ไม่พบผลการค้นหา
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดจีดีพีไทยปีหน้าโตร้อยละ 3 ปีนี้โตร้อยละ 2.9 แนะรัฐบาลไทยใช้มาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย พร้อมปลุกการลงทุนเอกชน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ฝ่าภาวะเศรษฐกิจโลกเดินหน้าถดถอย

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงไม่มีท่าทีจะสดใสในอนาคตอันใกล้ ซึ่งประเทศไทยก็ไม่พ้นกับชะตากรรมที่ไม่น่าอภิรมย์นี้เช่นเดียวกัน 

รายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ชิ้นล่าสุด ภายใต้ชื่อ "ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยืดยาว : ความท้าทายและโอกาส" สะท้อนแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของเอเชีย ที่มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2562 และ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2563 และนับเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีวิกฤตการเงินในปี 2551

'โจนาธาน ออสทรี' รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิค กองทุนการเงินระหว่่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เมื่อลงไปดูในประเทศและเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย จีดีพีของทั้งจีนและญี่ปุ่นมีการปรับลดลงอย่างชัดเจน

IMF Economic Roundtable
  • 'โจนาธาน ออสทรี' รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิค ไอเอ็มเอฟ

ตามการประเมินของไอเอ็มเอฟ ชี้ว่าจีดีพีของจีนในปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 และปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 ขณะที่ จีดีพีของญี่ปุ่น อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ในปี 2562 และ ร้อยละ 0.5 ในปี 2563

ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนยังพอมีหวังปรับขึ้นจากจีดีพีปีนี้ ที่คาดว่าจะปิดสิ้นปีจะอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และขึ้นไปเป็นร้อยละ 4.8 ในปีหน้า

สำหรับประเทศไทย ไอเอ็มเอฟ วิเคราะห์ว่าจีดีพีจะขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 ในปีหน้า ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากปีนี้ที่คาดว่าเติบโตที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่อ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ยังรอดได้ด้วย 'หลายมาตรการ'

แม้สถานการณ์ทั่วโลกโดยเฉพาะปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เบร็กซิต รวมถึงความเสี่ยงในการยกระดับความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จะส่งผลต่อนักลงทุนทั่วโลก และสะท้อนออกมาในการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

IMF Economic Roundtable

สำหรับประเทศไทย 'โจนาธาน' กล่าวว่า รัฐบาลยังสามารถผ่อนให้สถานการณ์รอบตัวเบาลงได้ด้วยการใช้เครื่องมือที่มีอยู่ โดยนโยบายการเงินและการคลังของไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ 'โจนาธาน' หยิบขึ้นมานำเสนอ

พร้อมกับชี้ว่ารัฐบาลยังมีที่ว่างพอให้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน ซึ่งอาจทำได้ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันก็ให้เร่งใช้นโยบายการคลัง ไปในส่วนของโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน

นอกจากนี้ 'โจนาธาน' ยังสะท้อนว่า ที่ผ่านมาไทยมีการเจรจาความร่วมมือด้านการค้า บริการ รวมถึงการลงทุนที่มีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการ ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินให้เพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักได้เลย 

อย่างไรก็ตาม การเจรจาที่ผ่านมากลับไม่สามารถดำเนินไปถึงจุดที่จะตกลงกันได้สักโครงการ จึงต้องการให้รัฐบาลไทยกลับมาเดินหน้าขับเคลื่อนการเจรจาต่างๆ ที่ค้างอยู่ อาทิ การเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป หรือ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)

แม้ไทยจะมีโอกาสรักษาไม่ให้ตัวเองเจ็บมากนักจากผลกระทบของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก แต่ปัจจัยเสี่ยงทั้งการยกระดับของสงครามการค้าและความไม่แน่นอนในการเดินหน้าเจรจาของสองประเทศมหาอำนาจ (สหรัฐฯ-จีน) รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มการเงินโลกที่จะฝืดเคืองขึ้น ก็จะไม่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :