ไม่พบผลการค้นหา
เสวนาจุฬาฯ รำลึก 6 ตุลา ประธานคณะก้าวหน้า ชี้จำเป็นต้องพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อความสง่างามตามครรลอง 'กนกรัตน์' ยอมรับไม่คาดคิดความแหลมคมในการตั้งประเด็นของคนรุ่นใหม่ ด้าน 'ประจักษ์' ยกเคสสลายการชุมนุม เป็นอาชญากรโดยรัฐ

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้รับเชิญเข้าร่วมงานเสวนาเพื่อรำลึกครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา จัดโดยสโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานนี้มีนักวิชาการอีก 2 คนร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นบทเรียนจาก 6 ตุลา คือ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่า ควรเลิกถามว่าเด็กรุ่นนี้เหมือนคนรุ่น 6 ตุลา 14 ตุลาหรือไม่ ควรมองขบวนการเคลื่อนไหวของคนแต่ละยุคแยกกัน สำหรับคนรุ่นนี้ ในฐานะอาจารย์ตนไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าจะรับมือกับเด็กที่ตั้งคำถามกับทุกอย่างอย่างแหลมคม และอ่านหนังสือมากขนาดนี้ได้อย่างไร ถือเป็นความท้าทายในวิชาชีพอย่างมาก และแน่นอนว่าเมื่อนักเรียนมัธยมรุ่นนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัย พวกเขาจะกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่า 14 ต.ค. 2516 เป็นชัยชนะของประชาชน การเปลี่ยนแค่ผู้นำ แค่รัฐบาล ไม่เพียงพอสำหรับพวกเขาอีกต่อไป 

ผศ.ดร.กนกรัตน์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเด็กจำนวนมากรู้สึกว่าคนที่ถูกแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ตุลา เชื่อมโยงกับพวกเขาได้อย่างน่าประหลาดใจ เพราะเขาเติบโตมาในโลกที่สามารถถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ เมื่อเขาเห็นว่าคนที่คิดต่าง ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงและความตายอย่างโหดเหี้ยม มันจึงช็อคในความรู้สึกของพวกเขา เพราะพวกเขาเริ่มคิดว่า แล้วถ้าวันหนึ่งเขาถกเถียงไปเรื่อยๆ มันจะจบลงที่ความตายเช่นนั้นหรือ เขาจะยอมให้สังคมเป็นแบบนั้นได้อย่างไร 

วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล

ธนาธร ประจักษ์ คณะก้าวหน้า e_20201006_193848.jpg

ด้านผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 มาจนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และการสลายชมนุมเสื้อแดง เดือน พ.ค. 2553 ล้วนเป็นความพ่ายแพ้ที่เปิดเปลือยความอัปลักษณ์ของรัฐไทย การก่ออาชญากรรมโดยรัฐ และวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ที่เด่นชัดมากก็คือ คนรุ่นปัจจุบันมองว่า 14 ตุลา เป็นความพ่ายแพ้ที่พิสูจน์ว่ายุทธศาสตร์การสู้เพื่อโค่นล้มชนชั้นนำ โดยเอาชนชั้นนำอีกกลุ่มมาเป็นพันธมิตร เป็นยุทธศาสตร์ที่ล้มเหลว จึงเรียกได้ว่า คนรุ่นนี้ได้ก้าวข้าม 14 ตุลาไปแล้ว

คำถามสำคัญคือ แล้วทำอย่างไรจึงจะยุติวงจรอุบาทว์ของการสังหารประชาชน ผศ.ดร.ประจักษ์เสนอว่า “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” เป็นหัวใจสำคัญ เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 แสดงถึงความอัปลักษณ์พิกลพิการของระบบยุติธรรมไทย เพราะนิสิตนักศึกษาถูกสังหาร แต่กลับไม่มีใครต้องรับผิดในกระบวนการยุติธรรม

ในทางตรงข้าม นักศึกษานับพันคนกลับถูกจับกุม แกนนำนักศึกษาถูกนำตัวขึ้นศาล ทั้งที่ในความเป็นจริง สิ่งที่ควรเกิดคือการแสวงหาความจริง นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเยียวยาผู้เสียหาย คืนศักดิ์ศรีให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ไม่เคยเกิดเลยในเหตุสังหารหมู่ทั้ง 4 ครั้ง เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา ที่ดีที่สุด ก็คือการทวงคืนความจริงและความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสีย

ธนาธร  6 ตุลาคม line_20201006_193850.jpg

ด้าน ธนาธร กล่าวว่า สิ่งแรกที่ประทับใจก็คือ การจัดงานรำลึก 6 ต.ค. 2519 ในวันนี้ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีคนมาร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แสดงถึงความตื่นตัวต่อปัญหาอาชญากรรมโดยรัฐ การสังหารประชาชน ที่คนรุ่นนี้มีมากกว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคที่ตนเป็นนักศึกษา ซึ่งจัดงานรำลึก 6 ต.ค. 2519 แต่ละครั้ง มีคนมาร่วมเพียง 10-20 คนเท่านั้น ธนาธรย้อนไปพูดถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ว่าอยากให้มองเหตุการณ์นี้ในฐานะส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจที่มาจากจารีตประเพณี

ซึ่งมาถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเราจะให้อำนาจไหนเป็นอำนาจนำในสังคม อีกสิ่งที่ชัดเจนว่ายังกำจัดไปจากประเทศไทยไม่ได้ ก็คือวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่รวมถึงสื่อ วันที่ 7 ต.ค. 2519 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์พาดหัวข่าวว่า การสังหารที่ธรรมศาสตร์ ตำรวจพลร่มตายเจ็บเกลื่อน นักศึกษาใช้อาวุธสงครามปักหลักสู้กับเจ้าหน้าที่ ข้อความทั้งหมดไม่เป็นความจริง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำขอโทษใดๆจากเดลินิวส์ 

ย้ำ 5 ภารกิจเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย

ธนาธรประกาศว่า ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสายธารประวัติศาสตร์ เป็นผู้รับภารกิจการต่อสู้มาจากคนยุค 6 ต.ค. 2519 มีภารกิจที่เราต้องทำร่วมกันให้สำเร็จ คือการแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หากทำเช่นนั้นได้ เราจึงจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ หลังการแลกเปลี่ยนบนเวที มีผู้เข้าร่วมงานถามคำถามว่า ตอนนี้จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะอาจทำให้เสียแนวร่วม ซึ่ง ธนาธรตอบว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และยืนยันว่าเป็นการพูดด้วยความปรารถนาดี ด้วยความหวังว่าสังคมจะร่วมกันหาทางให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงและสง่างาม

“หากปล่อยให้มีคนแค่ไม่กี่คนพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คุณจะโดดเดี่ยวพวกเขา ปล่อยให้พวกเขาเผชิญกับคดีความและการคุกคาม เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่มีใครออกมาสู้เพื่อพวกคุณ มาเรียกร้องแทนพวกคุณ เราประชาชนมีเพียงจำนวน เราไม่มีตุลาการ ไม่มีปืน ไม่มีรถถัง เรามีแต่ปริมาณ เราเป็นจำนวนนับ ถ้าเราทิ้งเพื่อนของเรา จะไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาสู้อีกเลย และอย่าลืมว่ากว่าเราจะเดินมาถึงวันนี้ ต้องสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อไปเท่าไหร่ จากคนในยุค 6 ตุลา มาจนถึงคนเสื้อแดง คนอย่างลุงนวมทอง กี่คนต้องเสียญาติ กี่คนต้องเสียอวัยวะ เสียชีวิตไป คุณจะตอบพวกเขาอย่างไรหากปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป โอกาสที่เราจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นอย่างที่เราฝันอยากให้เป็น”

คอมมิวนิสต์ 6 ตุลาคม ne_20201006_193918.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง