ไม่พบผลการค้นหา
9 อดีตแกนนำ ทษช. แถลงเปลี่ยนโหมดสู้ศึก ตั้ง "กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อปชต." นัดปูพรหมไฮปาร์ค ปลุกเข้าคูหาต้านคสช.

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่โรงแรมปริ๊นเซส หลานหลวง อดีตทีมยุทธศาสตร์และการหาเสียงแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) 9 คน นำโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ นายประภัสสร์ จงสงวน นายนิคม ไวยรัชพานิช แถลงถึงอนาคตทางการเมืองหลังพรรคทษช.ถูกยุบ

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หลังทำงานกับพรรคทษช.มา 4 เดือน ด้วยความตั้งใจ หวังช่วยกันหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของเผด็จการคสช. เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็อย่างที่ประชาชนจำนวนมากรู้สึกคือ เสียดายเมื่อทษช.ถูกยุบ นอกจากกรรมการบริหารถูกเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ผู้สมัครส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ก็หมดสถานะสมาชิกและผู้สมัคร จึงเหลือสถานะเพียงประชาชน หรือนักการเมืองที่ยังไม่สังกัดพรรค ซึ่งมีสิทธิมีเสียงดำเนินการทางการเมืองได้ 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ทาง กกต.ก็ชี้แจงแล้วว่า สามารถสมัครสมาชิกพรรคการเมือง หรือช่วยหาเสียงกับพรรคไหนก็ได้ตามกติกาที่กกต.กำหนด ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตทั้ง 174 เขต และแบบบัญชีรายชื่ออีก 100 กว่าคน รวมเกือบ 300 คนนั้น ส่วนใหญ่ก็อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือ ผู้สนับสนุนในแต่ละเขตเลือกตั้งว่า จะมีบทบาททำงานอย่างไรต่อไปให้มีประโยชน์ต่อบ้านเมือง ตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งไม่ได้มีเพียง 9 คนที่มาร่วมแถลง ดังนั้น เมื่อมีเจตนารมย์ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า จะดำเนินการทางการเมืองเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจคสช. สร้างประชาธิปไตยให้บ้านเมือง แม้ไม่ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว ก็จะดำรงจุดมุ่งหมายที่มีมา และแสวงหาช่องทางทำงานทางการเมืองให้บรรลุจุดมุ่งหมาย 

"จากนี้ไปพวกเราจะเปิดเวทีสื่อสารกับประชาชน เพื่อใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทำกิจกรรมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองต่อประชาชนที่เคยสนับสนุนทษช. ส่วนเสียงเรียกร้องให้เราไปสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนั้น ยังต้องประเมินกันต่อไป เมื่อเราไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองแล้ว เราจะทำงานต่อไปไม่รอเวลา ระหว่างนั้นก็จะศึกษาข้อจำกัดของกฎหมาย รวมถึงความเหมาะสมในการทำกิจกรรม เพื่อประโยชน์สูงสุด โดยปรับตามความเหมาะสมของสถานการณ์และความจำเป็น เพราะเราไม่ต้องการยุติบทบาทเมื่อทษช.ถูกยุบ" นายจาตุรนต์กล่าว 


ไทยรักษาชาติ

เปิด "กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย" 

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า แม้เส้นทางทษช.ในการเลือกตั้งยุติแล้ว แต่เส้นทางการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ยังไม่ยุติ ต้องเดินหน้าต่อไป การรวมตัวกันวันนี้ ไม่ได้เป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคล แต่เป็นกลุ่มภารกิจเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านการสืบทอดอำนาจ เรียกว่า "กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย"

สิ่งที่จะดำเนินการหลังจากนี้ ก็จะเปิดเวที ปราศรัยต่อพี่น้องประชาชน ตลอด 10 กว่าวันที่เหลือก่อนเลือกตั้ง โดยอย่างน้อยจะต้องมี 4 เวที 4 ภูมิภาค กำหนดการลงพื้นที่เป็นวันใดที่ไหนบ้างจะแจ้งอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ประสานงานเตรียมการแล้ว ส่วนจะมีมากขึ้นหรือไม่ ต้องประเมินจากสถานการณ์และการตอบรับของประชาชน ตลอดจนประโยชน์สูงสุดที่จะมีขึ้นต่อพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย 

"เราเคารพวิจารณญาณของพรรคทษช.ทุกคน ทั้งส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ ที่อาจมีวิธีคิดทางการเมืองแตกต่างกันออกไป สำหรับเนื้อหาสาระของการปราศรัย ยังคงเล็งเห็นว่าการแก้ไขปัญหาปากท้องสำคัญที่สุด แต่การแก้ปัญหา ต้องพาบ้านเมืองกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน หวังว่า ประชาชนที่สนับสนุนทษช. จะตอบรับภารกิจนี้ แล้วเดินหน้าร่วมกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ร่วมพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้จัดตั้งรัฐบาลได้" นายณัฐวุฒิกล่าว 

งดแจงปมยุบทษช. รอถอดบทเรียนหลังกาบัตร

เมื่อถามว่า การรณรงค์จะมีลักษณะให้โหวตโนด้วยหรือไม่

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าา ไม่ได้รณรงค์เรื่องนี้ เชื่อว่าเสียงประชาชนทั้งประเทศ สามารถเอาชนะเผด็จการได้ โดยมีตัวอย่างจากประเทศเพื่อน บ้านอย่างพม่าและมาเลเซียให้เห็นแล้วว่า ถ้าประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย พร้อมใจกันเลือกฝ่ายประชาธิปไตย ก็ไม่มีอะไรขวางกั้นได้ ตนเคยพูดว่า ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะตั้งแล้วตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ ต้องเรียกว่าปาฎิหาริย์ ซึ่งเชื่อว่า ปาฏิหาริย์นี้เกิดขึ้นได้ 

เมื่อถามว่า ถ้าอย่างนั้นการจัดเวทีปราศรัยจะบอกให้เลือกฝั่งประชาธิปไตย ที่มีพรรคแนวร่วมอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติหรือไม่ 

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ใช่ เป็นกิจกรรมทางการเมือง เพื่อบอกกล่าวประชาชนให้ตัดสินใจในสนามเลือกตั้งแต่เราไม่มีพรรคใดเป็นสาขาพรรค แต่ละพรรคมีแนวทางต่างกันชัดเจน เชื่อว่าประชาชนพิจารณาเลือกพรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ส่วนพรรคไหนสนับสนุนการสืบทอดอำนาจหรือแทงกั๊ก ก็ต้องบอกประชาชนว่า เอาไว้ไม่ได้ 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การโอนคะแนน ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ ต้องขึ้นกับประชาชน พวกเราที่นี่และอดีตผู้สมัครส.ส.พรรคทษช.แต่ละเขต ก็อาจจะเชิญชวน ผู้สนับสนุนพรรคทษช.เดิม ไปสนับสนุนพรรคการเมืองใด ผู้สมัครฯ คนไหน ก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจแต่ละคน ซึ่งสุดท้ายแล้วการตัดสินใจขึ้นกับประชาชน ไม่อาจโอนได้โดยอัตโนมัติ เมื่อทษช.ถูกยุบแล้ว พื้้นที่ที่เราจะจัดกิจกรรม จะกลายเป็นไม่จำกัดแค่ที่เคยมีผู้สมัครฯ ทษช. แค่ 174 เขตเลือกตั้ง แต่เป็นทั่วประเทศ เพราะเรามีความต้องการสื่อสารกับประชาชนทั้งหมด

เมื่อถามว่า ให้มองย้อนกลับไปการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯผิดพลาดหรือไม่ 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า "ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เรื่องของการสรุปบทเรียนที่ผ่านมา คิดว่า หลังการเลือกตั้งไปแล้วค่อยคิด นักการเมือง หรือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อบ้านเมือง ควรสรุปบทเรียน เมื่อผ่านเหตุการณ์ใดมา แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะทำ ผมได้กล่าวตอนต้นแล้วว่า พวกเรารู้สึกเช่นเดียวกับผู้สนุบสนุนทษช.ที่เสียดาย เมื่อทษช.ถูกยุบ" 


ไทยรักษาชาติ

เมื่อถามว่า จะนำพูดเรื่องการยุบพรรคไปปราศรัยด้วยหรือไม่

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เราจะไม่พูดประเด็นนี้ เนื้อหาที่จะพูดจะอยู่ในแนวทางเดียวกันกับที่เราปราศรัย หากมีข้อจำกัดจากกฎระเบียบ ก็เลือกที่จะไม่พูดบางเรื่องหรือบางแง่มุม เราจะไม่พูดเกี่ยวกับคู่กรณีการยุบพรรค ส่วนการเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรมของคสช. การใช้งบประมาณ แทรกแซงสื่อ องค์กรอิสระ ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นยุบทษช. 

เมื่อถามว่า มีพรรคอื่นติดต่อมาให้ไปร่วมสนับสนุนหรือไม่

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แกนนำไม่ได้รับการติดต่อ แต่ในรายพื้นที่อาจมีประสานงานไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ ขึ้นกับแต่ละคนจะใช้วิจารณญาณหรือดุลพินิจไป 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เข้มข้นมาก โพลต่างๆ ก็พลิกไปพลิกมา แนวโน้มพรรคฝ่ายประชาธิปไตยดีขึ้นเรื่อยๆ แต่การใช้อำนาจแทรกแซง เอาเปรียบทางการเมืองของอีกฝ่ายก็เข้มข้นมากขึ้น ผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นกับความพยายามของแต่ละฝ่ายในช่วงโค้งสุดท้าย ส่วนอดีตสมาชิกทษช. ก็อยากใช้ความสามารถของเราเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายประชาธิปไตยให้มากที่สุด 

เมื่อถามถึงแนวทางการสนับสนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตย จะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่หรือไม่

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า พื้นที่แต่ละเขตต่างกันไป อดีตผู้สมัครทษช.ลงซ้ำกับพรรคไหน ไม่ซ้ำกับพรรคไหน ทษช.แข่งกับใคร ใครเป็นไปได้มากน้อย ย่อมต้องดูุรายละเอียดเป็นรายเขต อดีตผู้สมัครทษช.ชัดเจนกับอุดมการณ์ต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ เรื่องจะสนับสนุนใครก็เป็นเรื่องของผู้สมัครส.ส.ในรายเขตที่จะรู้ดีที่สุด ผ่านการใช้ดุลพินิจโดยอิสระ ซึ่งเชื่อว่าไปในทิศทางเดียวกัน คือ สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย 

เมื่อถามว่า ในอนาคตมีโอกาสตั้งพรรคการเมืองใหม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยังจำได้ว่าเพิ่งถูกยุบพรรคมา 2 วันคงยังไม่คิดเรื่องตั้งพรรค 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า "คิดเพียง 10 กว่าวันจะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์อย่างถึงที่สุด" 

250 ส.ว. ปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตย

เมื่อถามถึง กลไกแต่ตั้ง 250 ส.ว. ของคสช.

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า นี่เป็นปมปัญหาใหญ่ของกติกาตามรัฐธรรมนูญ มีการตั้งรองนายกฯ เป็นกรรมการสรรหา เห็นหน้าเห็นตาก็รู้แล้วว่าคืออะไร ส.ว.เหล่านี้ไม่มีคะแนนเล็ดลอดที่จะไม่สนับสนุนผู้นำของคสช. ทำให้พรรคนั้น ได้เปรียบมากกว่าพรรคอื่นๆ ซึ่งทำให้ประชาชนเห็นเหมือนกันว่า กว่าประชาชนจะเลือกตั้งให้ได้ผู้แทนนั้นยากขนาดไหน แต่กลับมีส.ว.รออยู่เพื่อสนุบสนุนใครเป็นนายกฯแล้ว เมื่อเรื่องนี้เผยตัวออกมามากขึ้น ก็ต้องตัดสินใจ สุดท้ายประเด็นขมวดไปอยู่ที่จุดเดียวคือ จะให้มีการสืบทอดอำนาจหรือไม่ กำลังที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยก็จะมากขึ้น แม้จะถูกเอาเปรียบมากก็ตาม 

"ครั้งนี้จะบอกว่า ชนะแน่ๆ คงไม่อาจพูดได้ แต่เท่าที่ไปสัมผัสมา เปิดเผยว่า มีการเอาเปรียบกันชัดเจน ประชาชนรู้สึกร่วมกันว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศเดือนร้อน เศรษฐกิจเสียหายมาก เชื่อว่าสุดท้ายประชาชนจะตัดสินใจ 2 เรื่องผสมกันคือ ไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจเพื่อหลุดพ้นจากเศรษฐกิจ รวมเป็นถ้าคสช.สืบทอดอำนาาจ เศรษฐกิจจะเสียหายยาวนาน หากโค้งสุดท้ายประชาชนเข้าใจอย่างนี้ โอกาสที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะมาก แล้วจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะมีมากขึ้น" นายจาตุรนต์กล่าว