ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อ้างผลการศึกษา 'ฉีดน้ำขึ้นฟ้า' ไม่ได้ช่วยลดค่า PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน แนะลดปริมาณฝุ่นละอองที่แหล่งกำเนิดดีที่สุด ชี้ภาครัฐต้องติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศเพิ่ม กล้าตัดสินใจออกมาตรการลดมลพิษทางอากาศระยะเร่งด่วน

รศ.ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การใช้รถฉีดน้ำขึ้นฟ้าของ กทม. บนถนนที่ตรวจพบค่า PM 2.5 สูง ไม่ได้ช่วยทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจมีผลในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เนื่องจากขนาดของหยดน้ำ จะต้องสัมพันธ์กับขนาดของฝุ่นละอองด้วย จึงจะสามารถดักจับฝุ่นละอองให้ตกลงพื้นได้ 

"หัวฉีดน้ำดับเพลิงที่ กทม. ใช้อยู่ขณะนี้ ยังไม่สามารถทำให้เกิดละอองน้ำขนาดเล็กได้ หากจะดักจับฝุ่นละอองก็ได้เพียงขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) เท่านั้น เช่นเดียวกับหยดน้ำฝน ก็มีหลายขนาด ไม่สามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ได้ทั้งหมด ส่วนการใช้น้ำฉีดบนถนนก็ช่วยชะล้างฝุ่นละอองได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อน้ำระเหยฝุ่นละอองก็ยังคงอยู่ และอาจลอยขึ้นฟ้าอีกครั้งเมื่อลมพัดผ่าน ดังนั้นการใช้รถดูดฝุ่นเป็นประจำจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้" รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว


รศ.เศรษฐ์

รศ.ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล

อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะแหล่งกำเนิดฝุ่นยังคงอยู่ ทั้งไอเสียจากรถยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ การก่อสร้างที่ละเลยการควบคุมฝุ่น และการเผาไหม้ในภาคเกษตรกรรม นอกจากแหล่งกำเนิดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยังอาจลอยมาจากพื้นที่อื่น ทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น จำเป็นต้องลดปัจจัยการเกิดฝุ่นไปพร้อมๆ กัน ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของภาครัฐ 

รศ.ดร. เศรษฐ์ ยังเรียกร้องให้ภาครัฐติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM 2.5 เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีการใช้งานเพียง 6 เครื่องเท่านั้น และต้องรายงานผลเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งข้อมูลนี้จะทำให้การจัดการปัญหามีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องอันตรายของ PM 2.5 ให้ประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย และภาครัฐต้องกล้าตัดสินใจ ออกมาตรการลดมลพิษทางอากาศระยะเร่งด่วน เช่น งดการจราจรในบางพื้นที่ หรือประกาศปิดเรียน-สถานที่ราชการ เมื่อพบว่าค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ



ฉีดน้ำ


ด้าน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ก.พ. 2561 เวลา 10.00 น. จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ให้เร่งแก้ไขสถานการณ์ PM 2.5 เกินมาตรฐานโดยเร่งด่วน หลังเรียกร้องไปยังกรมควบคุมมลพิษแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรม จึงมองว่าต้องพึ่งอำนาจฝ่ายบริหาร 




ล้างฝุ่น


ทั้งนี้ ร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี ของกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหา PM 2.5 น้อยมาก แม้จะระบุในแผนฯ ว่าจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ แต่ก็ไม่ระบุระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน ส่วนแผนการติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ให้ครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2563 มองว่าใช้ระยะเวลานานเกินไป และอาจทำให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองช้าตามไปด้วย ดังนั้น จึงเสนอให้กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ค่า PM 2.5 จากค่า PM 10 ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอยู่ และหลายประเทศก็นิยมใช้วิธีนี้ในช่วงที่รอการติดตั้งเครื่องมือ โดยอาจนำร่องในบางพื้นที่ เพื่อให้สะท้อนมลพิษทางอากาศได้อย่างแท้จริงตามมาตรฐานสากล