ไม่พบผลการค้นหา
พบผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพิ่มอีก 242 คน ยอดสะสมรวม 1,063 คน ส่วนใหญ่ 90% เป็นแรงงานข้ามชาติ ขณะผู้ว่าฯสมุทรสาคร ยืนยันไม่มีแรงงานข้ามชาติพังกำแพงหนี ด้าน สธ.เร่งปูพรมตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนแรงงานข้ามชาติในจ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครว่า ข้อมูลล่าสุด พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 242 คน จากเดิมมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 821 คน รวมขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมที่ติดเชื้อโควิดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครทั้งสิ้น 1,063 คน คิดเป็นยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 27.91%

ขณะที่การตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง โดยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยดำเนินการไปแล้วจำนวน 6,156 คน ทราบผลแล้ว 3,808 คน คิดเป็น 60% ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นแรงงานข้ามชาติ แต่จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในขณะนี้ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากแต่เดิมเคยตรวจพบเชื้อมากกว่า 40% แต่ปัจจุบันการตรวจพบเชื้อลดลงมาที่ 27.91%


ยันไม่มีแรงงานข้ามชาติพังกำแพงหนี

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงกรณีโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพช่องกำแพงขนาดใหญ่ พร้อมกับรั้วลวดหนาม โดยยืนยันว่า ไม่มีแรงงานเมียนมาพังกำแพงพื้นที่กักกันโควิดหลบหนี ตามที่มีการแชร์ภาพกันในสังคมออนไลน์ ซึ่งภาพกำแพงดังกล่าวเป็นกำแพงเก่าที่พังอยู่แล้ว ไม่ได้พังเพราะแรงงานต่างชาติ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีลวดหนามและมีตำรวจเฝ้าดูแลจุดดังกล่าวรวมทั้งมีเจ้าหน้าที่กระจายตัวดูแลรอบพื้นที่ควบคุมทั้งหมด หากมีการหลบหนีไปช่องทางอื่นๆจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลกับมาตรการควบคุมโรคของจังหวัด


ผบ.ตร.เผยมีแรงงานเมียนมา พยายามออกจากพื้นที่กักตัว

พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าหลังพบมีแรงงานเมียนมาบางส่วนมีความพยายามจะออกมาจากพื้นที่กักกัน จึงได้เสนอแนวคิดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ให้จัดผู้ประสานงานที่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวเมียนมา ที่ถูกกักตัวไว้บริเวณตลาดกลางกุ้ง และหอพักของแรงงานข้ามชาติ  เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการควบคุมโรค และลดความคับข้องใจ ที่อาจนำไปสู่การก่อความวุ่นวายในอนาคต ส่วนบริเวณรอบนอกพื้นที่กักตัว ก็มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติแล้ว   

ส่วนมาตรการคุมเข้มชายแดน ได้สั่งจัดชุดปฏิบัติการพิเศษจากส่วนกลาง ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลขบวนการลักลอบนำแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง หลังมีข้อมูลกล่าวอ้างว่า อาจมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่รู้เห็นกับเจ้าหน้าที่ลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย โดยยืนยัน จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด 

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังแสดงความห่วงใยตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง โดยสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาข้อมูล เพื่อทำประกันสุขภาพให้กับตำรวจที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นำร่องพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่เบื้องต้น ให้หน่วยแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ ลงพื้นที่ตรวจโรคตำรวจ ประมาณ 200 คนแล้ว ยังไม่พบติดเชื้อ แต่พบคนหนึ่งมีอาการป่วย จึงรับมาเฝ้าระวังอาการที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว


สธ.ปูพรมตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงในชุมชนสมุทรสาคร

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในทุกพื้นที่ที่คาดว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงอาจเกิดการแพร่ระบาด รวมทั้งเพิ่มการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง แรงงานต่างด้าวที่อยู่รวมกันในที่พักหรือโรงงาน ผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง หรือกลุ่มที่มีโอกาสพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น บุคลากรหรือพนักงานต้อนรับประจำรถสาธารณะ อาชีพเสี่ยงอื่น ๆ หรือกลุ่มที่มีแนวโน้มพบปะผู้ป่วยสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาดนัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟฟ้า ชุมชนแออัด เป็นต้น สำหรับที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้เร่งติดตามตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง

ตั้งเป้าให้ได้ 10,300 ราย ภายใน 2 สัปดาห์ โดยนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานจำนวน 6 คัน และระดมบุคลากรทางการแพทย์จาก 8 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 5 เร่งตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวพร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ เพื่อจำกัดตีวงในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง และจะตรวจค้นหาอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งชุมชนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ขยายขีดความสามารถห้องปฏิบัติการในทุกจังหวัดและกทม. ให้พร้อมตรวจได้ทั่วถึง โดยความร่วมมือของ ภาครัฐ เอกชน และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง มีความสามารถตรวจได้ 50,000 ตัวอย่าง/วัน รวมทั้งมีระบบการจับคู่ห้องปฏิบัติการกับโรงพยาบาลต้นสังกัด เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบออนไลน์กับกรมควบคุมโรคและโรงพยาบาลที่ส่งตรวจ ทำให้การรับส่งเชื้อรวดเร็ว รายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ช่วยให้การป้องกันควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นมา ได้ทำการตรวจปูพรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 200,000 ราย ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR เพื่อให้การวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว สามารถควบคุมโรค จำกัดวงการแพร่ระบาดได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ในระบบเฝ้าระวังในปัจจุบัน หากมีอาการสงสัยป่วยโรคโควิด 19 ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส ร่วมกับมีประวัติเสี่ยง สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่โรงพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ ให้ สปสช. ผ่านกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการตรวจโควิด 19 ให้กับโรงพยาบาล โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน เพื่อสนับสนุนการตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงยาก และเพื่อให้บุคคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติงาน ประชาชนสามารถโทรสอบถามการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร 1330


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :