ไม่พบผลการค้นหา
'อานนท์-ไมค์' รับรางวัลงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา หลัง ม.ธรรมศาสตร์สั่งห้ามพูดบนเวทีกิจกรรม ขณะ 'จาตุรนต์' เตือน ผู้มีอำนาจหยุดคุกคามทำลายการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ขอประชาชนทั้งประเทศไม่ปล่อยเยาวชนต่อสู้ลำพัง

ญาติวีรชนร่วมกับคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 2519 โดยมีองค์กรต่างๆ และตัวแทนพรรคการเมืองร่วมวางพวงมาลาและดอกไม้ ณ ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 อาทิ พรรคก้าวไกล นำทีมโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค, รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, ขณะที่ราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนพรรค

ญาติวีรชน.jpg


นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย, พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนคณะก้าวหน้า มาร่วมวางพวงมาลา ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ขณะเดียวกัน ยังมีอานนท์ นำภา แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มาร่วมวางพวงมาลา พร้อมรับรางวัล 'จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย' ร่วมกับจารุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง 

ทนายอานนท์.jpg

โดยอานนท์ กล่าวรำลึกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผู้กระทำไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างแท้จริง และมีการปิดปากเงียบกับเรื่องนี้มา 44 ปี ซึ่งบังเอิญว่า ปีนี้คนรุ่นใหม่ได้พูดถึงปัญหานี้ในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมาอีกครั้ง เหมือนคนที่จากไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เขาไม่ได้จากเราไป เขากลับมาเกิดในร่างคนรุ่นใหม่ เพื่อทวงถามความยุติธรรม วันนี้ วิญญาณของวีรชนผู้เสียชีวิตมาจุติใหม่ในร่างกายคนรุ่นใหม่วันนี้ ตนขอยืนยันว่า คนรุ่นใหม่จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อตอบแทนวิญญาณผู้เสียชีวิตจะไม่สูญเปล่า และการต่อสู้ของพวกท่านจะจบในรุ่นเรา


'จาตุรนต์' เตือนผู้มีอำนาจหยุดคุกคาม นศ.-อย่าสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง

ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวปาถกฐาในงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 2519 ว่า ตนอาจจะเป็นอดีตนักศึกษาจากต่างจังหวัดคนแรกๆ ที่มาพูดในโอกาสนี้ ที่ผ่านมา มักมีการพูดถึง 6 ตุลาโดยเน้นเหตุการณ์ที่ ม.ธรรมศาสตร์

แต่ความจริงแล้ว 6 ตุลาไม่ได้เกี่ยวข้องแค่ธรรมศาสตร์ เพราะเกี่ยวข้องกับนักศึกษาทั่วประเทศ 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ตัวอย่างของการกระทำความผิดที่ไม่ต้องรับโทษ และเป็นบทเรียนให้แก่สังคมไทย ถึงการใช้กำลังกับผู้เห็นต่างที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ แต่กลับทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ขณะที่การใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยม ก็เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและระบบ มากกว่านิสัยใจคอของคน ระบบเผด็จการถือว่า มีกำลังอาวุธในมือคือผู้มีอำนาจสูงสุด

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ยุติปัญหาด้วยการขจัดคนเห็นต่าง แต่เกิดจากการใช้การเมืองระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ รวมถึงการผ่อนคลายให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยขึ้นบ้างในเวลาต่อมาตลอดจนการเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างทั้งหลายสามารถคืนสู่สังคมและมีที่ยืนอยู่ได้ 

จาตุรนต์.jpg


ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาในอดีต มีจุดรวมกันอยู่ที่การมองเห็นปัญหาของบ้านเมืองและการมีความใฝ่ฝัน ว่าอยากเห็นสังคมที่ดี รวมทั้งต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยที่พลังของนักศึกษาเป็นที่ยอมรับของประชาชนเนื่องจากเป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์

แต่จุดที่ต่างกัน คือปัญหาของบ้านเมืองที่ซับซ้อนกว่าในอดีต อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีและการรับรู้ข่าวสารในปัจจุบัน ทำให้นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันเรียนรู้และเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนเป็นอย่างดีทั้งประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังไปไกล นอกจากการเรียนรู้ข่าวสารที่สำคัญแล้ว ก็คือความจริงของสังคมไทยในหลายปีมานี้ที่ย้อนแย้งจากสิ่งที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย  

จาตุรนต์ กล่าวว่า การบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลาในปีนี้ ค่อนข้างมีความหมายที่พิเศษ เนื่องจากในระยะหลัง โดยเฉพาะปีสองปีมานี้ มีการพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาโดยเฉพาะ 6 ตุลาโดยคนรุ่นใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่า มีการวิเคราะห์และศึกษามาอย่างลึกซึ้ง และทวงถามหาคนผิดและความยุติธรรม ตลอดจนในปีนี้มีการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาที่มากกว่าการแสดงความอาลัย แต่กำลังจะมีการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดี 

ดังนั้น ควรจะมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ด้วยใจที่เปิดกว้างและทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถนิ่งเฉยดูความล้าหลังของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน จึงหวังว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะได้เรียนรู้จากอดีต หวังว่าผู้มีอำนาจจะหยุดคุกคามและหาทางทำลายความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา โดยการแสดงความพร้อมที่จะรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากวิกฤติของประเทศร่วมกันตามครรลองประชาธิปไตย  

จาตุรนต์.jpg


จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ตนไม่มีอะไรจะแนะนำคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่อยากจะย้ำว่าใครที่อยากจะเตือนนักศึกษาว่า อย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะเกิดแบบเดือน 6 ตุลานั้น ก็ขอให้ความทำความเข้าใจเหตุการณ์เดือนตุลา ว่า นักศึกษาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปราบปราม

"ขณะที่ความรุนแรงนั้นมาจากคนชั้นนำทั้งสิ้น ถ้าจะเตือนก็ต้องเตือนผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่า อย่าสร้างความเกลียดชัง อย่าสร้างเงื่อนไขเพื่อที่จะได้ใช้ความรุนแรง" จาตุรนต์ กล่าว

นอกจากนี้ สถานการณ์ในบ้านเมืองวันนี้หากช่วยกันทำความเข้าใจให้เห็นปัญหาร่วมกัน การป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษาก็จะยิ่งทำได้ดีมากยิ่งขึ้น ตนไม่เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้จะซ้ำรอย 6 ตุลา เมื่อดูจากเหตุปัจจัยต่างๆ หากจะเทียบกับอดีต สถานการณ์ในวันนี้มีโอกาสพัฒนาใกล้เคียงกับ 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 มากกว่า 6 ตุลา ถ้าประชาชนทั้งประเทศพร้อมที่จะร่วมกัน ไม่ปล่อยให้นักเรียนนักศึกษาต่อสู้ตามลำพัง การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหากยิ่งใหญ่และยั่งยืนกว่าการเปลี่ยนแปลงในอดีต

พิธา.jpg


'พิธา' ชี้ควรเรียนรู้จากอดีต - ไม่ควรใช้วาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

ในขณะที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมาร่วมรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 2519 พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า คงไม่มีเหตุการณ์ใดเป็นเครื่องเตือนใจได้เท่าเหตุการณ์ 6 ตุลา มีความหมายต่อคนหลายกลุ่ม ถึงเวลาแล้วที่เราจะเรียนรู้ถึงความอดทนอดกลั้นของคนในสังคม แม้จะมีความเห็นต่างทางการเมืองอย่างสุดโต่งมากแค่ไหน ก็ไม่ใช่เป็นข้ออ้างให้รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนในชาติ ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม ถือเป็นบทเรียนและประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอยอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในขณะนี้  

พิธา กล่าวด้วยว่า ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ก็จะมีการสร้างวาทกรรม ที่ทำให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ เหตุการณ์เดือนตุลา และความรุนแรงมักจะเกิดจากผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งหากเราเรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีตก็จะทำให้เราสร้างความอดทนอดกลั้น เหตุการณ์ที่กังวลว่าจะเกิดขึ้นในทุกๆ 10 ปี มันก็จะเกิดขึ้นแค่ในช่วงนี้ ใน 10-20 ปีข้างหน้ามันก็จะไม่เกิดขึ้น 

พิธา ยังกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรง เรามักจะนับจำนวนของผู้สูญเสียได้ แต่ไม่เคยมีสักครั้งเลยที่เราทราบยอดของผู้ที่เป็นคนยิง คนใช้อาวุธ รวมไปถึงคนที่สั่งการ ไม่มีการต้องรับผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่มักข้ามไปพูดถึงเรื่องการปรองดองเลย ซึ่งรัฐควรได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ และไม่ควรที่จะใช้คำพูดหรือวาทกรรมที่ทำที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งเรื่องวาทกรรมชังชาติ การมีท่อน้ำเลี้ยง

พิธา.jpg


เมื่อถามว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีโอกาสจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอดีตหรือไม่ พิธา มองว่า เหตุการณ์พวกนี้ทำแบบเป็นระบบ ซึ่งแน่นอนว่า สังคมประชาธิปไตยย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกัน มีความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ แต่มันจะเกิดขึ้นจากการสร้างกลุ่มคนขึ้นมามีการสร้างวรรณกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่าฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่คนไทย มีคนอยู่เบื้องหลังจากต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นการกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรุนแรง เป็นการโหมฟืนเข้ากองไฟ หากไม่ต้องให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ก็ต้องกลับไปจุดที่ง่ายที่สุด คือ รัฐต้องคุ้มครองประชาชน ไม่ใช่คุกคามประชาชน หากมองเห็นภาพพวกนี้ได้รัฐยอมถอยทำตามข้อเรียกร้อง เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนผ่านไปตามครรลองของประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ไม่จำเป็นต้องเลือกทางตัน อย่างภาพนิทรรศการเหตุการณ์เดือนตุลาคมที่เกิดขึ้น 

เมื่อถามย้ำ ว่า ขณะนี้ผู้นำมีความพยายามที่จะขจัดความขัดแย้งหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าคำพูดจากปากผู้นำก็ดูดี แต่การกระทำกลับตรงกันข้าม มีหมายจับ มีการจับกุม ซึ่งวันใดที่คำพูดและการกระทำของผู้นำตรงกันวันนั้นตนจะเชื่อ 

พิธา ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเตรียมเชิญฝ่ายค้านเข้าให้ข้อมูลญัตติแก้ รธน. ว่ายังไม่ได้มีการประสานมาแต่เคยพูดในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ว่า การตั้งคณะกรรมาธิการต่างๆ ดังกล่าว เป็นเพียงแค่การประวิงเวลามากกว่า ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายก็มีการศึกษามาเป็นเวลานาน ไม่ควรจะมีการศึกษาอีกต่อไป