ไม่พบผลการค้นหา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลา 1.30 ชม. นำเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อสภาผู้แทนราษฎร วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล ขณะที่หนี้สาธารณะคงค้างรวม 8.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.3% อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ 60% พร้อมตั้งงบกลางกรณีฉุกเฉิน 89,500 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ที่อาคารรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีหลักการและเหตุผลโดยตั้งงบประมาณรายจ่ายไม่เกิน 3.1 ล้านล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานรับงบประมาณจำนวน 3,074,424,773,300 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596,666,700 บาท เพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายจำนวน 24,978,560,000 บาท โดยเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  

เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง และนโยบายของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

ความผันผวนของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจทั่วไปเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 - 3.5 โดยมีปัจจัยจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลัง ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2564 

ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ท่ามกลางตลาดแรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของ เศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 


เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี
 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 - 5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศ ที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ร้อยละ 0.7 - 1.7 

ด้านนโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่าย รัฐบาลประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวม 2,511,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.26 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 111,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,400,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ


 หนี้สาธารณะคงค้างกว่า 8,000 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ จึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,400,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,100,000 ล้านบาท

ขณะที่ฐานะการคลังหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มี 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 8,068,913.7 ล้านบาทปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีทั้งสิ้น 372,784.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด


 ผลกระทบระลอกใหม่

ด้านฐานะและนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรก 

อนุทิน ประยุทธ์ ร่วมรัฐบาล

และได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้และความสามารถ ในการชำระหนี้ลดลงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ที่ร้อยละ 0.5 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลาย สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการช่วยดูแลภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้และเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ


รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน      

ทั้งนี้ นโยบายการจัดทำงบประมาณมีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของเศรษฐกิจฐานรากในประเทศ พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศ ปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานและยกระดับขีดความสามารถประเทศ 

เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนและกระจายการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้หน่วยรับงบประมาณต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณของประเทศเกิดประโยชน์สูงสุด มีความคุ้มค่าในการ ใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ


แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่สำคัญ ดังนี้ 1.ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด 19 พ.ศ. 2564-2565 ให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2.ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

3.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก ควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณมาประกอบการพิจารณา ให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ 4.เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง


วงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท

สำหรับสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่าย 2,360,543.0 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 76.1 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาทเป็นร้อยละ 0.02 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.8 รายจ่ายลงทุน 624,399.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.1 

รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.2 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,518.2 ล้านบาท และเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประมาณการการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 185,962.5 ล้านบาท 


ทุ่มเทโปร่งใสไร้โกง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับรายจ่ายลงทุนที่ต้องดำเนินการ รัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่จะดำเนินการในปี 2565 

เร่งรัดการลงทุนของหน่วยงาน ตามแผนการใช้จ่ายจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย การลงทุนโดยใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความ สำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนด้านสาธารณสุข การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการ ภายใต้ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่


ฝ่ายค้าน ยำผู้นำไร้วิสัยทัศน์
สมพงษ์ สภา งบประมาณ 6D78D9CA-F398-4F1F-BDBF-673FCB4F17FD.jpeg


ด้านสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พุทธศักราช 2565 ซึ่งถือได้ว่า เป็นงบประมาณที่มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง ต่อชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ ที้จะฝ่าช่วงเวลาวิกฤตของประเทศ และพาประชาชนอยู่รอดได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่างงบประมาณฉบับนี้ แต่สิ่งที่เห็นอันเป็นข้อมูลที่ประจักษ์ชัด กลับตรงกันข้าม "เหมือนอยู่กันคนละโลก กับประชาชนเจ้าของประเทศ " วันนี้ ประชาชนกำลังลำบากอย่างแสนสาหัส แต่รัฐบาลกลับวางแผนจัดงบประมาณปี 2565 ราวกับประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติดี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น


ไม่อาจจะยอมรับร่างงบประมาณ 2565
สภา งบประมาณ 77419CE3-FF9B-43F2-BD03-9E1022119978.jpeg

สำหรับร่างงบประมาณ 2565 ที่รัฐบาลนำเสนอมาให้รัฐสภาพิจารณานั้น มีเรื่องที่ไม่อาจจะยอมรับให้ผ่านได้ใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1.ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ไม่ตรงเป้า ไม่บรรเทาความเดือดร้อน ไม่ลดความรุนแรงของปัญหา นั่นคือวันนี้ยังจัดงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากที่สุด และที่สำคัญเป็นวงเงินงบประมาณ ที่มากกว่าของกระทรวงสาธารณสุข ถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

วันนี้ไทยกำลังทำสงครามอยู่กับใคร หรือที่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ขณะนี้ ไทยกำลังทำสงครามกับโรคระบาดที่น่ากลัวที่สุด ซึ่งน่าแปลกใจที่พบว่า งบกระทรวงสาธารณสุข ถูกปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี อาจกล่าวได้ว่า ในห้วงเวลาที่ประเทศมีความจำเป็นสูงสุดด้านสาธารณสุข แต่กระทรวงสาธารณสุข กลับไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณอย่างเต็มที่ 

2.ไม่คำนึงถึงปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน ไม่แยแสทุกข์ของประชาชน ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตางบประมาณของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงแรงงาน กลับถูกตัดลดลงไปอย่างมาก 


3. ที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ขาดการคิดวางแผนงบประมาณในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมตัวให้ประเทศออกจากวิกฤต

โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจ SME นั้น กลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร รวมถึงการสนับสนุนการฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กระทบกระเทือน เพราะภาวะการระบาดของโควิด ด้วย 


4.สะท้อนถึงความอ่อนด้อย ในด้านการบริหารจัดการแบบมืออาชีพไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะก้าวพ้นวิกฤตในอนาคตได้ไม่รู้จักวิธีหาเงินเข้าประเทศ รู้จักแต่วิธีการกู้เพื่อนำมาใช้แบบไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ก่อให้เกิดการหมุนของวงรอบทางเศรษฐกิจ 


อย่างไรก็ตาม แผนงบประมาณของประเทศ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างไร้ยุทธศาสตร์ ในสภาวการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตอย่างรุนแรงเช่นนี้" ตนไม่อาจยอมรับ” ให้ผ่านสภาแห่งนี้ได้ ด้วยการบริหารจัดการโดยรัฐบาลที่ไร้ศักยภาพที่นำโดย “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา…นายกรัฐมนตรี” คนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเสียสละตนเอง คืนความสุขกลับมาให้ประชาชน ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

‘ประเสริฐ’ อัด ประยุทธ์ 7 ปี ผลาญงบฯ 20 ล้านล้าน บี้ลาออก

เวลา 11.50 น. วันที่ 31 พ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ว่า ยุทธศาสตร์งบประมาณไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดย 6 ยุทธศาสตร์งบประมาณไม่มีเรื่องของโรคโควิด-19 เลย ทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำเหมือนประเทศไม่ได้อยู่ในสภาวะผิดปกติ การจัดสรรงบประมาณปี 2565 ไปถึงคนเพียงบางกลุ่ม เช่นเดียวกับที่ผ่านมา ทำให้ SME ล้มหายตายจากไปมาก คนตกงานจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจดิ่งเหว ตลอดปี 7 มานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้งบประมาณปีกว่า 20.8 ล้านล้านบาท กำลังจะใช้อีก 3.1 ล้านล้านบาท แต่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถือว่าใช้เงินแล้วไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือสูงตามมาด้วย

ประเสริฐ กล่าวว่า งบประมาณปี 2565 มีการตัดงบประมาณที่สำคัญลงหลายจุด เช่น กระทรวงสาธารณสุขลดลง 4.3 พันล้านบาท หรือ 2.74 เปอร์เซ็นต์ ลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี หน่วยงานความมั่นคงด้านวัคซีน ได้งบเพียง 22 ล้านบาท ถูกตัดงบลงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์จากปี 2564

ประเสริฐ กล่าวว่า ในขณะที่หลายกระทรวงถูกตัดงบประมาณ กระทรวงกลาโหม กลับมีงบประมาณสูงเป็นอันดับ 4 ของกระทรวงทั้งหมด ส่วนใหญ่หมดไปกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ 

“ในสถานการณ์แบบนี้ ผมไม่คิดว่านายกฯจะกล้าเสนองบประมาณซื้อเรือดำน้ำ ท่านไม่แคร์ประชาชนเลยหรือ”

ประเสริฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่เคยบอกเลยว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างใด ขอเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก พล.อ.ประยุทธ์ รวบอำนาจในการบริหารไว้เพียงคนเดียว ปรับเปลี่ยนนโยบายสลับไปสลับมา ทำให้ประชาชนสับสน เอาผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประชาชน 

ประเสริฐ กล่าวว่า ผลกระทบของโควิด ส่งผลให้ท้องถิ่นมีรายได้ลดลง โดยแทนที่รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มให้ แต่กลับตัดงบประมาณของท้องถิ่นลง สิ่งที่เกิดวันนี้คือวิกฤตศรัทธาต่อนายกรัฐมนตรี ประชาชนไม่เชื่อมั่น ประชาชนไม่รู้ว่าหากปล่อยให้บริหารงบ 3.1 ล้านล้าน ต่อไป จะบริหารจัดการได้หรือไม่ ท่านอยู่มาแล้ว 7 ปี เพิ่งจะประกาศให้การทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่มีแผน ขั้นตอนว่ามีแนวทางการปราบปรามการทุจริตได้อย่างไร ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงไม่สามารถรับหลักการของร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ได้