ไม่พบผลการค้นหา
นิเคอิ เอเชีย สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า อนาคตการท่องเที่ยวไทยยังคงมืดมัวลงเรื่อยๆ จากมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.พ.นี้ ที่ถึงแม้รัฐบาลไทยจะประกาศยกเลิกมาตรการการใส่หน้ากาก เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เบาบางลง อย่างไรก็ดี ประชาชนหลายคนยังคงใส่หน้ากากอนามัยเช่นเคย ด้วยเหตุผลว่าคนไทยต้องพยายามรักษาสุขภาพปอดของตัวเองจากมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5

นิเคอิ เอเชีย ระบุว่า เครื่องอ่านดัชนีคุณภาพอากาศบนสมาร์ทโฟนในประเทศไทยมีค่าฝุ่น PM 2.5 กว่า 164 ซึ่งมีค่าที่สูงกว่าตัวเลข 150 ที่หมายความว่ามีคุณภาพอากาศไม่ดีต่อสุขภาพ และมีความเสี่ยงสูงต่ออาการระบบทางเดินหายใจ ยิ่งไปกว่านั้น เชียงใหม่และส่วนอื่นๆ ของภาคเหนือของไทย ยังบันทึกค่าฝุ่นที่สูงกว่า 200 ในช่วงต้นถึงกลางเดือน ก.พ. ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศมากที่สุดในโลก

นิเคอิ เอเชีย ระบุว่า คุณภาพอากาศของประเทศไทยมักจะแย่ลงในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งโดยทั่วไปเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย. ถึง ก.พ. และจะแย่ไปจนถึงประมาณเดือน เม.ย. เนื่องจากชาวไร่ทำการเผาไร่อ้อยเพื่อถางหน้าดิน นอกจากนี้ มลพิษจากรถยนต์เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลให้พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็ประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงเช่นกัน

นิเคอิ เอเชีย รายงานว่า ณ สิ้นเดือน ม.ค. ประเทศไทยมีประชาชนราว 380,000 คนได้รับการยืนยันว่ามีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือระคายเคืองตา ในขณะที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เรียกร้องให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านและสวมหน้ากากอนามัย พร้อมสั่งหน่วยงานต่างๆ จัดทำมาตรการรับมือกับปัญหามลภาวะทางอากาศ

รายงานระบุว่า รัฐบาลไทยใช้เครื่องบินที่มีเทคโนโลยีการหว่านเมฆโดยหวังว่าจะทำให้เกิดฝนตก และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ในเขตเมือง แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาตรการเหล่านี้ยังน้อยไปและสายเกินไป นอกจากนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติได้อภิปรายร่างกฎหมายหลายฉบับ เพื่อรับมือกับมลพิษทางอากาศ แต่รัฐสภายังไม่ได้อนุมัติกฎหมายใดๆ เนื่องจากการต่อต้านจากภาคธุรกิจ ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของกฎหมาย

เดิมทีผู้ผลิตรถยนต์ถูกกำหนดให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษยูโร 5 ของยุโรปสำหรับรถยนต์ใหม่ของทางบริษัทในปี 2564 แต่เส้นเวลาถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือน ม.ค. 2567 ทั้งนี้ นิเคอิ เอเชีย ระบุว่า ความล่าช้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า คุณภาพอากาศไทยจะดีขึ้นประมาณเดือน เม.ย. เมื่อมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น และผู้แทนราษฎรจะลดความสนใจในการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวลง

นิเคอิ เอเชีย ชี้ว่า ความล่าช้าในการต่อสู้กับมลพิษทางอากาศ จะไม่เพียงทำให้สุขภาพของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ยังอาจเป็นอันตรายต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้พยายามส่งเสริมให้ฤดูแล้งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปีในการมาเยือนประเทศไทย

ทั้งนี้ นิเคอิ เอเชียระบุว่า เพื่อการแสวงหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากภาวะตกต่ำ สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประเทศไทยได้เปิดตัวกลยุทธ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวใหม่ ที่เน้นการพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวย และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่ความสำเร็จของนโยบายเหล่านี้ยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของประเทศไทย ซึ่งคือผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ จะพยายามหลีกเลี่ยงเมืองที่มีหมอกควันอย่างเลี่ยงไม่ได้


ที่มา:

https://asia.nikkei.com/Business/Travel-Leisure/Thailand-s-tourism-future-darkened-by-air-pollution?fbclid=IwAR1Mop0LQGzNJHYdaOQmLFhVrW2-RexUzDms7G_Wh6XKiXhHLPI_lIS9h1A