ของ คสช. ออกมาปกป้องว่า “เพราะพวกเขายังไม่ใช่พรรคการเมือง”

และหากย้อนกลับไปช่วงก่อนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า ใครที่เดินสายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ต่างถูกฟ้องร้องว่าทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่ถ้าประกาศตัวสนับสนุนจะไม่มีคดีความใดๆ

หรือการเลือกตั้งในปี 2562 จะมีสภาพไม่ต่างกัน?

กลับไปที่คำถามที่เป็นชื่อบทความว่า เป็นไปได้ไหมที่จะไม่มี “พรรคอนาคตใหม่” ในบัตรเลือกตั้ง ?

ถ้าว่ากันนาทีนี้ ก็ยังไกลและเร็วเกินไปที่จะบอก แม้ธนาธรจะถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ และในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(6) จะมีข้อความชวนให้หวาดเสียวว่า ผู้ใด “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล” จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้ ก็ตาม

แต่ระยะทางนับจากนี้ ก็เป็น “เส้นทางอันตราย” ทั้งสำหรับพรรคอนาคตใหม่และหลายๆ พรรค เพราะใน พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีข้อกำหนดยิบย่อยที่จะทำให้พรรคการเมืองใดๆ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ทั้งให้ กกต.สั่งตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคและเว้นวรรคทางการเมือง 20 ปีได้ ถ้าไม่ควบคุมสมาชิกพรรคให้ดี (มาตรา 22) หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคได้ถ้าปล่อยให้คนนอกชี้นำพรรค เสนอหรือเรียกรับสินบน บ่อนทำความความมั่นคงของชาติ ฯลฯ (มาตรา 92)

ไม่รวมถึงว่า วันดีคืนดี หัวหน้า คสช.อาจจะใช้มาตรา 44 ไปทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ และต่อการเลือกตั้ง อย่างมีนัยสำคัญ

เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่า ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงออกหลายครั้งว่าพร้อมจะมาเป็น “ผู้เล่น” ในสนาม (เพียงแค่ไม่ไปหาเสียง คิดนโยบาย หรือลงเลือกตั้งเอง) ไม่ได้เป็นแค่ “กรรมการ” ผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย

ที่ผ่านมา ทั้งตัวแกนนำรัฐบาลทหารและผู้สนับสนุนเอง มักประกาศว่า อยากให้มี “ตัวเลือกใหม่ๆ” เข้าสู่เวทีการเมืองบ้าง การเมืองไทยจะได้ไม่กลับไปสู่วังวนเก่าๆ

นำไปสู่การตั้งคำถาม 6+4 ข้อให้ประชาชนตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรม

แต่เมื่อมีพรรคอนาคตใหม่ ที่สมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นคนหน้าใหม่จริงๆ จังๆ กลับถูกเตะสกัดขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไปขุดอดีตเข้ามาโจมตี ทั้งปล่อยให้มี IO คอยโพสต์ข้อมูลเชิงลบผ่านทางเพจต่างๆ ขณะที่ฝ่าย คสช.ก็ขู่อยู่ตลอดว่า ทำอะไรให้ระวังจะผิดกฎหมายนะ

ก็เลยไม่รู้ว่า ที่อยากได้ ตัวเลือกใหม่ๆ นั้นหมายถึงตัวเลือกแบบไหนกันแน่

เก่าจากที่อื่นแต่มาใหม่ตรงที่สนับสนุนกลุ่มบุคคลที่ตัวเองชื่นชอบ? หรือใหม่ตรงที่เคยประกาศเลิกเล่นการเมืองไปแล้ว แต่ก็กลืนน้ำลาย กลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง?

ส่วนตัวผม ณ เวลานี้ ยังไม่เห็นเหตุผลที่จะไปลงคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่ในบัตรเลือกตั้ง แต่ก็ยินดีที่มีคนใหม่จริงๆ เข้ามาช่วยให้บรรยากาศการเมืองไทยมันคึกคักและผู้คนได้มีตัวเลือกมากขึ้น

เพราะอนาคตของชาติ ก็ควรจะเปิดโอกาสให้คนจากหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาช่วยกันกำหนด ไม่ใช่ปล่อยให้คนบางกลุ่มแอบเขียนบทกันอยู่หลังฉาก หรือใช้คนหน้าเดิมมาเป็นฐานให้ตัวเองได้ขึ้นสู่อำนาจ โดยไม่รู้ว่านั่นคือสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศต้องการจริงหรือไม่ และสิ่งที่ทำ ทำไปเพื่อประโยชน์ของชาติ หรือเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog