ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารโลกเปิดรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ปรับลดจีดีพีไทยปี 2562 เหลือโตเพียง ร้อยละ 2.7 จากเดิมร้อยละ 3.5 ส่งออกติดลบหนักร้อยละ 5.3 มองความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสุด

นายแอนดรู เมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เปิดเผย รายงาน East Asia and Pacific Economic Update ฉบับเดือน ต.ค. 2562 ภายใต้ชื่อ Weathering Growing Risks พบว่า ธนาคารโลกได้มีการปรับลดประมาณการ เศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 3.5 ด้วยปัจจัยการส่งออกที่หดตัวในครึ่งแรกของปีที่สูงกว่าที่คาดการณ์

อีกทัั้ง ยังคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าและบริการปีนี้จะติดลบสูงถึงร้อยละ 5.3 รวมถึงในปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ และการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือน ส.ค. 2562 ที่มุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การขยายเวลาชำระหนี้ การคืนภาษีท่องเที่ยว ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สถานการณ์ความเสี่ยงของประเทศไทย มีแนวโน้มว่าจะไปในทิศทางที่ไม่ดี โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสูงสุด ประกอบกับความล่าช้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว และแม้ว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังมีความเสี่ยงว่าอาจเกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ความตึงเครียดทางการที่ค้าทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยอ่อนแอลงไปอีก และบั่นทอนการลงทุนภาคเอกชนด้วย

"อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ชะลอตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2557 การส่งออกหดตัว ยังรุนแรงติดต่อกันไตรมาสที่สองเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาค ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลง แม้รัฐบาลจะประกาศนโยบายการคลัง แต่ปัจจัยเสี่ยงยังมีแนวโน้มทิศทางขาลง" นายแอนดรู กล่าว


เกียรติพงศ์ ธนาคารโลก
  • เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก

หนุนใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 ถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาของภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและในประเทศ ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลถือว่าออกมาได้ทันเวลา

อย่างไรก็ตาม มองมาตรการทางการคลังของรัฐบาลควรออกมาได้อีก เพื่อเพิ่มโอกาสให้ถึงมือของคนที่ต้องการ โดยมองว่านโยบายการคลังยังมีโอกาสขยายได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งนโยบายการคลังเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค และระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)