ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด' ปลุกจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ชี้บทบาทมหาวิทยาลัย ผลิตบุคลากรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ปัดตอบสื่อความเคลื่อนไหว 'สร้างอนาคตไทย'

เวลา 11.30 น. วันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 88 ในหัวข้อ "88 ปี ธรรมศาสตร์ กับสังคมไทย" และได้รับมอบเข็มเกียรติยศจากสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประจำปี 2565 

สมคิด กล่าวว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีอายุครบ 69 ปี ช่วงเวลาชีวิตส่วนใหญ่หมดไปกับหน้าที่การงาน 15 ปีที่มีชีวิตเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย กว่า 20 ปีอยู่บนเส้นทางการเมือง และกว่า 10 ปี ที่อยู่ในตำแหน่งรัฐบาล เป็นช่วงเวลาที่ถือว่ายาวนานพอสมควร 

เคยมีคนถามว่า ทำไมถึงเลือกเดินทางเส้นนี้ ทั้งที่ไม่เคยแสดงออกเลยว่า ชอบเส้นทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงมหาวิทยาลัย ตนก็ตอบเขาไปว่า จริงๆ แล้ว ไม่ได้เลือกเดิน แต่มันมีบางสิ่งบางอย่างชี้นำ และผลักดันให้ชีวิตเดินบนเส้นทางนี้ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ ประสบการณ์ 4 ปีจากรั้วธรรมศาสตร์ 

สมคิด กล่าวว่า ตนเข้ามาเรียนในช่วงปี 2516 ถึงปี 2519 ในช่วงเวลานั้นถือเป็นช่วงตื่นตัวสูงสูดของมหาวิทยาลัย ทุกวันที่เดินเข้ามาในรั้วมหาลัยจะได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ทุกๆ วัน บ้างก็เป็นข่าวกำแพงติดที่ติดอยู่บริเวณประตูท่าพระจันทร์ บ้างก็เป็นใบปลิวที่นักศึกษา และคณาจารย์ยืนแจก กิจกรรมทางการเมือง มีให้เห็นตลอด ไม่ว่างานสัมนา หรือภิปราย จะมีคณาจารย์ นักศึกษา และผู้แทนภาคประชาชน มาร่วมอยู่ตลอด บางครั้งอาจจะมีโอาสให้เห็น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานที่เดินเข้าออกในมหาวิทยาลัยเพื่อปรึกษาปัญหากับนักศึกษา 

สมคิด กล่าวว่า ชีวิตการออกค่ายไปสู่ชนบท เพื่อเรียนรู้ปัญหาบ้านเมืองที่แท้จริงของชนบทนั้น เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตนักศึกษาในขณะนั้น ปกหนังสือทุกเล่มที่นักศึกษาถือมักจะมีคำว่า 'ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน' 

สมคิด เสริมว่า สิ่งเหล่านี้เป็นบรรยากาศ 4 ปีเต็มในรั้วธรรมศาสตร์ ฉะนั้นไม่ว่าจะโดยตรง หรือ โดยอ้อม สิ่งเหล่านี้มันปลูกฝังอะไรบางอย่าง ทำให้นักศึกษาในสมัยนั้นตื่นตัว สนใจในปัญหาบ้านเมือง มีทัศนคติ มีแรงบันดาลใจ จิตสำนึกร่วมที่จะทำประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย และบ้านเมือง แล้วยิ่งในยุคปี 2516 ถึง 2519 มีการร่วมแสดงออกเพื่อต่อสู้ประชาธิปไตย มันยิ่งทำให้จิตสำนึกร่วมนั้น มั่นคงยิ่งขึ้น และเชื่อว่า มันมีอิทธิพลที่โน้มนำความคิดชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตของคนธรรมศาสตร์ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในบทบาทที่แตกต่าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ จิตสำนึกที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

"สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นำทางนักศึกษาสมัยนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ความสำนึกในผลประโยชน์บ้านเมืองมีอยู่พร้อม สิ่งเหล่านั้นเรียกว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์" สมคิด กล่าว 


จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เบ้าหลอมที่สุกงอมเพื่อปลุกไฟแห่งประชาธิปไตย 

สมคิด กล่าวว่า 88 ปีเต็มที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาถึงขนาดนี้ บางช่วงเวลา เงื่อนไขเบ้าหลอมในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นสุกงอมสมบูรณ์ จนถึงขั้นผลิตบุคลากรออกไปขับเคลื่อน เพื่อสร้างสังคมสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่ในบางช่วง เงื่อนไขเบ้าหลอมเหล่านั้นเจือจางเบาบางลงไป เพราะติดขัดเรื่องข้อจำกัดทางสังคมการเมือง 

สมคิด กล่าวว่า มีศิษย์เก่างบางท่านกล่าวว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ หายไปแล้วหรืออย่างไร แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่ได้หายไปไหน และมันพร้อมจะกลับมาลุกโชนทำประโยชน์ให้บ้านเมืองเหมือนในอดีตได้ทุกเมื่อ เพราะคิดว่า คำว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ คือความมุ่งมั่นของคนธรรมศาสตร์ในแต่ละยุค และเงื่อนไขเบ้าหลอมนี้ ไม่ได้หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ สามารถนำเอาองค์ประกอบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละยุค มาเป็นเบ้าหลอมผลิตบางสิ่งออกมา 

สมคิด เสริมว่า เมื่อใดก็ตามที่นักศึกษาได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ให้มีความสนใจในมิติปัญหาบ้านเมือง ได้มีโอกาสแสดงออกในสังคมธรรมศาสตร์ และสังคมข้างนอกพร้อมรับฟัง แต่ต้องให้ความนับถือเขา และคอยชี้นำเขาว่า อะไรดี อะไรไม่ดี เชื่อว่าด้วยเงื่อนไขเบ้าหลอมที่มีที่เขาต้องการ บวกกับโอกาสที่เขาได้แสดงออกจะทำให้ความกระตือรือร้นในการสนใจปัญหาบ้านเมืองมันกลับมาได้ทุกเมื่อ


เผยคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการประชาธิปไตย 4 วินาที 

สมคิด กล่าวว่า จากวันที่มีการสถาปนามหาวิทยาลัย ด้วยบริบททางการเมืองขณะนั้นเป็นบริบทแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันนี้ ตนคิดว่า ชาวธรรมศาสตร์คงจินตนาการไม่ถึงว่า ประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมา มันสามารถมีเวอร์ชันแปลกๆ ขึ้นมา ประชาธิปไตยที่มีเวอร์ชันจากกล้วยเป็นหวีอย่างไม่อายฟ้าดิน เรียกว่า ประชาธิปไตยเงินสด 

สมคิด กล่าวว่า คนรุ่นใหม่คงจินตนาการไม่ถึงว่า การมีประชาธิปไตยแล้วจะทำให้ คนเพียง 1% ของประเทศ มีทรัพย์สินมากกว่าคน 60% ของประเทศ คงจินตนาการไม่ออกว่า ประชาธิปไตยที่ได้รับมานั้น ถูกออกแบบเกิดความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ประชาธิปไตยแบบนี้คือสิ่งที่เราต่อสู้กันมาหรือเปล่า 

สมคิด กล่าวว่า คนรุ่นใหม่หันหลังให้กับปัญหาบ้านเมือง เพราะไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบที่เขาต้องการ คนรุ่นใหม่ต้องการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง ประชาธิปไตยของปวงชนไม่ใช่ของคนบางกลุ่ม บางครอบครัว ไม่กี่ตระกูล 

สมคิด อธิบายว่า คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการประชาธิปไตย 4 วินาที คือ ประชาธิปไตยที่หลังจากใช้เวลาหน่อยบัตร 4 วินาที และไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น ลักษณะแบบนี้ทำให้นักศึกษาไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม ความกระตือรือร้นในปัญหาบ้านเมืองจะหายไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราให้โอกาา เปิดใจกว้างรับเขา อนาคตเป็นของพวกเขาไม่ใช่ของพวกเรา ถ้าไม่ฟังความเห็นเขาเราจะฟังความเห็นใคร 

"สิ่งต่างๆ อันเป็นเบ้าหลอม และการสร้างจิตวิญญาณมันเปลี่ยนแปลงได้ หากกระตุ้นให้เด็กที่เข้ามาในแต่ละปีมีความกระตือรือร้นในปัญหาบ้านเมืองได้ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ไม่ได้หายไปไหน" สมคิด กล่าว 


ปัญหาที่สังคมเผชิญ แค่ประชาธิปไตยไม่เพียงพอ 

"การต่อสู้เพียงเพื่อได้ประชาธิปไตยนั้นเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่ไม่เพียงพอ เพราะปัญหาที่เราเผชิญนั้นมันรุนแรงในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมในเชิงเศรษฐกิจโลก สิ่งแวดล้อม การเน้นเฉพาะการเมืองอย่างเดียว ไม่ได้สร้างอนาคตไปมากเท่าไหร่" สมคิด กล่าว 

สมคิด กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจในสังคมไทยว่า จากผลการจัดอันดับ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ความสามารถในการแข่งขันประเทศไทยตกหล่นมา 13 จุด ขณะที่ประสิทธิภาพรัฐบาลนั้นตกลงมา 11 จุด และภาคเอกชนก็ไม่เว้น ซึ่งกว่าจะได้แต่ละจุดนั้นเลือดตาแทบกระเด็น และภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ถ้าไม่ขับเคลื่อนแก้ไขเมืองไทยจะยิ่งลำบาก 

สมคิด กล่าวว่า ในเรื่องเศรษฐกิจโลก พายุลูกใหญ่กำลังมา และเศรษฐกิจไทยอิงกับเศรษฐกิจโลกมาตลอด และเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เราไม่เร่งขับเคลื่อนความเข้มแข็งภายในประเทศ ถ้ามัวแต่รอว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจโลกจะฟื้น แรงส่งทางเศรษฐกิจจะหายไป ขณะนี้พี่น้องประชาชนรากหญ้าลำบากเลือดตาแทบกระเด็น ในอนาคตข้างหน้าจะยิ่งลำบากกว่านี้ ฉะนั้นความสนใจในการเอาใจใส่ต้องมี 

สมคิด เสริมว่า ปัญหาลูกใหญ่ที่รอวันระเบิด คือ ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากภาระหนี้สิน ความเดือดร้อนจากโควิด-19 พี่น้องเกษตรกรที่เผชิญสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ชนนั้นแรงงานกำลังถูกทดแทนด้วย AI และหุ่นยนต์ หากการเตรียมสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอ ชีวิตของประชาชนจะไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น 

ยังไม่รวมถึงความไม่เท่าเทียมการศึกษา สาธารณสุข และเรื่องเพศ สิ่งเหล่านี้จะรอให้ใครมาแก้ปัญหา รอรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย อย่างนี้มาแก้ไขงั้นหรือ พรรคร่วมรัฐบาลที่จะเอาแบบนั้นแบบนี้ แต่ปัญหาวิกฤตของชาติเห็นชัดเจน ใครจะแก้ จะโทษที่รัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ คนไทยทุกคนต้องร่วมแก้ไข 


สถาบันการศึกษาต้องเป็นแหล่งรวมศูนย์ทาง 'ปัญญา" เพื่อเผชิญ 'ปัญหา' ทางโครงสร้าง 

สมคิด กล่าวถึงในบริบทสถาบันการศึกษาว่า ในอนาคตการศึกษาจะไม่สามารถแยกส่วนออกจากปัญหาของประเทศได้ เพราะสถาบันการศึกษา เป็นที่รวมศูนย์ของปัญญา ถ้าเราไม่เอาปัญญาเพื่อสร้างปัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง แล้วเราจะเอาปัญญาจากที่ไหน เพราะการเมืองมันต้องใช้เวลาในการคิดทางออกของประเทศ

สมคิด กล่าวอีกว่า สถาบันการศึกษา เป็นที่รวมศูนย์ และการจัดสรรทรัพยากรต้องมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับโลก อีกส่วนจำเป็นอย่างยิ่งคือ จะต้องมีทิศทางในการสร้างปัญญารองรับปัญหา ในเรื่องสิ่งแวดล้อม โครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น มหาวิทยาลัยไม่ได้ผลิตคนเพื่อไปทำงานเอาตัวรอด แต่หน้าที่ของบุคลากรต้องมีจิตสำนึกที่ออกไปช่วยสังคม เศรษฐกิจการเมือง นอกเหนือการเลี้ยงตัวเอง 

"อนาคตข้างหน้า บทบาทของธรรมศาสตร์จะเป็นแหล่งปัญญา ผลิตบุคลากรเพื่อออกไปขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผลิตนักศึกษาเพื่อผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง คือบทบาทที่แท้จริงของธรรมศาสตร์" สมคิด กล่าว

นอกจากนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการกล่าวปาฐกถา ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคสร้างอนาคตไทย แต่สมคิด ไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนแต่งอย่างใด