ไม่พบผลการค้นหา
พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี นิติศาสตร์ มธ. ระบุ กรณี กอ.รมน. ฟ้อง 7 พรรคฝ่ายค้าน - ดร.ชลิตา กรณีจัดงานเสวนาแก้รัฐธรรมนูญ ที่ปัตตานี ละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้วยการใช้ ม.116 ปิดปากไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นใด ในเรื่องแก้ รธน.

จากกรณี พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับแกนนำพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการ จำนวน 12 คน ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันยุยงปลุกปั่น ด้วยวาจา ในเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเป็นการยุยงปลุกปั่นที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการจัดเสวนา "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี

รวมทั้งกรณีที่ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ เสนอแก้ไขมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าราชอาณาจักรไทยจะแบ่งแยกมิได้ด้วย

6 ต.ค. 2562 นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "Clear and Present Danger? (ภัยพิบัติชัดแจ้ง อันอาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ?) การเสวนาที่ปัตตานีของ 7 พรรคฝ่ายค้านมีอันตรายที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วหรือไม่? ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

การกระทำของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน 7 พรรคในการร่วมเสวนากับประชาชนที่ปัตตานี เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2560 และให้รัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ไม่เข้าลักษณะเป็นความผิด ตามป.อาญา มาตรา 116 เพราะ

1. การเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขตามครรลองที่ รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ (มาตรา 256) จึงเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่มีการใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย กรณีไม่เข้าข่าย มาตรา 116(1)

2. กรณีไม่เข้าข่าย มาตรา 116 (2)-(3) เพราะการพูดอภิปรายในวงเสวนาเป็น "การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต" เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 รับรองไว้ มิได้มีลักษณะเป็นการ "ปลุกปั่นยุยง" หรือ "ปลุกระดม" ที่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ที่ "ถึงขนาด" ที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินแต่อย่างใด

คำว่า "ถึงขนาด" แสดงว่าการกระทำอันจะถือได้ว่าเป็นการปลุกปั่นยุยงซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตาม มาตรา 116 นี้ จะต้องมีผลทำให้ประชาชนจำนวนมากลุกฮือขึ้นก่อการจลาจลหรือความไม่สงบในระยะเวลาที่ไม่ห่างจากที่มีการปลุกปั่นยุยงหรือปลุกระดมเช่นนั้นกับประชาชน แต่การพูดถกแถลงในวงเสวนาครั้งนี้ไม่ปรากฎว่ามีการสร้างความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่องที่ถึงขนาดเป็นการก่อความไม่สงบขึ้นในบริเวณที่มีการเสวนาแต่อย่างใด โดยมิพักต้องพิจารณาว่าถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องมีประชาชนจำนวนมากเข้าเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

ความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 116 นี้ ตามกฎหมายต่างประเทศเรียกว่า "Sedition" หรือ "Seditious Libel" ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญว่าการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ จะต้องปรากฏว่า อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการปลุกปั่นยุยงหรือปลุกระดม (ได้แก่ ความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่อง การล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และการก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร)นั้น เป็นอันตรายที่ชัดเจน และเป็นปัจจุบันปรากฏขึ้นแล้วหรือใกล้จะถึงหรือไม่ (clear and present/imminent danger)"

นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการแจ้วข้อกล่าวหากับ ดร.ชลิตา นายพนัส กล่าวว่า "การบังคับใช้ ป.อาญา มาตรา 116 (ความผิดฐานปลุกปั่นยุยง) ต้องไม่เป็นการทำลายล้างสาระสำคัญของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34

การกล่าวโดย ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ว่า แม้แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 (ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่แบ่งแยกไม่ได้) ก็ควรพิจารณาแก้ไขได้ หากเป็นสาเหตุที่ทำให้แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ได้ ไม่เข้าช่ายเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 116(1) เพราะตราบใดที่ยังมิได้มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอันเป็นผลโดยตรงจากการกล่าวเช่นนั้น และใน การกล่าวเช่นนั้น มิได้มีการใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นให้ยอมกระทำตามที่กล่าวแต่อย่างใด กรณีย่อมไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามองค์ประกอบที่กำหนดไว้ในมาตรา 116 (1) นั้น

การที่ กอ.รมน. ร้องทุกข์กล่าวโทษ ดร.ชลิตา ว่า กระทำความผิดตามป.อาญา มาตรา 116 จึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของ ดร.ชลิตา ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเธอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 เพราะเป็นการมุ่งทำลายสาระสำตัญของการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว ด้วยการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 116 ปิดปากไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นใดๆ ในเรื่องดังกล่าวโดยสิ้นเชิง"