ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองในกทม.มีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่ ด้านกรมการแพทย์ห่วงสุขภาพคนกรุง แนะเลี่ยงหรือลดกิจกรรมภายนอกอาคาร ช่วงระดับมลพิษทางอากาศสูง

กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดล็ก 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เวลา 8.00 น. ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 47-70 ไมโครนกรัม/ลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 4 สถานี ได้แก่ บริเวณเขตวังทองหลาง , ริมถนนอินทรพิทักษ์ , ริมถนนพระราม 4 และริมถนนลาดพร้าว โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่

ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 88% ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศลดลงได้


9.jpg

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า  ปัญหามลพิษทางอากาศ (Smog) มีมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงหรือกรุงเทพมหานคร ซึ่งในบางครั้งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือประชาชนชนควรจะทราบลักษณะการเกิดมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมีส่วนผสมของก๊าซและอนุภาคที่เล็กมากจะมองไม่เห็นหรือไม่มีกลิ่น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ ระดับและชนิดของมลพิษในอากาศ อายุและสภาวะสุข​ภาพ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือผู้ที่สูบบุหรี่จะได้รับผลกระทบมากกว่า

นอกจากนี้ ความแปรปรวนของอากาศ ถ้าอากาศเย็น จะมีมลพิษทางอากาศลอยตัวต่ำมากขึ้น ถ้าฝนตก สถานการณ์จะดีขึ้น ระยะเวลาการสัมผัส ถ้าอยู่นอกบ้านและหายใจหรือสัมผัสมากจะมีผลมากขึ้น และถ้าอยู่อาศัยในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น ในเมืองหลวงจะมีผลมากกว่า ดังนั้น ประชาชนควรติดตามข้อมูลข่าวสาร คำแนะนำ หรือคำเตือนต่างๆ จากหน่วยงานรัฐอย่างอย่างสม่ำเสมอ

นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตราชธานี เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก คอ ทางเดินหายใจ ทำให้คันเคืองตา แน่นจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก และทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอดแสดงอาการมากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการสัมผัสระยะยาวจะทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อเกิดมลพิษทางอากาศขึ้น จะทำให้คนที่เป็นโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแสดงอาการมากขึ้นเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า โอโซน จะเข้าไปทำลายเนื้อปอดอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีอาการเลย ผู้ที่เป็นโรคปอดและหัวใจจะเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กจะทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความไวต่อผลของมลพิษทางอากาศ ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว หากพบอาการผิดปกติต่างๆ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที

นพ.อดุลย์ บัณฑุกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตราชธานีและนายกสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศ (Smog) คือ อนุภาคและโอโซน นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆ ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งอนุภาค (Particulate Matter-PM) เกิดจากอนุภาคขนาดเล็กที่ทำให้อากาศเกิดมลพิษ มีขนาดแตกต่างกันไป และเป็นสารเคมีชนิดต่างกัน มีแหล่งกำเนิดจากอุตสาหกรรม และยานพาหนะ ฝุ่นบนถนน การก่อสร้าง การเผาไม้ และการเกษตร

ดังนั้น จึงขอแนะนำการปฏิบัติตัวที่สำคัญ คือ หลีกเลี่ยงหรือลดกิจกรรมที่ต้องออกนอกอาคาร เมื่อระดับมลพิษทางอากาศสูง โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ที่ระดับโอโซนภาคพื้นดินสูง ให้ทำกิจกรรมอยู่ภายในอาคารแทน ลดการออกกำลังกายใกล้บริเวณที่มีรถจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือโรคปอด ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการป้องกันเพิ่มเติมให้เหมาะกับวิถีชีวิตของแต่ละคน

ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในการช่วยลดปริมาณมลพิษทางอากาศ ได้แก่ ควรใช้รถประจำทางหรือรถขนส่งมวลชนแทนรถส่วนตัว เพื่อลดมลพิษทางอากาศลดการใช้พลังงานในบ้าน และไม่ควรเผาใบไม้ กิ่งไม้ หรือขยะ เพราะจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศได้