ไม่พบผลการค้นหา
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันไม่มีการบังคับให้ ส.ส.ลงชื่อหรือปลอมลายเซ็น 4 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มั่นใจทันบรรจุวาระการประชุม 23-24 ก.ย.นี้

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2564 ในวันที่ 16-18 ก.ย.นี้ ว่าผู้ที่ขอแปรญัตติและขอสงวนคำแปรญัตติไว้จะได้สิทธิอภิปรายก่อน ส่วนเนื้อหาที่มีการแก้ไขสมาชิกทั่วไปมีสิทธิอภิปรายได้ ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ทำให้กำหนดกรอบและเวลาอภิปรายยาก

ส่วนประเด็นที่ฝ่านค้านจะอภิปรายนั้น มีประเด็นการปรับแก้ที่ยังไม่สอดคล้องปัญหาประเทศกับที่มีการอภิปรายให้ข้อสังเกตไว้ เช่น กระทรวงกลาโหม แม้จะมีการถอยเรือดำน้ำออกแต่งบประมาณส่วนอื่นยังเกินความจำเป็น รวมถึงงบในส่วนกระทรวงคมนาคมที่ได้อภิปรายท้วงติงไว้วาระแรก แต่การปรับลดยังน้อย  

นอกจากนี้ ยังจะอภิปรายเรื่องงบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ย้ำว่าหนักใจเรื่องงบประมาณการรายรับ ที่คาดการณ์ไว้ที่จำนวน 2.7 แสนล้าน แต่ประเมินแล้วอาจไม่ได้ตามเป้ารัฐบาลจะทำอย่างไร เพราะปี 2563 ก็มีการกู้เงินมาแล้ว ส่วนทิศทางการโหวตฝ่ายค้านจะดูการอภิปรายก่อน จากนั้นวันสุดท้ายจะหารือกันอีกครั้ง ว่าจะงดออกเสียง หรือจะเห็นชอบหรือไม่ 

ส่วนสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยนักเรียน นักศึกษาและประชาชน สุทินกล่าวว่า ในพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้มีการหารือ เพียงแต่ติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง เชื่อว่าผู้ชุมนุมยังเดินตามกรอบกฎหมายอยู่ และวันที่ 19 ก.ย.จะมีอนุกรรมาธิการการปกครองของสภาผู้แทนราษฎร ดูแลผู้ชุมนุมให้เป็นไปตามกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานโดยไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และประเมินว่าการชุมนุมมีการตื่นตัวทั้งผู้ชุมนุมและตำรวจ  

ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมจะมาแสดงพลังเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หน้ารัฐสภาวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ซึ่งไม่ผิดความคาดหมาย แต่คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะส่งผลใดต่อการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ยันไม่มีบังคับให้ ส.ส.ลงชื่อหรือปลอมลายเซ็น ญัตติแก้ รธน.

ขณะที่ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 จำนวน 4 ญัตติขอพรรคฝ่ายค้าน สุทิน ยืนยันไม่มีการบังคับให้ ส.ส.ลงชื่อหรือปลอมลายเซ็น และการตรวจสอบลายมือชื่อเป็นปกติตามกระบวนการของสภาฯ ไม่มีจุดพิรุธอะไร ซึ่งคนลงชื่อต่างระมัดระวังอยู่แล้ว และเชื่อว่าจะทันสู่การบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมวันที่ 23-24 ก.ย. นี้ และหากจะมีปัญหาเรื่องญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อาจมีในบางญัตติ ซึ่งญัตติที่มีปัญหาอาจเข้าวาระประชุมช้า แต่ที่ไม่มีปัญหาก็เดินหน้าพิจารณาไป เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการพิจารณาทต้องดูว่าวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ จะได้พิจารณากี่ญัตติ แต่กังวลว่าเวลาอาจไม่พอในการพิจารณา  

สุทิน ย้ำว่าเรื่องการแก้ไขทุกญัตติเป็นข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมและผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญคณะศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มาแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ซึ่งแตะหมวดวุฒิสภา โดยไม่เชื่อว่าการยื่นแก้ไขนั้นมีเจตนาล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :