ไม่พบผลการค้นหา
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฯ ปี 65 ถูกโฟกัสไปที่งบกลาง เพราะเป็นงบฯ ที่ตั้งไว้สูงที่สุดกว่า 5.71 แสนล้านบาท แต่กลับไม่มีงบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่งบฯปี 64 เคยตั้งไว้ ประเด็นดังกล่าวฝ่ายค้านมองว่าเป็นการเลี่ยงตรวจสอบเพื่อนำไปซุกไว้ใน พ.ร.ก.กู้เงิน

งบกลาง ปี 2565 วงเงิน 571,047 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.4 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นการจัดสรรงบฯให้กับงบกลางมากที่สุด เหนือกว่ากระทรวงและหน่วยงานอื่น 

สำหรับงบกลางในปี 2565 ถูกปรับลดลงจากปี 2564 จำนวน 43,568 ล้านบาท

หากเข้าไปดูการจำแนกรายละเอียดเม็ดเงินของงบกลาง ในปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 5.71 แสนล้านบาท จะพบว่ามีงบประมาณที่จัดสรรให้งบกลางจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ดังนี้

1.เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 310,600 ล้านบาท

2.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 89,000 ล้านบาท

3.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ข้าราการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท

4.เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท

5.เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547.3 ล้านบาท

6.ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท

7.เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท

8.ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่้องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท

9.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท

10.เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท

11.เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท

หากดูงบกลางในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระบทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 40,325.6 ล้านบาท ในขณะที่งบกลางของงบประมาณฯ ปี 2565 ไม่ได้ตั้งงบในการแก้ปัญหาโควิด-19 ไว้

การตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลางนั้น เน้นถึงค่าใช้จ่ายที่ทราบวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานแต่ไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้าเกี่ยวกับหน่วยรับงบประมาณที่จะรับผิดชอบในการดำเนินงานหรือใช้จ่ายงบประมาณ แต่ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนของแต่ละหน่วยรับงบประมาณได้

ประกอบด้วย 1.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ จำนวน 800 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการสนับสนุนพระราชกรณียกกิจ ในการเสด็จพระราชดำเนินภายในประเทศ และหรือต่างประเทศ และการต้อนรับประมุขต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทยในระหว่างปี ซึ่งเป็นภารกิจที่มิอาจทราบรายละเอียดล่วงหน้าและไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้

2.ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอนขึ้นอยุ่กับการเกิดภัยประเภทของภัย ความรุนแรงและระยะเวลาที่เกิดภัยนั้นๆ ทำให้ไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่แน่นอนของแต่ละส่วนราชการได้

3.ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท โดยระบุถึงเหตุการตั้งงบฯไว้ว่า แต่ละปีโครงการที่เริ่มดำเนินงานและเกี่ยวขอ้งกับภารกิจของส่วนราชการต่างๆ หลายส่วนราชการ และเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินงานหลังจากวันที่เริ่มต้นปีงบประมาณแล้ว จึงไม่สามารถเสนอตั้งงบประมาณไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของส่วนราชการได้

4.เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างที่ดำเนินงานให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในขณะตั้งงบประมาณ ไม่สามารถคาดการณ์ความผันผวนของปัจจัยที่จะนำมาคำนวณเป็นการล่วงหน้าได้

5.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้น และใช้จ่ายตามสภาพเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายและไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ และไม่อาจจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบได้โดยตรง

ประเด็นที่ถูกโฟกัสในงบประมาณปี 2565 ที่ไม่ได้มีการแสดงรายละเอียดงบฯในส่วนแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 

สมคิด วิปฝ่ายค้าน เพื่อไทย ddw201111.jpg

ด้าน 'สมคิด เชื้อคง' ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายค้านมองว่าการที่รัฐบาลไม่ตั้งบประมาณการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ไว้ในงบกลาง ปี 2565 เข้าใจว่ารัฐบาลจะนำไปใส่ในรายละเอียดของตัว พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่กำลังจะเข้ารัฐสภาในเร็วๆนี้ 

"การใส่ไว้ใน พ.ร.ก. ทางรัฐบาลมองว่าจะจัดการได้ง่ายกว่า แต่การตรวจสอบนั้นจะยากกว่า หากนำงบฯ แก้ไขปัญหาโควิดไว้ในงบกลางก็จะทำให้ถูกตรวจสอบได้ เพราะอยู่ในระบบ"

'สมคิด' มองว่างบประมาณที่ตั้งไว้ในงบกลางปี 2565 ที่ควรจะต้องจับตาคืองบประมาณ 89,000 ล้านบาท ที่เป็น เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ส่วนงบกลางในส่วนอื่นๆ นั้นจะเป็นงบฯที่มีเจ้าของหมด คือตั้งไว้อยู่แล้วเป็นประจำทุกปี"

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2565 ไม่ควรรับหลักการ เพราะการจัดทำงบฯ นั้นมีความไม่ถูกต้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง